xs
xsm
sm
md
lg

“เปิดเส้นทาง-ขบวนการค้าแรงงานเถื่อนข้ามชาติ” ฝั่งชายแดนไทย-พม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรือประมงหางยาว พาหนะสำคัญในการลำเลียงแรงงานเถื่อนข้ามจาก จ.เกาะสอง มายัง จ.ระนอง ฝั่งไทย
ทีมข่าวศูนย์ข่าวภูเก็ตรายงาน.....

“อยู่พม่าเราอดอยาก แร้นแค้น ไม่มีงานทำ ไม่มีเงิน ไม่มีแต่ข้าวที่จะกิน จำเป็นต้องทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนออกมาเสี่ยงตายเอาดาบหน้า”


เป็นถ้อยคำที่พรั่งพรูออกจากปากของ ยะ อายุ 32 ปี เราต้องขอสมมติชื่อเค้า เพื่อความปลอดภัย ชายชาวพม่าที่รอดชีวิตหวุดหวิดจากเหตุการณ์แรงงานต่างด้าวชาวพม่าขาดอากาศหายใจเสียชีวิตคารถห้องเย็นบรรทุกอาหารทะเลสด ทะเบียน 70-0619 ระนอง ชื่อ น.รุ่งเรืองทรัพย์ 54 ศพ เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น.ของวันที่ 9 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา โดยคนขับจอดทิ้งไว้บริเวณบ้านบางกล้วยนอก หมู่ 3 ต.นาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง และเค้าเป็นคนสุดท้ายที่ออกโรงพยาบาลระนอง ช่วงเย็นวันที่ 12 เมษายน 2551 พูดภาษาไทยได้ค่อนข้างชัด

ยะ เล่าให้ทีมข่าว “ผู้จัดการออนไลน์” ฟังอีกว่า ก่อนเดินทางออกจากบ้านเกิดที่เมืองทวาย ได้ติดต่อกับน้องชาย ซึ่งทำงานอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต จากนั้น พร้อมแฟนที่อายุเพียง 19 ปี ยังไม่ได้แต่งงานกันตัดสินใจหนีตามกันมา เพราะพ่อแม่ฝ่ายหญิงกีดกัน นั่งรถ และเรือรับจ้างมาลงที่จังหวัดเกาะสอง แล้วนั่งเรือหางยาวไปขึ้นที่แพปลาแห่งหนึ่งย่านสะพานปลาระนอง มีคนคอยจัดการให้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง จ่ายค่าเดินทางคนละ 12,000 บาท

จากนั้นเข้าไปนั่งรอในโกดังแพปลาที่มีรั้วรอบขอบชิด ร่วมกับชาวพม่าอีกจำนวนมาก กระทั่งเวลาประมาณ 2 ทุ่ม ก็มีรถสิบล้อห้องเย็นบรรทุกปลาวิ่งเข้าไปจอดในแพปลา แล้วพวกตนทั้งหมดก็ถูกไล่ให้ขึ้นไปยืนบนรถอัดเบียดเสียดกันแน่น ไม่สามารถกระดุกกระดิกได้เลยจนเต็มคันรถ แต่ไม่รู้ว่ามีกี่คน เมื่อเต็มรถแล้วคนที่อยู่ด้านนอกก็ปิดประตูแล้วใส่กลอนล็อคจากนอกรถ

เมื่อรถวิ่งไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมง ทุกคนในรถเริ่มอึดอัด หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เพราะอากาศร้อนมาก แต่ละคนเริ่มกระสับกระส่าย จากนั้นชาวพม่าที่อยู่ในห้องเย็น คาดว่าจะเป็นพวกเดียวกับคนขับ โทรศัพท์ไปที่คนขับรถบอกว่าแอร์ไม่เย็น อากาศร้อน หายใจไม่ออก แต่คนขับบอกว่าเปิดแอร์เต็มที่แล้ว ก่อนวางหูไป

