กรมควบคุมโรค เผย ผู้ป่วยเอดส์ดื้อยาเพิ่ม เหตุเชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมตามธรรมชาติ ผู้ป่วยกินยาไม่ต่อเนื่อง ไม่เกี่ยวกับคุณภาพยา และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสูตรดื้อยาใหม่ มั่นใจยังคุมได้ เตรียมทำบริการเชิงรุกดึงผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษาต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ นพ.สมชัย ภิญโญพรพานิชย์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลให้แก่หน่วยงานที่ดำเนินการได้ดีเด่นในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทย ในด้านการชักจูงใจให้ผู้สงสัยว่าติดเชื้อเอชไอวีมาตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีโดยเร็วและสมัครใจ รวมทั้งให้มีการรักษาและติดตามให้ผู้ป่วยรับประทานยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ครบทุกเม็ด ตรงตามเวลา เพื่อป้องกันการดื้อยาว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยเอดส์ได้รับยาต้านไวรัสในระบบบริการสุขภาพกว่า 100,000 ราย ซึ่งช่วยลดอัตราการตาย ผู้ป่วยมีระดับภูมิคุ้มกันปกติ ไม่มีภาวะการแพร่กระจายของเชื้อ ลดอัตราป่วยด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาส แต่ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ มากกว่าร้อยละ 95 ของจำนวนยาที่หมอสั่งให้รับประทานทั้งหมดจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุดไม่เกิดภาวะการดื้อยา
นพ.สมชัย กล่าวต่อว่า จากการสำรวจในผู้ป่วยที่ไม่เคยรับยาต้านไวรัสก่อนเริ่มการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ในปี 2549 พบว่า เชื้อเอชไอวีดื้อยาต้านไวรัสอย่างน้อย 1 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 4.8 และพบว่า มีการดื้อต่อยาต้านไวรัสในสูตรพื้นฐานที่ใช้ในประเทศไทยเป็น ร้อยละ 1.9 และเพิ่มเป็น ร้อยละ 2.5 และการสำรวจในปี 2550 เป็นการติดตามผลการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านไวรัสไปแล้ว 6 เดือน พบว่า อัตราความล้มเหลวของการรักษาคิดเป็นร้อยละ 10.5, 11.3 และ 12.2 หลังเริ่มการรักษาที่ 6 เดือน, 1 ปี และ 1 ปีครึ่งตามลำดับ และพบอุบัติการณ์การเกิดเชื้อเอชไอวีดื้อยาคิดเป็น ร้อยละ 1.80, 1.14 และ 1.18 ในเดือนที่ 6, 1 ปี และ 1 ปีครึ่ง หลังการรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ตามลำดับ
นพ.สมชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สาเหตุของความล้มเหลวในการรักษายาต้านไวรัสเพิ่มขึ้น เกิดจากเชื้อเอชไอวี เป็นเชื้อไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติทำให้ดื้อต่อยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาได้ รวมถึงการรับประทานยาไม่ต่อเนื่อง สม่ำเสมอส่งผลให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลง ซึ่งปกติผู้ป่วยมักจะเกิดภาวะดื้อยาสูงจนต้องเปลี่ยนสูตรยาต้านไวรัสอยู่ในระหว่าง 5-10 ปี หลังได้รับยาต้านไวรัส ซึ่งสถานการณ์ของประเทศไทย
“กรณีที่เคยมีการร้องเรียนว่า ผู้ป่วยเกิดการดื้อยามากขึ้น จนต้องเปลี่ยนสูตรยาใหม่นั้น ถือว่าไม่จริง เพราะขณะนี้สถานการณ์การดื้อยายังไม่รุนแรงมากพอที่จะต้องเปลี่ยนสูตรยาใหม่ และอาการดื้อยาที่เกิดขึ้นก็แค่เปลี่ยนยาเพียง 1-2 ตัวเท่านั้น ไม่ถึงกับเปลี่ยนสูตรยาทั้งหมด และยืนยันว่ายาจีพีโอเวียร์เป็นยาที่มีคุณภาพ ปกติหากมีการกินยาก็จะเกิดการดื้อยา ภายใน 5-10 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทยาต่างชาติออมาปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ประกอบกับการประกาศบังคับใช้สิทธิเหมือนสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) ยาต้านไวรัสเอดส์ 2 รายการ ทำให้สะเทือนกับบริษัทยาต้นตำรับ เพราะขณะนี้มีหลายประเทศได้สอบถามและมาศึกษาแนวทางการทำซีแอลจากไทยหลายประเทศแล้ว ทั้งนี้ ยืนยันว่าการทำซีแอลมีความจำเป็นกับประเทศที่ไม่สามารถทุ่มเงินมหาศาลเพื่อการพัฒนาการผลิตยาได้ แต่ต้องใช้ให้ถูกต้อง ถูกเวลา” นพ.สมชัย กล่าว