เรื่อง...นพ.กฤษดา ศิรามพุช, พบ.(จุฬาฯ)
ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์อายุรวัฒน์
(American Board of Anti-aging medicine)
บางคนกินยาแล้วแพ้บวมคันผื่นเห่อทั่วตัว หรือบางคนบวมฉุปากหนาราวพญาครุฑ สิ่งเหล่านี้นับว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับการแพ้ครั้งต่อไปถ้าได้รับยาตัวเดิมอีก แม้แต่เพียงเศษเสี้ยวก็ตาม ร่างกายจะจำได้และสร้างสารต้านออกมามากมายจนทำให้หลอดลมตีบหายใจไม่ออกแน่นอก หัวใจขี้เกียจเต้นและก็ตายอย่างฉับพลันชนิดไม่ทันร่างพินัยกรรมได้ ดังข่าวร้อนๆ ที่เพิ่งเกิดไปว่ามีหนุ่มน้อยวัยเบญจเพสที่เสียชีวิตขณะเดินห้างกลางกรุง ด้วยว่าไปรับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อบำรุงผิวพรรณ โดยไม่ได้เกิดจากความแออัดยัดทะนานจากการช่วงชิงของลดราคาจนขาดอากาศหายใจตายหมู่แบบแรงงานพม่าที่น่าสงสาร
เหตุการณ์หัวใจวายตายเพราะยาคุมนี้สร้างความแตกตื่นให้กับผู้ที่มีเหตุจำเป็นต้องกินอยู่เป็นอันมาก ก็ขอบอกให้ใจเย็นๆ ไว้สักหน่อยครับ อย่าเพ่อไปหยุดกินยาคุมเสียเดี๋ยวจะยิ่งแตกตื่นหนักถ้าประจำเดือนหายไปเก้าเดือน เพราะที่จริงยาคุมไม่ใช่ฆาตกรเลือดเย็นหรอกครับ
ในรายของเด็กหนุ่มคนนี้เกิดจากความโชคร้ายที่ได้รับมรดกยีนส์พิเศษมาจากพ่อแม่ โดยยีนส์มรณะนี้จะทำให้เลือดจับตัวเป็นลิ่มไปทิ่มตำอุดหลอดเลือดหัวใจกับปอดได้ง่าย แล้วเมื่อกินยาคุมซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่ายอยู่แล้วก็เลยไปกันใหญ่ เท่ากับตีตั๋วขึ้นทางด่วนขั้นที่สองไปเฝ้าเงี่ยมล่ออ๋องทันที
นี่คือตัวอย่างเล็กๆ ของความสำคัญในการที่เราควรจะต้องรู้จัก “ยีน” ซึ่งเป็นตัวตนในทางสุขภาพของคนนั้นๆอย่างแท้จริงเสียก่อนจะทำการรักษาใดถ้าไม่อยากชิงตัดช่องน้อยแต่พอยีนไปเสียก่อน ไม่ว่าจะให้ยา ผ่าตัด หรืออย่างไรก็ตาม
ถ้าเกิดเป็นคนที่มียีนเลือดไหลไม่หยุดอย่างโรคฮีโมฟิเลียในราชวงศ์ยุโรป แค่หกล้มเข่ากระแทกพื้นก็ตายได้ครับ หรือถ้าเป็นคนที่มียีนมะเร็งเต้านม ยิ่งได้รับฮอร์โมนวัยทองเข้าไปก็เท่ากับเร่งวันแย้มฝาโลงให้เร็วขึ้น ดังนั้นต่อไปก่อนจะแนะนำให้ใครรับประทานอาหารเสริม หรือวิตามินใดๆ ถ้าคุณ “รู้เขา” ด้วยการตรวจทางเวชศาสตร์อายุรวัฒน์หน่อยได้ก็จะดีครับ ดีกว่าใช้วิธีเดาโยนหัวก้อยให้ยาไปแล้วคนรับ “ไม่ปลื้ม” เพราะเกิดผลไม่พึงประสงค์ขึ้นมาครับ
