xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานเถื่อนดับอนาถ 54 ศพ ฝีมือนายทุนไทยพม่าค้ามนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต/ผู้จัดการรายวัน - ขบวนการลักลอบขนแรงงานเถื่อนเข้าเมืองทำงามหน้าประเทศไทย อัดแรงงานต่างด้าวชาวพม่ากว่า 120 คนใส่ในรถห้องเย็นบรรทุกปลาขาดอากาศหายใจตายคารถ 54 ศพ รอดหวุดหวิด 67 คน ในระหว่างขนแรงงานเถื่อนไปส่งที่ภูเก็ต เปิดเส้นทางลำเลียงแรงงานพม่าเข้าระนองทำเป็นขบวนการ โดยนายทุนฝ่ายไทยกับพม่าร่วมมือกัน

เมื่อเวลาประมาณ 22.30 น.ของคืนวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อาสาสมัครหน่วยกู้ภัยมูลนิธิระนองสงเคราะห์ พร้อมแพทย์และพยาบาลโรงบาลสุขสำราญ และโรงพยาบาลกะเปอร์ ใน จ.ระนอง ได้ช่วยกันลำเลียงศพแรงงานต่างด้าวชาวพม่าที่หลบหนีเข้าเมืองลงจากรถสิบล้อห้องเย็นบรรทุกอาหารทะเลสด หมายเลขทะเบียนระนอง 70-0619 ซึ่งจอดทิ้งไว้ที่ชายป่าละเมาะริม ถ.เพชรเกษม ม.3 ต.นาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง จำนวนรวม 54 ศพ เป็นชาย 17 ศพ หญิง 37 ศพ ผลการชันสูตรศพจากโรงพยาบาลสุขสำราญ ระบุว่า แต่ละศพนิ้วมือนิ้วเท้าเกร็ง เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ มีผู้รอดชีวิตมาได้ 67 คน

จากการสอบสวนพบว่า ก่อนเกิดเหตุรถบรรทุกคันดังกล่าวบรรทุกชาวพม่าอัดแน่นมาในตู้ห้องเย็นเต็มคันรถจำนวน 121 คน พร้อมกระเป๋าสัมภาระแล้วใส่กลอนประตูรถปิดล็อคจากด้านนอก โดยออกเดินทางจากแพปลาแห่งหนึ่งในย่านสะพานปลาระนอง เพื่อลักลอบเดินทางไปยัง จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต

เมื่อถึงที่เกิดเหตุคนขับได้ยินเสียงเคาะดังสนั่นเพราะคนที่อยู่ข้างในขาดอากาศหายใจ จึงจอดรถในซอยริมป่าละเมาะแล้วลงมาเมื่อเปิดประตูตู้ห้องเย็นรถออกมา พบว่า ผู้ที่อยู่ในรถนอนตายอยู่จำนวนมาก ขณะที่บางส่วนกำลังดิ้นทุรนทุราย คนขับรถจึงหลบหนีแต่เสียบกุญแจคาไว้จนมีคนมาพบเห็นและแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือ ก่อนนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล 21 คน ที่เหลือ 46 คน ถูกควบคุมตัวที่ สภ.อ.สุขสำราญ ผู้รอดชีวิตทั้งหมดเจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ในขณะที่ผู้เสียชีวิตทั้งหมดทางมูลนิธิระนองสงเคราะห์ได้นำไปฝังที่สุสานหินดาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เส้นทางลำเลียงแรงงานพม่าเข้าระนอง

แหล่งข่าวในพื้นที่ จ.ระนองรายหนึ่ง เปิดเผยถึงเส้นทางการลักลอบนำเข้าแรงงานพม่าทางด้าน จ.ระนอง ว่า การลักลอบนำเข้าแรงงานพม่าเข้ามาในไทยผ่านทาง จ.ระนองนั้น เป็นการดำเนินการที่เป็นขบวนการระหว่างนายหน้าค้าแรงงานในฝั่งพม่ากับนายหน้าค้าแรงงานในฝั่งไทย โดยฝ่ายแรกจะเป็นผู้รวบรวมชาวพม่าที่ต้องการเข้ามาทำงานในฝั่งไทย ตามจำนวนที่นายหน้าฝั่งไทยระบุ โดยใช้จังหวัดเกาะสองของพม่าเป็นจุดในการรวบรวมแรงงาน

