“วิจิตร” แจงวิธีการประเมิน ร.ร.รอบ 2 เข้มข้นขึ้น ทำให้ ร.ร.ระดับดีลด โดยรวมถือว่าดีเพราะผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ ด้าน “กษมา” ไม่แปลกใจผลประเมินเพราะหลายปัญหายังไม่ได้แก้ไข โดยเฉพาะขาดครู สั่ง ผอ.เขตพื้นที่โรงเรียนที่ยังมีปัญหาติดตามผล ชี้ส่วนใหญ่เป็น ร.ร.ชายแดน-พื้นที่ยากจน เผยยุทธศาสตร์เน้นแก้ไขอัตรากำลังใหม่ใช้คนน้อยลง จนถึงขั้นปรับหลักสูตรสอนแบบบูรณาการ แทนการแยกกลุ่มสาระ 8 วิชา
ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่ นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ออกมาเปิดเผยผลการประเมินคุณภาพการศึกษาในรอบ 2 พบว่า คุณภาพสถานศึกษามีคุณภาพแค่พอใช้ และสถานศึกษาที่มีคุณภาพดีจากที่ประเมินในรอบแรกมีจำนวนลดลงว่า การประเมินในรอบแรกของ สมศ.นั้นยังเป็นการทดสอบระบบการประเมิน จึงพบว่าในรอบแรก สมศ.จะไม่ใช้คำว่า “รับรอง” หรือไม่รับรองสถานศึกษา แต่ผลการประเมินในช่วงนั้นว่าคุณภาพดีจำนวนมาก แต่ผลการประเมินรอบ 2 ระบบการประเมินมีความเข้มข้นขึ้น ทำให้ผลการประเมินที่ออกมาก็เข้มข้น และจริงจังมากกว่ารอบแรก ทำให้ภาพรวมที่ออกมากลายเป็นว่าผลการประเมินรอบ 2 นี้คุณภาพสถานศึกษาที่อยู่ในกลุ่มที่ดีน้อยกว่าครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสถานศึกษาผ่านเกณฑ์ประเมินเพิ่มขึ้น
ด้านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ผลการประเมินของ สมศ.ออกมาเช่นนี้ไม่แปลกใจ เพราะหลายปัญหาในรอบแรกก็ยังไม่มีโอกาสได้รับการคลี่คลาย บางเรื่องก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น อย่างเช่นปัญหาเรื่องการขาดครูก็ยังเป็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งเรื่องนี้ สพฐ.จะประสาน สมศ.เพื่อขอดูในรายละเอียดว่าประเด็นที่เป็นปัญหาเกิดจากอะไร
ส่วนเรื่องที่ สมศ.เสนอให้โรงเรียนทำแผนพัฒนานั้นก็เป็นเรื่องที่ สพฐ.เน้นอยู่แล้ว โดยได้มอบหมายให้ ผอ.เขตพื้นที่ให้เข้าไปเร่งติดตามดูแลโรงเรียนเหล่านี้ ทั้งนี้ จากการที่ตนได้ลงติดตามเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาส่วนใหญ่ยังเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีผู้บริหาร หรือมีผู้บริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และเป็นโรงเรียนที่อยู่ไกลติดชายแดนขาดคนดูแล และเป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ยากจน และการที่ สมศ.จะประกาศผลการประเมินหรือไม่นั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่กระตุ้นให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ให้ความสนใจมากขึ้น และที่สำคัญจะทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ได้รวมพลังกลับไปดูแลพื้นที่ตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนไอซียูเมื่อมีคนเข้าไปดูแลสนับสนุน ชุมชนเกิดความหวังเข้ามาช่วยเหลือก็ทำให้โรงเรียนเหล่านั้นดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งต้องหาผู้บริหารมาลงในโรงเรียนเหล่านี้ให้ได้
คุณหญิงกษมา กล่าวต่อว่า สพฐ.ได้ปรับยุทธศาสตร์การสอนในโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งจะต้องแก้ปัญหาในทุกมิติ ทั้งเรื่องบุคลากรที่จะมีการกำหนดอัตรากำลังใหม่ เรื่องการใช้คนน้อยลง ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำมาสู่การปรับหลักสูตรใหม่ อาจใช้การสอนแบบบูรณาการแทนการสอนแบบแยก 8 กลุ่มสาระ เพื่อให้ครูมีภาระน้อยลง แต่เด็กจะสามารถได้รับการพัฒนาตามมาตรฐานการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระ การสอนคละชั้น การนำเทคโนโลยีมาใช้ เป็นต้น และในช่วงปิดเทอมนี้จะอบรมโรงเรียนขนาดเล็ก 800 แห่งเพื่อให้สามารถพัฒนาตามแนวทางที่เสนอในแผนยุทธศาสตร์ด้วย