“ลางเนื้อชอบลางยา”จัดยาให้ถูกคนถูกโรค
แต่ก่อนร่อนชะไร หมอไทยโบราณเราต้องใช้ความช่างสังเกตเป็นหลักก่อนเจียดยาว่าคนนี้หนุ่มแก่แค่ไหน มีกำลังวังชาดีเพียงใด จะพอสู้กับยาได้หรือไม่ ถ้าอ่อนเปลี้ยเพลียแรงเต็มทีก็เห็นจะให้ยาแรงไม่ได้ไม่ว่ายาจะดีแค่ไหนก็ตาม แต่จะใช้วิธีทำให้ยาอ่อนฤทธิ์ลงด้วยการ “สะตุ” เช่น การสะตุยาดำ โดยนำยาดำขึ้นตั้งไฟเติมน้ำเล็กน้อย ต้มจนกรอบดีแล้วจึงราไฟยกลงแล้วค่อยนำไปใช้ได้ ซึ่งที่จริงก็ถือเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ฉลาดหลักแหลมมาก เพราะคนเราแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกันจึงไม่สามารถจะกินยาแบบเดียวกันยังกับตัดเสื้อโหลโขกออกมาเป็นพิมพ์เดียวกันหมดได้
ผมขอให้หัวใจของการจัดยารักษาให้ประสบความสำเร็จสองประการคือ
1) จัดยาได้ถูกคน ถูกกับ “อัตลักษณ์” ทางสุขภาพของคนนั้นๆ โดยในปัจจุบันคือเรื่องของยีน
2) จัดยาได้ถูกโรค ถูกกับเป้าหมายคือโรคนั้นๆ ให้ยาพุ่งเป้าไปรักษาที่สมุฏฐานของโรคโดยตรงราวกับขีปนาวุธนำวิถี
จะเห็นว่าการจัดยาให้ถูกคนนั้นเมื่อมองลงไปให้ลึกกว่าอายุหรือกำลังวังชาภายนอก สิ่งที่บอกการตอบสนองต่อยาของตัวคุณเองที่ตรงตัวกว่าคือ ยีนครับ ซึ่งดังที่ผมกล่าวไปแล้วว่ายีนก็คือกรรมเก่านั่นเอง เพราะไม่มีใครรู้ว่าเกิดมาจะได้ยีนอะไรติดมาด้วย บางคนอาจได้ยีน “ขี้แพ้” กินยาอะไรก็แพ้แต่ชาวบ้านเขากินกันมานานก็ไม่เห็นเป็นอะไรได้แต่โทษลมโทษแล้งไป โดยยีนส์ในตัวเรานั้นเหมือนโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นมาจัดการกับยาที่เข้าสู่ร่างกายในเรื่องหลักๆ ดังต่อไปนี้ คือ
1) การดูดซึมของยาเข้าสู่ร่างกาย
2) เป้าหมายที่ยาจะเข้าไปทำงานในร่างกาย
3) การเผาผลาญของยาในร่างกาย
โดยประการแรกเรื่องของการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายนั้นถ้ายาเข้าไปแล้วไม่สามารถดูดซึมเข้าไปใช้งานได้ เช่นเราต้องการให้ยานี้ผ่านซึมเข้าไปฆ่าเชื้อในที่หวงห้ามอย่างสมองหรือว่ายไปฆ่าเชื้อในที่ลึกล้ำอย่างถุงน้ำดี แต่ร่างกายเผอิญโชคร้ายมียีนส์ที่ต่างจากชาวบ้านเขาตรงที่ไม่มีโปรตีนที่ทำหน้าที่รับแขก (ยา) ติดอยู่ที่อวัยวะนั้นๆ ยาที่เข้าไปก็ถูกเซย์โน ทิ้งลอยละล่องไร้ค่าเป็นจิงโจ้โล้สำเภาอยู่ในตัวเราโดยไม่ได้เข้าไปทำหน้าที่ของมัน เป็นอันว่าเสียเงินค่ารักษาไปเพื่อให้ยาไปเป็นอับเฉาเรืออยู่ในตัวเราเปล่าๆ ปลี้ๆ อย่างนั้นเอง