จากนั้นก็มีการโทร.คุยกันอีกหลายครั้ง แต่คนขับก็ไม่สนใจ กลับเร่งความเร็วรถขึ้นอีก เมื่อมีอาการมากขึ้น พวกตนพยายามทุบตีฝาผนังตู้ห้องเย็นแต่ก็ไม่เป็นผล ขณะนั้นบางคนเริ่มฟุบลงกองกับพื้นแล้ว หมดสติ พวกที่พอมีแรงก็เร่งทุบตีฝาผนังต่อไป พร้อมทั้งส่งเสียงหวีดร้องดังลั่นห้องเย็น

ตนใช้สติขยับตัวให้น้อยที่สุด นึกถึงพระที่เคารพนับถือ ส่วนแฟนที่อยู่ใกล้กันไม่รู้ไปอยู่จุดไหนของรถแล้ว ส่วนคนที่ล้มลงก่อนก็ถูกคนที่พยายามดิ้นเอาตัวรอดเหยียบ ขณะกำลังดิ้นจนเฮือกสุดท้าย จู่ๆ รถก็จอด แล้วมีคนมาเปิดประตูออก แต่เมื่อเห็นว่ามีคนนอนแน่นิ่งจำนวนมากและที่กำลังดิ้นทุรนทุราย คนขับจึงตัดสินใจวิ่งหนีไป ตนจึงกระโดดออกมาได้ แต่ไม่รู้จะไปไหนจึงเดินโซเซไปหาน้ำกิน เพราะกระหายอย่างมาก จนไปเจอน้ำในถังวางอยู่ข้างบ้านหลังหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าน้ำอะไร กินแล้วก็ยกรดตัวเพราะร้อนมาก แล้วเดินกลับไปรถอีกเพื่อหาแฟน แต่ไม่พบ จากนั้นก็เป็นลมล้มฟุบลง รู้สึกตัวอีกทีก็อยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว แม้ว่าจะเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่ก็อยากทำงานอยู่ที่เมืองไทย ไม่อยากถูกผลักดันกลับบ้านเกิดที่รัฐทวาย เพราะความเป็นอยู่ลำบาก ไม่มีงาน หรือถ้ามีก็ได้ค่าแรงถูกมาก

ส่วน โยย อายุ 21 ปี ผู้รอดชีวิตอีกคน เล่าว่า นั่งเรือมาจากเมืองเมาะลำไย พักค้างคืนที่ จ.เกาะสอง แล้วมาขึ้นฝั่งที่แพปลาแห่งหนึ่งที่ระนอง ก่อนขึ้นรถห้องเย็นบรรทุกปลา เพื่อเดินทางไปทำงานต่อที่ จ.ภูเก็ต บางคนไป จ.พังงา จ่ายค่านายหน้าคนละ 10,000-12,000 บาท

ขณะที่พวกตนยืนอัดแน่นในรถนั้น ไม่แน่ใจว่าเครื่องปรับอากาศในห้องเย็นเสียหรือไม่ เพราะอยู่ในรถได้ไม่นานรู้สึกอึดอัดหายใจไม่ออก กระวนกระวาย แต่ไม่สามารถเปิดประตูได้ ทุกคนพยายามดิ้นรนทุบฝาผนังห้องเย็น หลายคนทนไม่ไหวขาดใจตายล้มฟุบลงกับพื้นที่ละคนสองคน ขณะที่บางคนหวีดร้องขอชีวิต จากนั้นไม่นานคนขับรถจอดรถ แล้วเปิดประตูดู เมื่อเห็นพวกตนกำลังดิ้นรน และเสียชีวิตจำนวนมาก จึงวิ่งหนีไป

จากความต้องการใช้แรงงานราคาถูกของผู้ประกอบการในไทย ประกอบกับแรงงานพม่าเองที่ต้องการหางานทำ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้เอง ทำให้กลายเป็นช่องว่าง หรือช่องทางให้กลุ่มที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์เกิดขึ้นทั้งฝั่งไทย และฝั่งพม่า จากข้อมูลขณะนี้พบว่า เครือข่ายค้ามนุษย์กลุ่มนี้มีการเชื่อมโยงถึงกันทั้งที่อยู่ในฝั่งไทย และพม่า

