ศาลชั้นต้นตัดสิน สธ.จ่าย 3.9 ล้าน ให้เหยื่อทางการแพทย์ ฐานละเมิด ประมาทเลินเล่อ ทำให้พิการสมองทุพพลภาพตลอดชีวิต แม่เหยื่อวอนเห็นใจอย่าอุทธรณ์ ขณะที่ “ไชยา” รับปากไม่อุทธรณ์ พร้อมมอบเงินส่วนตัวช่วย 5 พันบาท เร่งผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ลดฟ้องร้องแพทย์
วันนี้ (1 พ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า วันนี้ ศาลจังหวัดนนทบุรี มีคำพิพากษาในคดีที่นายยงยุทธ ปันนินา หรือน้องโจ้ โดยนางดวงนภา ปันนินา ผู้อนุบาล เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุข ฐานละเมิดและเรียกค่าเสียหาย 10,187,000 บาท โดยศาลสั่งให้กระทรวงสาธารณสุข ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นจำนวนเงินรวม 3.9 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าอาหาร 4 แสนบาท ค่าทำให้ทุพพลภาพถาวร 2 ล้านบาท ค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคต 1.5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5%
นางดวงนภา มารดาของนายยงยุทธ อยู่บ้านเลขที่ 317/1 หมู่ที่ 3 ต.แม่ยางฮ่อ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ กล่าวว่า ตนยื่นฟ้องต่อ สธ. เนื่องจากเห็นว่าแพทย์และพยาบาลรักษาลูกชายด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ระมัดระวัง โดยเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2547 ขณะที่ลูกชายอายุ 19 ปี ได้ประสบอุบัติเหตุขับรถจักรยานยนต์เสียหลักล้มลง และหมดสติ และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลร้องกวาง จนส่งตัวต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลแพร่ ซึ่งแพทย์ได้รักษาโดยการให้ยาและเครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากมีสมองบวมและมีเลือดออกในสมอง
นางดวงนภา กล่าวต่อว่า จากนั้น 1 สัปดาห์ต่อมาแพทย์ได้เจาะคอ ให้อาหารทางสายยางและให้ออกซิเจนทางท่อเจาะคอ ประมาณ 2 สัปดาห์ ลูกชายมีอาการดีขึ้น สมองเริ่มตอบสนอง ยกแขนขาและสื่อสารกับแม่และแพทย์ได้บ้าง แม้ยังพูดไม่ได้ และรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูเป็นเวลา 27 วัน เริ่มหายใจเองได้ จึงนำตัวมารักษาต่อที่ตึกผู้ป่วยธรรมดา ลูกชายเริ่มเดินได้ ทานอาหารทางปาก พูดคำสั้นๆ ได้ เขียนหนังสือได้ นับเลขได้ และแยกสีลูกบอลได้
นางดวงนภา กล่าวอีกว่า ต่อมาวันที่ 13 ก.พ.2548 แพทย์ได้แจ้งให้พยาบาลเวรถอดท่อเหล็กที่คอออก แต่พยาบาลเวรบอกว่าคนไข้หายใจเองไม่ได้ จึงเอาท่อเหล็กใส่กลับคืนเข้าไปที่เดิม วันที่ 14 ก.พ.2548 แพทย์มาตรวจลูกชายและสั่งให้เอาท่อเหล็กที่คอออกอีก จากนั้นแพทย์และพยาบาลก็ออกไป หลังจากเอาท่อที่คอออก แต่เพราะความประมาท และไม่ระมัดระวัง แพทย์และพยาบาลไม่ได้อยู่ดูว่าลูกชายตนหายใจเองได้หรือไม่ ซึ่งลูกชายตนหายใจไม่ออกดิ้นรนกระเสือกกระสนอยู่นาน ตนจึงวิ่งไปตามพยาบาลแต่พยาบาลยืนดูโดยไม่ได้ให้ความช่วยเหลือ ด้วยการให้เหตุผลว่า ปล่อยไว้สักพักเดี๋ยวก็ดีเอง จนลูกชายหัวใจหยุดเต้น ต้องปั๊มหัวใจ แต่สมองขาดออกซิเจนเสียหายใช้การไม่ได้ ไม่ได้สติและหายใจเองไม่ได้ จึงได้รับการรักษาโดยใช้เครื่องช่วยหายใจและเจาะคอเช่นเดิม กระทั่งวันที่ 13 พ.ค.2548 ได้ออกจากโรงพยาบาล ในสภาพที่กลายเป็นคนพิการถาวร ไม่รู้ตัวแขนขาเกร็ง นอนอยู่กับที่ เดินไม่ได้ ทานอาหารเองไม่ได้ ถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่รู้สึกตัว จนทุกวันนี้กลายเป็นผู้สมองพิการทุพพลภาพตลอดชีวิต