ส่วนประการถัดมา คือ เรื่องของเป้าหมายที่ยาจะเข้าไปเป็นมิสไซล์พุ่งเข้าใส่นั้น เป็นเรื่องสำคัญเช่นกันเพราะถ้าคุณยังไม่รู้ว่าเป้าหมายของคุณอยู่ที่ไหนก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปรักษาได้ถูกจุด โดยเป้าหมายของยาที่จะเข้าไปรักษานี้มีตั้งแต่ตัวรับที่ผิวของเซลล์, เอนไซม์ และประตูไอออนที่เซลล์ ยาหลากหลายก็จะส่งผลต่อเป้าต่างกัน เป้าใครเป้ามัน แต่อย่าไปลูบเป้าอย่างคุณไมเคิลเธอเข้าก็แล้วกัน
ปัจจุบันเราสามารถหาเป้าให้ยาต่างๆได้ถูกต้องถึง 400 เป้าแล้ว โดยในอนาคตคิดว่าจะหาเพิ่มได้อีกถึง 3,000 เป้าเรียกว่ายิงยาไปปุ๊บก็พุ่งเข้าไปรักษาที่เป้าได้ปั๊บเลยทีเดียวครับ ส่วนประการสุดท้ายคือเรื่องการเผาผลาญยาในร่างกาย ที่จริงมาจากคำว่า “drug metabolizing enzyme” แต่ผมขอใช้คำว่าเผาผลาญก็แล้วกันครับ ดูดุเดือดเห็นภาพดีว่า เผาจริง ผลาญจริง ไม่ใช้สลิงให้ยุ่งยาก ก็คือ ร่างกายเราแต่ละคนนี้มียีนส์ที่ช่วยในการเผาผลาญยาต่างกัน
บางคนก็เผาผลาญได้ดีเกินคาด ได้ยาไปแล้วก็ไม่พอเสียทีราวกับกระเชอก้นรั่ว ในทางตรงกันข้ามบางคนเผาผลาญช้ามากได้ยาไปเพียงน้อยแต่ก็จมจ่อมอยู่ในร่างกายนานเนิ่น ออกฤทธิ์เสียจนเกินพอ ถ้าเราพบยีนส์เฉื่อยเช่นนี้ในบางคนก็ต้องให้ยาแต่น้อยไว้ก่อน ขืนให้เท่ากับชาวบ้านก็จะพาลเป็นพิษไป
ตัวอย่างเช่นยาหย่อนกล้ามเนื้อ (คนละอย่างกับยาคลายกล้ามเนื้อนะครับ)ที่คุณหมอดมยาชอบใช้ร่วมกับยาดมสลบนี้ ในบางคนที่ยีนส์เผาผลาญได้ไม่ดีก็จะตกค้างอยู่มาก ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนค้างยานเป็นถุงกาแฟแต่อย่างใดนะครับ มันจะทำให้กล้ามเนื้อคุณอ่อนระทวยช่วยตัวเองไม่ได้อยู่นานกว่าปกติต่างหาก ซึ่งรวมถึงกล้ามเนื้อกะบังลมด้วย แล้วลองคิดดูกันสิครับว่าถ้าคุณออกแรงหายใจได้ทีละนิดราวกับถูกชั้นในเสริมใยเหล็กรัดไว้มันจะเป็นอย่างไร
นอกจากนั้น ก็ยังมียาต้านโรคซึมเศร้าที่ถ้าคุณมียีนส์ที่เผาผลาญยาตัวนี้ไม่ดีก็จำต้องใช้ปริมาณน้อยไว้ก่อน แต่ถ้ามียีนส์ที่เผาผลาญยาตัวนี้ดีก็จำต้องเพิ่มยาเข้าอีกหลายฟายมือเลยครับคืออีกถึง 25 เท่าจึงจะพอให้บ่อน้ำตาไม่ท่วมทะลัก อกหักราวกับถูกยุบพรรคได้ นอกจากนั้นก็ยังมีตัวอย่างยาอื่นอีกเช่นยาแก้ป่วยกลุ่มโคเดอีน หรือที่เป็นจำพวกมอร์ฟีนนี้ จำต้องอาศัยยีนส์สร้างน้ำย่อยในร่างกายชื่อไซโตโครมจึงจะช่วยให้ออกฤทธิ์ลดปวดได้ซึ่งเพื่อนมนุษย์ของเราบางคนก็มีน้ำย่อยตัวนี้น้อย จึงทำให้แม้ได้ยาแก้ปวดระดับมอร์ฟีนนี้เข้าไปแล้วก็ยังดื้อตาใสนอนปวดโอดโอยอยู่