หากเป็นกลุ่มคนเชื้อชาติโรฮิงญาจะรวบกลุ่มไว้ที่บ้านอ่าวบ่า ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมในเกาะสอง ในฝั่งประเทศพม่าตรงกันข้ามกับ จ.ระนอง แต่หากเป็นชาวพม่าทั่วไปที่มาจากเมืองทวาย มะริด เมาะลำไย และเมืองอื่นๆ ก็จะรวมตัวที่ชุมชนต่างๆ ในเกาะสอง หรือบางครั้งหากเป็นกลุ่มแรงงานที่อยู่ห่างจากเกาะสองมาก เช่น กลุ่มโรฮิงญา ก็จะไม่มาพักที่เกาะสอง แต่นายหน้าจะจัดส่งมาโดยตรงจากเมืองนั้นเลย โดยใช้เรือประมงดัดแปลงที่มักเดินทางเข้ามาในช่วงที่ทะเลไม่มีมรสุมคลื่นแรง

เมื่อนายหน้าค้าฝั่งพม่าสามารถรวบรวมแรงงานได้จำนวนตามต้องการของนายหน้าในฝั่งไทยแล้ว ก็จะประสานงานเพื่อนัดแนะลักลอบเข้ามาในฝั่งระนอง โดยการลำเลียงจะมีทั้งนั่งเรือข้ามฝากหรือเดินข้ามฝั่งเข้ามาในช่วงที่น้ำในแม่น้ำกระบุรีลดลง

อย่างไรก็ตาม วิธีการที่ใช้มากที่สุด คือ การลำเลียงมากับเรือประมงดัดแปลง ซึ่งจะมาเป็นกลุ่มๆ ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยส่งขึ้นฝั่งตามจุดต่างๆ ที่เห็นว่าปลอดจากการตรวจตราของเจ้าหน้าที่เพื่อมาพักไว้ ก่อนจะส่งต่อโดยรถยนต์ไปสู่จังหวัดปลายทาง ซึ่งหากอยู่ไม่ไกลจากระนองมากนักจะจัดส่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 5 – 20 คน แต่หากอยู่ไกลหน่อยก็จะส่งเป็นกลุ่มใหญ่

แหล่งข่าวคนดังกล่าว เผยอีกว่า จังหวัดปลายทางส่วนใหญ่จะได้แก่ มหาชัย (สมุทรสงคราม) เพื่อเข้ามาเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ในขณะที่ภูเก็ต พังงา กระบี่ และกรุงเทพฯ ก็เข้ามาทำงานก่อสร้าง ลูกเรือประมง รับจ้างในสวนยางพาราและสวนปาล์ม เป็นต้น มีบ้างบางครั้งที่เดินทางไปไกลถึงมาเลเซีย

แหล่งข่าวระบุว่า ค่าตอบแทนของนายหน้าจะมีราคาไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับจำนวนและระยะทางในการลำเลียงส่ง รวมทั้งความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ หากเป็นพื้นที่ใกล้จะตกอย่างต่ำที่หัวละ 3,000 บาท หากเดินทางไปไกลถึงมาเลเซียก็อาจมีค่าตอบแทนถึงหัวละ 20,000 บาท ในส่วนนายหน้าที่เป็นคนไทยหลายรายเป็นคนใน จ.ระนอง จะมีคนนอกพื้นที่บ้างก็จากภูเก็ต ชุมพร และกระบี่

