xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอเร่งเสนอบรรจุการค้ามนุษย์เป็นคดีพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ดีเอสไอเร่งเสนอให้การค้ามนุษย์เป็นคดีพิเศษเพื่อให้มีอำนาจสืบสวนสอบสวนทันที พร้อมเสนอให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพิ่ม ด้านผู้แทนเอ็นจีโอชี้การเสียชีวิตของแรงงานชาวพม่า 54 ศพ แค่คดีลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย

วันนี้ (18 เม.ย.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าเมือง โดยมีผู้แทนจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมประชุม ได้แก่ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนองค์กรเอกชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นการหาข้อสรุปถึงแนวทางปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าว โดยให้มีการบูรณาการด้านการข่าวที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลและพัฒนาเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีต่อเครือข่ายและใช้ประโยชน์ในการป้องกัน การศึกษาแผนประทุษกรรมและพฤติการณ์การกระทำผิดของคนร้ายและผู้ร่วมขบวนการ เพื่อวางรูปแบบการทำสำนวนการสอบสวนหรือการตั้งรูปคดี เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมาย

นอกจากนี้ การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองจะต้องประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และให้ความสำคัญกับมิติด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศด้วย ทั้งนี้ ดีเอสไอ ได้เสนอให้ความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ เป็นคดีพิเศษ เพิ่มเติมบัญชีท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อออกเป็นกฎกระทรวง ซึ่งเมื่อมีการออกเป็นกฎกระทรวงแล้ว ดีเอสไอจะมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.นี้ต่อไป

นอกจากนี้ จะมีวาระการนำเสนอข้อมูลข่าวเกี่ยวกับเครือข่ายค้ามนุษย์ที่ดีเอสไอมีอยู่กว่า 12 เครือข่าย ซึ่งมีเครือข่ายใหญ่ ชื่อย่อ เจ๊ ง. และยกกรณีตัวอย่างการเสียชีวิตของชาวต่างด้าว ที่เคยพบศพจำนวนมากตามพงหญ้า ในพื้นที่จังหวัดระนอง ตาก และกาญจนบุรี โดยเฉพาะการเสียชีวิตเกิดจากการขาดอากาศหายใจจากการเบียดทับในรถขนพืชผลทางการเกษตร นอกจากนี้จะมีการพูดถึงสถานการณ์การลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดนในปัจจุบัน เพื่อระดมความเห็นในการป้องกันและปราบปราม

ภายหลังการประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ โฆษกดีเอสไอ แถลงว่า ที่ประชุมมีความตรงกันต้องการให้ดำเนินคดีหาผู้กระทำผิดให้ถึงต้นตอของขบวนการลักลอบพาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง โดยมีการยกกรณีการเสียชีวิตของแรงงานพม่าในรถตู้คอนเทนเนอร์ 54 ศพที่จังหวัดระนอง หารือในที่ประชุม ซึ่งในส่วนของดีเอสไอ สนับสนุนแนวทางที่จะให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมาย แต่ในความเห็นของหน่วยงานความมั่นคง ได้ท้วงติงถึงผลกระทบด้านความมั่นคงของประเทศ อย่างไรก็ตาม ทุกหน่วยงานเห็นด้วยที่จะให้ขยายผลถึงตัวการ และให้กันเหยื่อ หรือชาวพม่าที่รอดชีวิตไว้เป็นพยานเพื่อสืบสวนขยายผลต่อไป อย่างไรก็ตาม มีการหารือถึงความเป็นไปได้ที่นำคดีดังกล่าวเข้าเป็นคดีพิเศษด้วย แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งหากมีการโอนมาเป็นคดีพิเศษ ดีเอสไอจะตั้งตำรวจชั้นผู้ใหญ่เป็นหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวน เพื่อทำงานร่วมกันระหว่างดีเอสไอกับตำรวจภูธรภาค 8

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ดีเอสไอได้เสนอให้ความผิดตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ เป็นคดีพิเศษเพิ่มเติมบัญชีท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้ดีเอสไอมีอำนาจหน้าที่ทำคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ได้ทันที ไม่ต้องรอเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการสืบสวนสอบสวนทำได้รวดเร็วทันเหตุการณ์ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีแรงงานพม่าหลบหนีเข้าเมือง ดีเอสไอ จะให้ตำรวจดำเนินการทางกฎหมายอาญา แต่ดีเอสไอจะต่อยอดสืบสวนสอบสวนเรื่องความผิดพ.ร.บ.การค้ามนุษย์

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวด้วยว่า ผู้แทนภาคเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ได้แยกให้เห็นถึงความแตกต่างของการค้ามนุษย์กับ การลักลอบนำแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งการค้ามนุษย์จะต้องมีการล่วงละเมิด หรือใช้กำลังประทุษร้าย ล่อลวง แต่การลักลอบเข้าเมือง เป็นลักษณะของการชักนำมาด้วยความเต็มใจ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งการค้ามนุษย์ มีกฎหมายรองรับแล้ว แต่การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน ซึ่งการประชุมวันนี้จะมีการต่อยอดการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากร่วมจัดทำข้อมูลเครือข่ายค้ามนุษย์หรือลักลอบนำแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายแล้ว อาจต้องมีมาตรการชะลอการส่งตัวแรงงานที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายและกันตัวเป็นพยาน

ขณะที่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ตนไม่ต้องการให้การเสียชีวิตของแรงงานพม่าครั้งนี้เป็นเพียงความผิดลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพราะแรงงานดังกล่าวถือเป็นเหยื่อที่ควรนำมาเป็นพยานสาวให้ถึงตัวผู้บงการ โดยหลังจากนี้ตนจะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่ยังมีชีวิตให้เป็นไปตามหลักมนุษยชนต่อไปด้วย
สภาพศพแรงงานพม่า 54 ศพ
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ โฆษกดีเอสไอ
กำลังโหลดความคิดเห็น