** “ปู่” ระบุสเปก รมว.ศธ.ต้องรู้จริงเรื่องการศึกษา
ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงตัวแทน รมว.ศธ.คนใหม่ว่า ตนไม่ขอวิจารณ์เรื่องการวางตัวบุคคลมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่ผู้ที่จะเข้ามาดูแลด้านการศึกษานั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านการศึกษาเป็นอย่างดี และการศึกษาจะก้าวหน้าหรือไม่นั้นยังต้องพิจารณาไปถึงผู้นำรัฐบาลด้วยว่าผู้นำให้ความสำคัญด้านการศึกษามากน้อยเพียงใด เพราะหากผู้นำให้ความสำคัญด้านการศึกษาจะส่งผลให้การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการได้รับการสนับสนุน
จากประสบการณ์การทำงานของตนเองที่ดูเหมือนว่าทุกคนจะเข้าใจด้านการศึกษาเป็นอย่างดี แต่พอลงลึกเรื่องเทคนิคและรายละเอียด พบว่าทุกคนแทบจะไม่เข้าใจ ทุกครั้งที่ไปเสนอเรื่องของ ศธ.จะต้องชี้แจง ทำความเข้าใจอย่างละเอียดยิบ เขาถึงจะเข้าใจ ที่เห็นได้ชัดเจน คือเรื่องเงินวิทยฐานะว่าทำไม ศธ.ถึงได้ขอเงินจำนวนมาก ต้องอธิบายให้เขาฟังว่าครูในสังกัด ศธ.มีจำนวนเป็นแสนคน แต่ในกระทรวงอื่นๆ มีข้าราชการเพียงหลักพัน สุดท้ายเขาก็เข้าใจและอนุมัติเงินวิทยฐานะให้ครู
** ฝาก 3 งาน รมว.ศธ.ใหม่แก้ปัญหา
ดร.วิจิตรกล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับหลักการร่างยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพการศึกษา ตามที่ ศธ.เสนอ แต่กระทรวงต่างๆ ได้แนะนำให้ ศธ.จัดทำแผนปฏิบัติการพร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ตัวชี้วัดให้มีรายละเอียดมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายใน 4-5 ปีข้างหน้าน่าจะเห็นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้ได้มากกว่าร้อยละ 55 ซึ่งขณะนี้ ศธ.ทำได้สูงสุดในวิชาภาษาไทยถึงร้อยละ 50 เมื่อแผนยุทธศาสตร์นี้ได้นำมาสู่การปฏิบัติ คาดว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาน่าจะได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน
“แผนยุทธศาสตร์ฯ นี้ ถือว่าเป็นแผนที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น และก่อนสิ้นเดือนมกราคมนี้ ผมจะเรียกประชุมผู้บริหาร ศธ.เพื่อเตรียมทำแผนปฏิบัติงานตามยุทธศาตร์ฯ ให้เสร็จก่อน รมว.ศธ.คนใหม่จะเข้ามารับตำแหน่ง เพื่อให้ รมว.ศธ.คนใหม่จะได้เข้ามาสานต่อการทำงานได้ทันที”
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พูดในที่ประชุม ครม.ว่า การประชุมครั้งนี้คงเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาบริหาร ซึ่ง ศธ.ยังมีเรื่องค้างอยู่ประมาณ 2-3 เรื่อง คือ ร่าง พ.ร.บ.เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พิจารณาไม่ทันในรัฐบาลนี้ เพราะอยู่ระหว่างการเข้าพิจารณาในวาระ 2 และ 3 นอกจากนี้ยังมีเรื่องการแก้ไขปัญหาขาดแคลนครู ตามกำหนดการเดิมคณะกรรมกลั่นกรองจะนำเข้าที่ประชุมในวันพุธที่ 30 มกราคมนี้ แต่คงไม่ทันแล้ว คาดว่าจะมีการโปรดเกล้าฯ นายกฯ คนใหม่ในวันจันทร์ที่ 28 มกราคมนี้ จึงเห็นว่าไม่ควรมีการพิจารณาเรื่องต่างๆ อีก เพราะฉะนั้นเรื่องที่ค้างอยู่คงต้องรอให้รัฐบาลใหม่มาสานต่อ
สำหรับโครงการทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น รุ่นที่ 3 คงให้รัฐบาลใหม่มาสานต่อ ส่วนรัฐบาลใหม่จะกลับไปใช้ชื่อเดิม คือ โครงการ 1 ทุน 1 อำเภอเช่นเดิม และใช้เกณฑ์การคัดเลือกอย่างเดิม สามารถทำได้ หากรัฐบาลมีเงิน อย่างไรก็ดี โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี แต่ถ้าใช้คำว่า 1 ทุน 1 อำเภอ จะต้องใช้งบประมาณดำเนินงานจำนวนมาก