“ค่าเสียหายที่ศาลสั่งให้ สธ.ชดใช้ให้ คงไม่คุ้มเพราะทุกวันนี้เหมือนตายทั้งเป็น ลูกชายที่เป็นความหวังของครอบครัว ซึ่งสอบเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร จ.พะเยาได้ แต่กลับต้องมาอยู่ในสภาพคนพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ฉันต้องคอยดูแล ไม่มีอาชีพ ส่วนสามีทำงานก่อสร้างมีรายได้วันละ 200 บาท แต่ต้องเสียค่าอุปกรณ์การรักษาลูก เช่น ที่ดูดเสมหะและอื่นเดือนละเป็นหมื่น จึงอยากให้สธ.เมตตาและเห็นใจ โดยไม่ยื่นอุทธรณ์ จะขอบคุณมาก” นางดวงนภากล่าว
จากนั้น เวลา 12.20 น. นางปรียานันท์ พร้อมด้วยนางดวงนภา และนายยงยุทธ ได้เดินทางมาเข้าพบนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สธ. เพื่อเรียกร้องให้ สธ.ไม่อุทรณ์คำสั่งศาล โดยนายไชยา ได้ออกมารับเรื่องด้วยตนเอง และได้มอบเงินสดช่วยเหลือให้กับนายดวงนภา จำนวน 5,000 บาท และให้นายนฤพนธ์ ประคุณวงศ์ ผู้เสียหายทางการแพทย์อีกราย ที่มีปัญหาฟ้องร้องกับโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ สุขาภิบาล 3 และสำนักงานหนักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) กรณีประมาทในการทำคลอด ทำให้บุตรสาวขาดอากาศหายใจเพราะติดอยู่ระหว่างช่องคลอดนาน 10 นาที ซึ่งศาลอนาถา นัดไกล่เกลี่ยในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ อีกจำนวน 10,000 บาท
นายไชยา กล่าวว่า จะสั่งการให้ สธ.ไม่อุทรณ์คำสั่งศาล และจะชดใช้ค่าเสียหายโดยเร็ว เพราะวงเงิน 3.9 ล้านบาท อยู่ในอำนาจของ สธ. โดยจะหารือกับอัยการเพื่อดำเนินการตามที่ศาลสั่งทันที โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ซึ่ง สธ. ซึ่งขณะนี้ สธ.ได้เร่งผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... เพื่อให้ลดปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ ทั้งนี้ ตนเห็นใจทั้งฝ่ายแพทย์ ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่หนัก และคนไข้ที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาของแพทย์
ด้านนางปรียนันท์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ตนได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี โดยได้เสนอ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... ซึ่งหากนายกรัฐมนตรี เห็นชอบจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหลักจากนั้นตนจะเข้าชื่อ 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอเป็นกฎหมายอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้ได้มีสิทธิ์เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ ร่วมพิจารณา พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย เนื่องจากยังมีข้อถกเถียง 2 ประเด็นที่ยังถกเถียงกันอยู่ คือ กรณีที่รับเงินชดเชยแล้วจะต้องไม่ฟ้องร้องแพทย์อีก และให้ยกเลิกการฟ้องร้องคดีอาญากับแพทย์