เหล่านี้ คือ ตัวอย่างความสำคัญของเภสัชพันธุศาสตร์ที่ช่วยให้การจัดยาเป็นไปอย่างสุขุมคัมภีรภาพลึกซึ้ง “ตรงเป้าหมาย” ยิ่งขึ้นกว่าที่เคยๆดูแต่จากโหงวเฮ้ง หรือดูจากรูปพรรณสัณฐานภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว เพราะปัญหาสำคัญของการใช้ยาไม่ถูกโรค ไม่ถูกคนนั้นหาใช่แต่เพียงไม่หายหรือเสียเงินแต่อย่างเดียวไม่ แต่ลามปามไปถึงการเสียสุขภาพอย่างรุนแรงจากการแพ้ยาถึงขั้นขี้เกียจหายใจลาตายไปเฝ้ายมบาลได้ ซึ่งจะขอพูดถึงในหัวข้อต่อไปครับ
มั่นใจทุกครั้งเมื่อกินยา ถ้ารู้จัก “เภสัชพันธุศาสตร์”
การแพ้ยาหรือการใช้ยาไปแล้วจำต้องเปลี่ยนจากผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึงของยานั้นแต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายมากหลาย ด้วยว่าเป็นสิ่งที่ยุ่งยากวุ่นวาย และเราก็พากันยึดติดมาตลอดกับคำว่า “สุดวิสัย” แถมแอบกระซิบว่าเป็นความซวยดวงตกของคนนั้นเอง
แต่ยุคนี้คือยุคแห่งเวชศาสตร์อายุรวัฒน์ซึ่งเป็นศาสตร์การแพทย์ที่นำเทคโนโลยีใหม่ๆมาช่วยเน้นในด้านการ “ป้องกันโรค” ให้แก่มนุษย์ จึงได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์นำการตรวจพันธุกรรมโดยเฉพาะเรื่องยานี้มาหาก่อนว่าใครมีแนวโน้มที่จะแพ้ยาใดบ้างมาใช้จะได้ไม่ต้องมากลุ้มใจตีอกชกตัวกันภายหลัง
ประมาณกันว่าการตรวจยีนส์ให้รู้แน่ว่าคนไข้มีโอกาสที่จะแพ้ยาอะไรได้บ้างนั้น จะช่วยชีวิตคนไว้ได้ถึงราว 2 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็นค่าใช้จ่ายก็หลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยว่าการแพ้ยารุนแรงแบบที่เรียกว่าแพ้จน “ช็อก” นั้น ต้องเสียค่าใช้จ่ามหาศาลทั้งค่าห้องไอซียู, ค่าอุปกรณ์เครื่องมือช่วยชีวิตและบางทีผลที่ออกมาก็น่าเศร้าคือยื้อชีวิตไว้ไม่ได้ แต่การตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ที่ดูว่าคุณมียีนส์ที่ตอบสนองต่อยาชนิดนั้นๆ อย่างไรจะช่วยทุ่นทั้งเวลาไม่ให้ต้องวุ่นวะวุ่นวายเหมือนหนูลองยาไปก่อนว่าจะเกิดผลข้างเคียงไหม