จนกลายเป็นขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ขยายตัวเป็นขุมเครือข่ายใหญ่มีอิทธิพลไม่แพ้กลุ่มเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด จากการตรวจสอบพบว่า เครือข่ายดังกล่าวมีการโยงใยกันทั้งในประเทศไทย และประเทศพม่า มีเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะ ตม.เพราะเป็นหน่วยตรวจเจ้าภาพหลัก เกี่ยวกับการกวาดล้างแรงงาน

ที่ปัจจุบันแทรกซึมเข้ามาอยู่ร่วมในสำนักงาน เฉพาะที่ด่าน ตม.ระนอง ทั้งด่านล่าง และด่านบน มีลูกจ้างชื่อ “ล” และตำรวจชื่อ “ส” ยศ ดต.เชื่อมโยงกับขบวนการนี้อย่างเต็มตัว รับออเดอร์จากนายจ้าง สั่งตรงไปยังนายหน้าที่ จ.เกาะสอง หรือหากมีแรงงานที่ผลักดันกลับจาก ตม.จังหวัดต่างๆ ซึ่งพื้นที่ภาคใต้ต้องผ่านด่าน ตม.ระนอง เจ้าหน้าที่ 2 นายนี้ก็จะประสานนายหน้าฝั่ง จ.เกาะสอง ทราบว่ามีกลับไปกี่คนเพื่อรอรับแล้วส่งกลับมา

ส่วนฝั่งพม่าที่กลุ่มผู้ทรงอิทธิพลด้านการค้ามนุษย์คอยดูแล ประสานงานเจ้าหน้า จัดนายหน้าออกไปติดต่อกับกลุ่มคนที่ต้องการเดินไปทำงานยังต่างประเทศ ขณะนี้มีทั้งหมด 6 กลุ่ม คุมอาณาเขตตั้งแต่กรุงเนปิดอร์ ลงมาทางตอนใต้ ศูนย์กลางใหญ่อยู่ที่ จ.เมาะลำไย มีนายหน้า ทั้งชาวมอญ, กะเหรี่ยง, ชิน, คะเชน, พม่า, ยะไข่ เป็นตัวเชื่อมประสานงานไปยังกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

โดยแฝงตัวเป็นคนขับเรือรับจ้าง ขับรถเมล์ ขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ส่วนชาวพม่าที่อยู่ทางตอนกลางของประเทศ มีจุดนัดหมายที่ จ.เมาะลำไย ก่อนเดินทางต่อมายังนายหน้าที่ จ.เกาะสอง รับช่วงต่อก่อนส่งให้กับนายหน้าในฝั่งไทยอีกทอดหนึ่ง

สำหรับวิธีการเดินทางแบ่งออกเป็น 2 กรณี กรณีแรกเดินทางมาเองมายังจุดนัดหมายที่ จ.เกาะสอง อยู่ใต้สุดติดกับ จ.ระนอง หรืออาจแวะพักที่เมืองมะริดก่อน 1-2 วัน ก่อนเดินทางต่อมายัง จ.เกาะสอง วิธีที่ 2 ใช้บริการนายหน้าจาก จ.เมาะลำไย ส่งถึง จ.เกาะสอง ดูแลครบวงจรทั้งการเดินทาง ที่พัก อาหาร ทั้ง 2 กรณี มีค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน

หากเดินทางมาเองเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000 จั๊ต คิดเป็นเงินไทยกว่า 3,000 บาท ยังไม่รวมค่าหนังสือเดินทางผ่านแดน ที่แรงงานต้องติดต่อดำเนินการอีกประมาณ 3,000 บาท แต่ใช้บริการวิธีที่ 2 นายหน้าจะคิดอัตราเหมาจ่าย 150,000 จั๊ต คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4,500 บาท ถูกกว่ากันมาก และเป็นที่นิยม เพราะสะดวกกว่าวิธีการแรก

