xs
xsm
sm
md
lg

ดันค้ามนุษย์เป็นคดีพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (18 เม.ย.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางมาตรการ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าเมือง โดยมีผู้แทนจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมประชุม
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ โฆษกดีเอสไอ กล่าวหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีความตรงกันต้องการให้ดำเนินคดีหาผู้กระทำผิดให้ถึงต้นตอของขบวนการลักลอบพาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง โดยมีการยกกรณีการเสียชีวิตของ แรงงานพม่าในรถตู้ห้องเย็น 54 ศพที่ จ.ระนองมาหารือในที่ประชุม โดยที่ต่างเห็นพ้อง ที่จะให้ขยายผลถึงตัวการ โดยให้กันผู้ที่เป็นเหยื่อหรือชาวพม่าที่รอดชีวิตในกรณีดังกล่าวไว้เป็นพยานเพื่อสืบสวนขยายผลต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะนำคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษหรือไม่ หากเป็นคดีพิเศษดีเอสไอจะตั้งตำรวจชั้นผู้ใหญ่เป็นหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวน เพื่อทำงานร่วมกันระหว่างดีเอสไอกับตำรวจภูธรภาค 8
โฆษกดีเอสไอ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ดีเอสไอยังได้เสนอให้ความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ เป็นคดีพิเศษเพิ่มเติมบัญชีท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้ดีเอสไอมีอำนาจหน้าที่ทำคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ เสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการสืบสวนสอบสวนทำได้รวดเร็วทันเหตุการณ์ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีแรงงานพม่าหลบหนีเข้าเมืองจะให้เป็นบทบาทของตำรวจในการดำเนินคดีอาญา แต่ดีเอสไอจะต่อยอดสืบสวนสอบสวนเรื่องความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่าย ค้ามนุษย์ที่ดีเอสไอมีอยู่กว่า 12 เครือข่าย โดยมีเครือข่าย เจ๊ ง. เป็นเครือข่ายใหญ่ พร้อมทั้งมีกรณีตัวอย่างการเสียชีวิตของชาวต่างด้าวที่เคยพบศพ จำนวนมากตามพงหญ้า ในพื้นที่ระนอง ตาก และกาญจนบุรี โดยเฉพาะการเสียชีวิตเกิดจากการขาดอากาศหายใจจากการเบียดทับในรถขนพืชผลทางการเกษตร นอกจากนี้จะมีการกล่าวถึงสถานการณ์การลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดนในปัจจุบันอีกด้วย
วันเดียวกัน ที่ศาลากลาง จ.ระนอง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดยนางสุนี ไชยรส กรรมการ กสม. พร้อมตัวแทนจากสภาทนายความ ได้เดินทางมาติดตามความคืบหน้ากรณีดังกล่าว โดยมีนางกาญจนภา กี่หมัน ผู้ว่าราชการ จ.ระนอง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปร่วมบรรยายสรุป
นางสุนี กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหารือกันอยู่ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เข้าข่ายการค้ามนุษย์หรือไม่ แต่ปัญหาเฉพาะหน้าคือการเข้าไปช่วยเหลือ ดูแลผู้ที่รอดชีวิตและต้องกันคนเหล่านี้ไว้เป็นพยานเพราะเป็นผู้เสียหาย ซึ่งหากคนเหล่านี้ต้องการฟ้องร้องค่าเสียหายทางแพ่งก็มีทนายความจากสภาทนายความคอยดำเนินการให้ ส่วนผู้ที่รอดชีวิตนั้นไม่ควรผลักดันให้ออกนอกประเทศทันทีแต่ควรสอบปากคำทั้งหมด เพราะแม้ไม่ได้ใช้ในชั้นศาลแต่ก็สามารถนำมาประมวลภาพได้
ด้าน พ.ต.ท.ไกรทอง จันทร์ทองใบ ผกก.สภ.อ.สุขสำราญ กล่าวว่า เหตุที่ต้องมีการฟ้องคดีผู้ต้องหาแรงงานหลบหนีเข้าเมืองก็เพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่เป็นคนไทย ซึ่งในวันที่ 19 เม.ย.นี้ ผู้ต้องหาที่รอดชีวิตทั้งหมดจะได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกจำคุกแทนค่าปรับ และจะมีการส่งให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองต่อไป ขณะนี้มีการออกหมายจับคนไทยไปแล้ว 4 ครั้ง ล่าสุด กำลังจะเตรียมออกหมายจับเพิ่มอีก 2 คน ที่อยู่ในแพปลาที่นำคนงานขึ้นมา โดยกำลังพิจารณาว่าจะกันใครเป็นพยานบ้าง
ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่อาจมีการตั้งข้อหาเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่าข้อหาประมาทจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตนั้นอาจมีมีโทษเบาเกินไป ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว รถห้องเย็นที่มีความกว้างเพียง 2.20 เมตร ยาว 6 เมตร แต่กลับยัดคนถึง 120 คนเข้าไปทำให้ไม่น่ารอดชีวิตได้ อาจถือว่าเป็นการจงใจฆ่ากันหรือไม่
ด้านนางกาญจนาภา กล่าวว่า ต่อจากนี้ทางจังหวัดจะเพิ่มความเข้มงวดให้กับด่านตรวจต่างๆ โดยรถห้องเย็นนั้น ที่ผ่านมาเมื่อตำรวจตรวจค้นมักอ้างว่าไม่มีกุญแจและหวั่นว่าสัตว์น้ำจะเสียหาย ดังนั้นจึงแก้ปัญหาโดยก่อนที่รถห้องเย็นจะเดินทางต้องไปตรวจก่อน โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล และจะมีสติกเกอร์ติดทับกุญแจเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเปิดจนกว่าจะไปถึงปลายทาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันว่าหลังจากคนงานกลุ่มดังกล่าวพ้นโทษจำคุกก็จะย้ายไปอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองในฐานะผู้รอการส่งกลับ โดยระหว่างนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและตัวแทนสภาทนายความจะร่วมกันสอบปากคำ โดยทางอัยการจะฟ้องในทางอาญา และสภาทนายความจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ส่วนศพผู้เสียชีวิตนั้น นอกจากได้รับเงินประกันแล้วอาจมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มให้กับญาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น