ถ้าเกิดขึ้นมาก็หัวเราะแหะๆ แล้วขอเปลี่ยนใหม่ โดยในบ้านเราได้เริ่มทำในยาต้านไวรัสเอดส์ที่ชื่อ “เนวิราพีน (Nevirapine)” ด้วยว่ายากลุ่มนี้มีคนแพ้อยู่มากถึง 1 ใน 4 และเมื่อแพ้ก็สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยมาก เรียกว่ามีเชื้อไวรัสเอดส์ก็ทรมานอยู่แล้วยังโชคร้ายโดนแพ้ยาเข้าไปอีกเด้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจอย่างมาก แต่ตอนนี้อานิสงส์จากความก้าวหน้าในการไขรหัสพันธุกรรมแพ้ยาก็สามารถสร้างชุดเครื่องมือตรวจขึ้นมาได้เองซึ่งสามารถรู้ผลได้ว่าแพ้หรือไม่แพ้ก่อนที่แพทย์จะเริ่มให้ยา
ทั้งนี้ ความสำเร็จในเรื่องของการตรวจยีนส์ก่อนให้ยารักษาเอดส์นี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ประเทศไทยจะก้าวออกสู่เวทีโลกในเรื่องของเภสัชพันธุศาสตร์ โดยศูนย์ความเป็นเลิศทางชีววิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (TCELS) ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาผลของยีนส์กับยาในโรคหลักๆถึง 8 โรคก่อนที่จะจัดยารักษาให้ตามยีนนั้นๆ
โดยโรคทั้ง 8 ได้แก่ โรคธาลัสซีเมีย, โรคเอดส์, โรคเบาหวาน, ภูมิไวเกิน, ข้ออักเสบ, พร่องโปรตีน, โรคหัวใจและโรคทางหลอดเลือด ซึ่งข่าวดีก็คือต่อไปประเทศไทยเราจะมีชุดตรวจยีนส์ว่าแพ้ยาตัวใดบ้าง ในราคาที่ย่อมเยากว่าฝรั่งหลายเท่าครับ โดยศูนย์ความเป็นเลิศทางชีววิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยได้จัดให้มีงานแสดงความก้าวหน้าด้านเภสัชพันธุศาสตร์นี้ในงานมหกรรมชีววิทยาศาสตร์ครั้งใหญ่ในวันที่ 28-30 พฤษภาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ครับ
ดังที่ผมเคยบอกไปเสมอว่ายีนคนส่วนใหญ่นั้นเหมือนกันถึง 99.9% ไม่ว่าจะไทย จีน จาม มอญ ฝรั่ง เหมือนกันหมด ผิดกันอยู่แค่ราวไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่เจ้าเสี้ยวเดียวที่แตกต่างนี่แหละมันหมายอาจหมายถึงชีวิตคุณทั้งชีวิตเลยครับ นี่เองคือความสำคัญของเภสัชพันธุศาสตร์ที่ทางแพทย์ต้านความชรานำมาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยเพื่อช่วยให้การจัดยาเป็นไปอย่าง“ถูกคน, ถูกโรค, ถูกปริมาณ,ถูกที่” และปลอดภัยได้ประโยชน์กับคุณที่สุดครับ
พบคำแนะนำดี ๆ สำหรับผู้ที่ต้องการมีอายุยืนแบบไร้โรคได้จาก นพ.กฤษดา แบบเต็มๆ ในงาน TCELS Day : Life Sciences Life Quality ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 28-30 พฤษภาคม 2551 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 02-6445499 หรือwww.tcels.or.th