หลังจากเดินทางมาจุดนัดหมายที่ จ.เกาะสอง นายหน้าซึ่งรับผิดชอบเขตพื้นที่เกาะสอง จะรับช่วงต่อทันที และหมดหน้าที่ของนายหน้าที่มาจากเมาะลำไย โดยนายหน้าที่ จ.เกาะสอง ก็มีพฤติกรรมเดียวกับที่เมาะลำไย คือ อยู่ในคราบของคนขับรถเมล์ คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับเรือรับจ้าง และมีหลายกลุ่ม ผู้ที่เดินทางมาด้วยตนเองก็จะต้องมาเจอกับนายหน้ากลุ่มนี้

จากนั้นจะกำหนดเป้าหมายการเดินทางว่าจะไปจังหวัดไหน เพื่อจะได้ให้นายหน้าดำเนินการประสานให้ จะเป็นอีกจุดที่แรงงานต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนอยู่ในอัตราใดขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่จะไป เช่น ต้องการไปในเขตจังหวัดภาคใต้ จะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 8,000-12,000 บาท

ไปยัง อ.หัวหิน, ชะอำ, มหาชัย เสียค่าใช้จ่ายอัตรา 8,000 บาท แต่หากต้องการไปทำงานเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ต้องเสียค่าใช้จ่าย 15,000 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ จะเป็นส่วนที่นายหน้าฝั่งพม่า จะแบ่งให้นายหน้าไทย ครั้งที่ตกลงส่งแรงงานพม่าข้ามมายังฝั่งไทย

หลังจากมีการประสานงานติดต่อนัดหมายกับนายหน้าฝั่งไทยเรียบร้อยแล้ว ก็จะเดินทางข้ามฟากจาก จ.เกาะสอง เข้ามายัง จ.ระนอง โดยจะมีเรือคอยอำนวยความสะดวก ทั้งเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ ที่ใช้การบรรทุกสินค้าบังหน้า และเรือหางยาวข้ามฟากเส้นทาง ระนอง-เกาะสอง

การเดินทางส่วนใหญ่จะเป็นช่วงกลางคืน หรือเช้ามืด เพื่อหลบหลีกการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ เมื่อถึงระนอง ก็จะเข้าพัก หรือเก็บตัวตามบริเวณแพปลาต่างๆ 1-2 วัน ก่อนเดินทางสู่จังหวัดเป้าหมาย ซึ่งจุดนี้นายหน้าฝั่งไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบ หรือจัดรถ จัดเรือให้แรงงาน เพื่อเดินทางต่อไปยังจังหวัดเป้าหมาย ยังไม่มีค่าใช้จ่าย

หลังจากนัดหมายและนำแรงงานไปยังจังหวัดเป้าหมาย ถือเป็นการสิ้นสุดภารกิจของนายหน้าฝั่งไทย จากนั้นจะมีการติดต่อนายจ้าง เพื่อส่งต่อเข้าไปยังสถานประกอบการ จุดนี้ จะเป็นอีกครั้งที่แรงงานต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ก็มีแนวทางที่ 2 ให้แรงงานพม่าเลือก คือ หางานทำเอง ทราบว่า ปัจจุบันแรงงานพม่านิยมใช้วิธีการแรกประมาณ 60% อีก 40% จะใช้วิธีการหางานทำเอง เพราะต้องการลดค่าใช้จ่าย

หรืออาจจะมีญาติทำงานในเขตพื้นที่นั้น อยู่ก่อนแล้ว ส่วนผู้ที่ต้องการใช้บริการนายหน้าฝั่งไทยเชื่อมต่อไปยังนายจ้าง จะต้องเสียค่าใช้จ่าย และเป็นจุดที่ส่วนใหญ่แรงงานจะไม่มีเงินเหลือพออีกแล้ว ยกเว้นมีญาติพี่น้องค่อยจ่ายให้ แต่ก็มีทางออก คือ ทำข้อตกลงกับนายจ้าง โดยนายจ้างจะสำรองจ่ายให้นายหน้าไปก่อน และใช้วิธีการหักเงินเดือนภายหลัง

สำหรับเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ที่ จ.ระนอง ปัจจุบันพบว่ากระจายอยู่ทุกอำเภอ ส่วนใหญ่ถูกจับกุมมาแล้วแทบทั้งสิ้น เมื่อพ้นโทษก็กลับมาทำความผิดอีก เพราะแต่ละครั้งสาวไปไม่ถึงตัวการใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง

กลุ่มแรก คือ กลุ่มเจ๊ ม.ทำกันทั้งครอบครัว มีผู้ร่วมขบวนการประมาณ 10 คน

กลุ่มที่ 2 กลุ่มเจ๊ ง. มีผู้ร่วมขบวนการประมาณ 20 คน เป็นเครือข่ายใหญ่ที่สุด เหตุการณ์แรงงานพม่าตายหมู่ 54 ศพ ครั้งล่าสุด ก็เป็นพม่าในเครือข่ายของเจ๊ ง.โดยมีโก ร.ร่วมด้วย

กลุ่มเจ๊ ก. มีผู้ร่วมขบวนการประมาณ 10 คน กลุ่มโก ร. และ กลุ่มโก บ. นอกจากนี้ยังมีกลุ่มย่อยอีกหลายกลุ่ม จะเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายจังหวัดปลายทางด้วย ส่วนใหญ่อยู่ในบัญชีดำแล้ว แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่จัดการขั้นเด็ดขาด เพราะมีส่วนได้เสียกับค่าหัวแรงงานด้วย


ทั้งหมดจะเคลื่อนย้ายแรงงาน ช่วงกลางคืนตั้งแต่ 20.00 น.เป็นต้นไป ถึงก่อนรุ่งสาง ส่วนใหญ่จะใช้รถกระบะ รถเก๋ง เป็นพาหนะ จะใช้วิธีเช่าซื้อดาวน์ต่ำ ผ่อนน้อย หากถูกจับบริษัทไฟแนนซ์จะรับผิดชอบเอง และมีวิธีการหลบเลี่ยงหลายรูปแบบ เช่น ให้นั่งไปในลังปลาที่วางซ้อนกันสองถัง ถังบนเจาะก้นลังเพื่อให้ยืนหรือนั่งได้ หรือนอนราบกับพื้นกระบะรถ แล้วใช้ผ้าใบคลุม นั่งรถเก๋งคราวละ 2-3 คน ไปในลักษณะครอบครัว เป็นต้น

แต่ไม่ว่าใช้วิธีไหน เมื่อผ่านด่านตรวจต้องเคลียร์ล่วงหน้า 500 บาท ต่อแรงงาน 1 คน ต่อด่าน ยกเว้นด่านที่ตั้งขึ้นเฉพาะกิจเป็นครั้งคราว หากครั้งไหนมีออเดอร์มาก จะใช้วิธีการขนขึ้นรถห้องเย็นบรรทุกปลา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการจับกุมมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 จำนวน 51 คนพื้นที่ สภ.ราชกรูด แต่โชคดีไม่มีใครตาย เหมือนครั้งล่าสุด

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ส่งผลให้ขบวนการค้ามนุษย์หยุดเคลื่อนไหวไปชั่วขณะหนึ่ง แต่เมื่อเรื่องเงียบ ก็จะกลับมาทำอีก เพราะเป็นงานที่ให้รายได้งดงาม และที่สำคัญหน่วยงานระดับนโยบายน่าจะให้ความสำคัญกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หันมาดูแลแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวอย่างจริงจังเสียที หรือไม่ก็จัดการกับผู้ที่เข้าไปมีผลประโยชน์ให้เข็ดหลาบ หากยังปล่อยไว้ เชื่อได้ว่าเหตุการณ์เศร้าสลดยังคงเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน
ด่านล่าง จุดตรวจ ตม.ระนอง เส้นทางผ่านเข้า-ออก เส้นทางระนอง-เกาะสอง
ด่านตรวจของชุดเฉพาะกิจเสือดำ ที่เกาะสะระณีย์
แรงานพม่า ตามแพปลาต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.ระนอง
บรรยากาศที่ท่าเทียบเรือเทศบาลตำบลปากน้ำ ทุกเช้าเป็นไปอย่างคึกคักด้วยจำนวนแรงงานพม่าที่เดินทางมาขายแรงงานฝั่งไทย เพื่อความอยู่รอด

กำลังโหลดความคิดเห็น