สมศ.ชี้แจง “สมชาย” ไม่สามารถปรับเกณฑ์ประเมินของ สมศ.เพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กผ่านเกณฑ์ได้ เนื่องจากเกณฑ์ สมศ.ต่ำอยู่แล้ว ผุดโครงการร่วมกับ สพฐ.พัฒนาโรงเรียนเล็ก 200 แห่งให้ผ่านเกณฑ์ พร้อมประสานสวนดุสิตโพล ทำข้อมูลครูและนักเรียนแบบเรียลไทม์ เพื่อสำรวจตัวเลขขาดครูที่แท้จริง
จากที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ศึกษาหาเกณฑ์ประเมินที่เหมาะสมสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก และให้เสนอ สมศ.ปรับแก้เกณฑ์นั้น ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับนายสมชาย เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เรียนให้ รมว.ศึกษาธิการ ทราบแล้วว่า เกณฑ์ของ สมศ.ถือเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำแล้ว ซึ่งนายสมชายก็รับทราบและเข้าใจ โดยขณะนี้ สพฐ.ได้ร่วมกับ สมศ.จะนำร่องพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กใน 20 เขตพื้นที่การศึกษา 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยจะมีโรงเรียนร่วมโครงการช่วยโรงเรียนขนาดเล็กประมาณ 200 โรง และจะมีการระดมทุนจากภาคเอกชน และงบประมาณจาก สมศ.ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินประมาณ 10 ล้านบาทภายใน 1 ปีสำหรับโครงการนี้ และได้รายชื่อโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการทั้ง 200 โรงเรียบร้อยแล้ว และจะเชิญ ผอ.สพท.20 เขต มาร่วมประชุมและทำความเข้าใจในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
“สมศ.มีเป้าหมายว่าจะพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ให้ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำของ สมศ.ที่ผ่านมา สมศ.ได้ประเมินโรงเรียนขนาดเล็กไปแล้วกว่า 100 โรง ซึ่งมีทั้งผ่านเกณฑ์การประเมิน และไม่ผ่าน ดังนั้น การประเมินโรงเรียนขนาดเล็กในรอบต่อไป จึงคิดว่าควรจะพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กผ่านโครงการนี้ แทนที่จะเปลี่ยนเกณฑ์ของ สมศ. เพราะเกณฑ์ของ สมศ.ต่ำอยู่แล้ว การปรับให้ต่ำไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กไปในทางที่ดีขึ้น”ผอ.สมศ.กล่าว
ศ.ดร.สมหวัง กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาการขาดแคลนครู ที่เป็นปัจจัยหลักของการจัดการศึกษานั้น ขณะนี้ภาพรวมตัวเลขการขาดครูข้อมูลยังกระจายอยู่ทั้งส่วนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สพฐ.และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.)ดังนั้น ในการประชุมคณะอนุกรรมการ ก.ค.ศ.เร็วๆ นี้ ได้เสนอให้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบเรียลไทม์ในแต่ละ สพท. ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มนำร่องใน สพท.เชียงใหม่ เขต 2 ซึ่งระบบดังกล่าวนั้นจะเก็บรวบรวมข้อมูลของจำนวนครู นักเรียนของแต่ละ สพท. ได้ และหากทำได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วต่อไปข้อมูลของทั้ง 185 เขตจะเชื่อมโยงถึงกันได้ผ่านระบบดังกล่าว และจะได้ตัวเลขขาดครูที่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ ก.ค.ศ.ได้ประสานสวนดุสิตโพลล์ในการจัดทำระบบข้อมูลดังกล่าวแล้ว