นายอดิศร เกิดมงคล คณะทำงานเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติ กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของแรงงานต่างด้าวชาวพม่าว่า การเสียชีวิตในลักษณะเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีประมาณ 5 – 6 ครั้งที่คล้ายคลึงกัน เช่นการหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่จนเกิดอุบัติเหตุ ยังไม่นับรวมกรณีที่ไม่เป็นข่าว ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก กรณีที่ใกล้เคียงกันคือการเสียชีวิตของแรงงานจีนในตู้คอนเทนเนอร์ที่กรุงลอนดอนเมื่อประมาณสองปีก่อน

เขากล่าวต่อว่า เหตุการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการจัดการแรงงานข้ามชาติของประเทศไทยโดยรวมและเป็นผลมาจากนโยบายที่ต้องการจำกัดแรงงานต่างด้าว ทำให้หลายคนต้องเดินทางเข้ามาทำงานด้วยช่องทางที่ผิดกฎหมาย เป็นข้อพิสูจน์ว่านโยบายการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวยังมีข้อจำกัดที่ไม่เอื้อต่อวงจรการย้ายถิ่นของแรงงานเหล่านี้ ความพยายามจำกัดจำนวนแรงงานต่างด้าว โดยที่ในปีนี้จะขึ้นทะเบียนให้กับคนที่เคยขึ้นทะเบียนมาตั้งแต่ปีที่แล้วเท่านั้น ทำให้คนใหม่ไม่สามารถเข้ามาได้อย่างถูกกฎหมาย การลักลอบจึงยังคงมีอยู่

“ในกรณีของแรงงานพม่า เมื่อเริ่มเข้าหน้าแล้งภาคเกษตรก็จะไม่ทำงาน กองกำลังต่างๆ ก็เริ่มรบกัน ทำให้มีความพยายามเดินทางออกจากบ้านมาเพื่อหางานทำ แต่บังเอิญที่มาตรการควบคุมในประเทศไทยเริ่มเข้มมากขึ้น จึงทำให้การเดินทางลักษณะแปลกๆ มากขึ้น” เขากล่าว

นายอดิศร ระบุว่า นโยบายที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ เนื่องจากวิธีคิดที่ภาครัฐมองว่าจะต้องจำกัดแรงงานโดยไม่เข้าใจวงจรการย้ายถิ่นของแรงงานเหล่านี้ ซึ่งจะเดินทางเข้ามาหางานในบางช่วงเวลาและปัญหาภายในประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีการสู้รบ แม้จะสกัดกั้นเพียงใดก็ยังมีคนพยายามจะเดินทางออกมาหางานทำอยู่ดี

ส่วนข้อเสนอในทางนโยบาย หากไม่นับการพยายามเข้าใจปรากฏการณ์การย้ายถิ่นฐานของแรงงานโดยไม่มองว่าเป็นปัญหาแล้ว นายอดิศร กล่าวว่า รัฐจะต้องจัดกลไกในการเข้าถึงการจ้างงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งอาจเปิดศูนย์รองรับการจ้างงาน ตลอดจนคำนึงถึงการสร้างงานในพื้นที่ชายแดน ซึ่งจะช่วยให้การเคลื่อนย้ายแรงงานเหล่านี้เป็นไปโดยไม่ถูกแสวงหาผลประโยชน์เหมือนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การแสวงหาประโยชน์จากกระบวนการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติก็มีการทำเป็นขบวนการและมีพัฒนาการไปพร้อมๆ กับมาตรการของภาครัฐในการควบคุมที่เข้มขึ้น ในรอบสิบปีที่ผ่านมาจึงเกิดการหาประโยชน์จากการทำบัตรแรงงานต่างด้าวปลอม อำนวยความสะดวกทั้งในการขนส่งไปกลับและการเปลี่ยนฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าว ด้วยลักษณะงานที่ผิดกฎหมายนี่เองจึงสามารถทำรายได้ไม่น้อยให้กับเครือข่ายของคนนำทาง เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน และนายหน้าจัดหางาน

ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทยกล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีข้าราชการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวตามที่มีรายงาน อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้ผู้ว่าฯ ทำความจริงให้ปรากฏ เพราะอาจจะส่งผลกระทบในประเด็นสิทธิมนุษยชนได้ ท้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเพราะเมื่อลักลอบกันเข้ามาแล้ว แต่กลัวว่าเจ้าหน้าที่จะตรวจพบเลยเก็บไว้ในตู้ที่ไม่มีอากาศหายใจและพื้นที่ก็คับแคบ

“เป็นนโยบายหนึ่งที่จะดำเนินการ แต่ถ้าไปตรวจสอบเคร่งครัดมากก็จะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมได้ ในส่วนของจังหวัด สมุทรปราการ สมุทรสาคร ระนอง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงมหาดไทย ถ้าเราไปดูแล เคร่งครัดมากเกินไปก็จะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมทำให้ไม่มีแรงงาน แต่ถ้าเราปล่อยประละเลย ก็อาจจะทำให้มีผลกระทบต่อความมั่นคง ตอนนี้ผมได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ให้ศึกษาที่สหรัฐอเมริกาว่ามีการดำเนินการอย่างไร เพื่อที่จะนำมาใช้และจะได้ไม่มีผลกระทบต่อแรงงาน”รมว.มหาดไทย กล่าว

นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับ จ.ภูเก็ตนั้นในการตรวจสอบจับกุมแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีแรงงานต่างด้าวอีกจำนวนมากที่พยายามจะเดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่ ในส่วนของนายจ้างเองก็มีความต้องการที่จะใช้แรงงานในกิจการต่างๆ จำนวนมาก แต่ไม่มีแรงงานไทยเข้ามารองรับ จึงมีการพยายามที่จะลักลอบนำแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการจับกุมโดยตลอด

“หลังจากนี้จะมีการตรวจสอบการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างเข้มงวดมากขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของตำรวจภูธร และ ตร.ตม.ที่จะต้องช่วยกันดำเนินการปราบปรามอย่างเข้มงวดส่วนการลับลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้ามาในพื้นที่นั้นได้มีการประสานขอความร่วมมือไปยังจังหวัดต้นทางและจังหวัดที่เป็นทางผ่านในการสกัดกั้นและให้ข้อมูลทางด้านการข่าว คิดว่าการปฏิงานอย่างเข้มงวดและเข้มข้นน่าจะสามารถสกัดกั้นไม่ให้มีการลักลอบนำแรงงานเถื่อนเข้ามาในพื้นที่ได้”

กระทรวงแรงงานเร่งติดตาม

นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดระนอง รายงานว่าได้มีการนำแรงงานพม่าหลบหนีมาจากจังหวัดเกาะสอง ประเทศพม่า โดยรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0619 ระนอง ซึ่งมีชื่อบริษัทติดข้างตัวรถว่า “บ.รุ่งเรืองทรัพย์” ขณะเดินทาง เครื่องปรับอากาศภายในตู้เย็นคอนเทนเนอร์เกิดขัดข้อง ประกอบกับแรงงานทั้งหมดยืนเบียดเสียดกันเป็นระยะทางไกล ทำให้ขาดอากาศหายใจ โดยจากการตรวจสอบ พบแรงงานพม่า รวมทั้งสิ้น 121 คน แยกเป็นผู้เสียชีวิต 54 คน บาดเจ็บสาหัส 21 คน และไม่ได้รับอันตรายใดๆ 46 คน

“กระทรวงแรงงานได้ประสานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (TBC) ฝ่ายไทยให้ประสานแจ้งคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (TBC) ฝ่ายพม่า ทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และได้ประสานแจ้งญาติให้เดินทางมาตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล และนำศพไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว อีกทั้งได้กำชับให้ฝ่ายปกครองและตำรวจสืบสวน ขยายผล เพื่อนำตัวผู้เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนในการกระทำผิดครั้งนี้มาลงโทษตามกฎหมายโดยเร็ว”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น