ก.ค.ศ.เห็นชอบเยียวยาผู้บริหารนอกสถานศึกษาที่เปลี่ยนสายงานไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาให้ดำรงตำแหน่ง รอง ผอ.สพท.ได้ พร้อมเสนอร่างหลักเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะข้าราชการครู หากไม่ผ่านประเมินก็จะถูกงดเงินตำแหน่งจนกว่าจะพัฒนาตนเองจนผ่านเกณฑ์จึงจะคืนให้ “วิจิตร” สั่ง ก.ค.ศ.เตรียมยกร่างกฎหมายขอต่ออายุราชการครูเป็น 65 ปี เพื่อเตรียมพร้อมเสนอรัฐบาลใหม่แก้ปัญหาขาดแคลนครู
ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุม ก.ค.ศ.วันนี้ (10 ม.ค.) ได้มีมติเห็นชอบให้เยียวยาผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารนอกสถานศึกษาที่เปลี่ยนสายงานไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา โดยแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา เหมือนกับที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งมีการสำรวจบุคลากรกลุ่มนี้ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารในระดับอำเภอ ในระดับจังหวัดของหน่วยงานการศึกษาที่ยังอยู่ในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีจำนวน 471 คน ซึ่งไปปฏิบัติงานในระดับสถานศึกษา โดย 471 คน ได้ขอสิทธิ์ที่จะได้รับการเยียวยาเหมือนกันกับบุคลากรกลุ่มเดียวกันที่ได้รับการเยียวยาไปแล้ว
ทั้งนี้ สพฐ.ดูแล้วก็เห็นว่าน่าจะให้มีการเยียวยา และสามารถที่จะดำเนินการได้โดยใช้อัตราตำแหน่งของ สพฐ.ที่อาจจะมีว่าง และขอกำหนดให้เป็นตำแหน่งรอง ผอ.สพท.เพื่อรองรับคนเหล่านี้ จึงคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบในการจะเพิ่มอัตราตำแหน่ง เพราะใช้ตำแหน่งที่มีอยู่ เพียงแต่ปรับมาเป็นอัตราตำแหน่ง เพื่อรองรับคนเหล่านี้
“ก.ค.ศ.พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบกับทางสำนักงาน ก.ค.ศ.ซึ่งผ่านการพิจารณาของอนุกรรมการด้านระบบนโยบาย โดยที่ประชุมเห็นพ้องว่าจะให้สิทธิ์ได้รับการเยียวยาโดยแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รอง ผอ.สพท.ซึ่งจะเป็นกลุ่มสุดท้ายและจะมีการสำรวจเพิ่มเติมอีกประมาณ 30-40 คน ดังนั้น ในปีนี้เรื่องการเยียวยาบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารการศึกษาในการปฏิรูปการศึกษาก็จะเสร็จหมดทุกกรณี”
ศ.ดร.วิจิตร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้มีการหารือถึงมาตรา 55 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ระบุว่า บุคคลซึ่งได้รับการกำหนดให้มีวิทยฐานะ เช่น ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ เชี่ยวชาญพิเศษ ทั้งสายงานครู ผู้บริหาร และศึกษานิเทศก์ จะต้องมีการประเมินการดำรงอยู่ในวิทยฐานะนั้นทุก 3 ปี ซึ่งก็หมายความว่าคนที่ได้ตำแหน่ง เช่น ครูชำนาญการ ครบ 3 ปี ก็จะประเมินว่ายังมีผลงานตามเกณฑ์ที่จะเป็นวิทยฐานะชำนาญการหรือไม่ เรียกว่าเป็นการประเมินการดำรงวิทยฐานะ ซึ่งก็จะมีเกณฑ์ต่างกันไประหว่างสายงาน และระหว่างระดับ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะกระตุ้นให้บุคลากรทางการศึกษา ทั้งครู ผู้บริหาร และศึกษานิเทศก์ ได้มีการพัฒนาตนเอง ทันสมัยอยู่เสมอ และผลที่เราต้องการคือเมื่อบุคลากรทางการศึกษา มีการพัฒนาตนเอง ติดตามความเคลื่อนไหว ก้าวหน้าทันสมัยอยู่เสมอ ก็จะกลายเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้คุณภาพการศึกษาดี ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของการจัดการศึกษาเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูป
“ที่ประชุมได้เห็นด้วยกับร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน ซึ่งเรื่องนี้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของการพัฒนา ไม่ได้มีความมุ่งหมายที่ทำโทษครู แต่ก็แน่นอนถ้าคนที่ประเมินแล้วไม่พัฒนาตนเอง และให้โอกาสที่จะพัฒนาตนเองถึงที่สุดแล้ว ไม่สามารถจะพัฒนาและรักษาระดับของตำแหน่งวิทยฐานะไว้ได้ ก็อาจจะต้องมีการงดเงินตำแหน่ง เมื่อพัฒนาตนเองผ่านแล้วก็จะคืนวิทยฐานะให้ ซึ่งวัตถุประสงค์สำคัญคือการที่จะทำให้ครูตื่นตัว พัฒนาตนเอง การที่เราบอกกับสังคมว่าครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ให้วิทยฐานะถึง 4 วิทยฐานะ มีเงินตำแหน่ง มีเงินวิทยฐานะให้ เป็นสิ่งที่เหมาะสมและสมควร เพราะเราไม่ได้ให้ไปเพียงเพื่อให้ครูได้วิทยฐานะ แต่เราหวังผลว่าเมื่อครูมีวิทยฐานะแล้วเด็ก และวงการศึกษาจะได้ประโยชน์จากผลงานของครู”
รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า ตามที่ที่ประชุมได้เห็นชอบเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะที่มี ศ.ดร.สมหวัง พิทธิยานุวัฒน์ เป็นประธาน และ ก.ค.ศ.ก็เห็นชอบไปแล้ว ได้นำข้อสังเกตไปปรับปรุง และนำกลับมาเสนอที่ประชุมฯ อีกครั้ง ซึ่งที่ประชุมมีข้อสังเกต 2 ข้อ คือ 1.การเลื่อนวิทยฐานะในทุกระดับต้องมีการประเมินเรื่องความประพฤติ จริยธรรม จรรยาวิชาชีพ จะต้องผ่าน ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ได้วิทยฐานะนั้น ที่ประชุมจึงได้มีการจำแนกให้เข้มข้นขึ้น ถ้าเป็นระดับชำนาญการ และชำนาญการพิเศษ เพียงแต่ประเมินแล้วผ่านก็จะได้วิทยฐานะ แต่หากเป็นระดับเชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ จะต้องประเมินผ่านในระดับที่เป็นแบบอย่างที่ดีได้
2.เรื่องข้อกำหนดที่ส่งผลลักลั่นกันระหว่างสายครูที่จะขอชำนาญการโดยใช้เวลา 2 ปี แต่ขณะที่สายอื่นกำหนดไว้ 1 ปี ที่ประชุมจึงกำหนดให้ทุกสายใช้เวลาขอวิทยฐานะเป็น 2 ปีเท่ากันหมด ทั้งนี้ วิธีการและหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทางสำนักงาน ก.ค.ศ.จะเวียนแจ้งให้ถือปฏิบัติต่อไป
ศ.ดร.วิจิตร กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าเรื่องการต่ออายุราชการของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู ซึ่งอาชีพครูต้องสั่งสมผลงานและความชำนาญระยะหนึ่ง และเป็นอาชีพที่ไม่ต้องตรากตรำทางร่างกายมาก ถ้าสุขภาพครูยังดีอยู่ก็ควรจะต่ออายุหรือขยายอายุให้ถึง 65 ปีถึงจะเกษียณจากเดิมอายุ 60 ปี ซึ่งก็เป็นแนวเดียวกับอาจารย์มหาวิทยาลัย ทางสำนักงาน ก.ค.ศ.ก็ได้ไปศึกษาเรื่องนี้และเห็นว่าโดยหลักการจะต้องแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลนี้คงไม่เสนอกฎหมายแล้ว จึงได้มอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ.เตรียมยกร่างกฎหมายขยายอายุหรือต่ออายุครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็น 65 ปี ในบางสายงานที่มีความขาดแคลน แต่จะใช้กับสายครู ผู้บริหาร และศึกษานิเทศก์ และมีเงื่อนไขด้วยว่าจะต้องเป็นระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป เพื่อว่าเมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามารับหน้าที่ก็น่าจะเป็นกฎหมายแรกๆ ที่ ศธ.เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลใหม่ เราจะเตรียมไว้ให้พร้อมทุกอย่าง และ ก.ค.ศ.จะมีการประชุมอีกครั้งในต้นเดือน ก.พ.นี้