xs
xsm
sm
md
lg

ความหิว-ปรมโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต่อไปนี้จะได้แสดงธรรมมิกถา พรรณนาคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าด้วยธรรม ๒ อย่าง คือ ความหิว กับ สังขาร เป็นปรมทุกข์อย่างยิ่ง ธรรม ๒ อย่าง ที่ว่านั้นมิใช่เป็นธรรมธรรมดา แต่เป็นธรรมยิ่งใหญ่ คือ หิวก็ยิ่ง สังขารก็ยิ่ง ยิ่งถึงที่สุดทั้งสอง
ความหิว กับ ความอยาก มันผิดกัน ขอให้สังเกตดู ทุกๆ คนคงได้ประสบความหิวมาแล้ว อาการของความหิวมันให้โหยละเหี่ยใจ ใครถูกเข้าแล้วจึงจะรู้ได้ ส่วนการอยาก มันอยากนั่นอยากนี่ เช่น อยากรับประทานข้าว (กิน) ขนม กาแฟ เหล้า เป็นต้น พูดกันง่ายๆ ว่าธาตุร่างกายมันบกพร่องอะไร มันก็ต้องการอันนั้น เมื่อมันบกพร่องมากเข้า เห็นอะไรก็ อยากทั้งนั้น ไม่ทราบว่าของนั้นจะอร่อยหรือไม่ ส่วนความ หิวก็เป็นเรื่องของร่างกายบกพร่อง สิ่งที่ต้องการเหมือนกัน แต่มันขาดเครื่องรับ ผู้รับไม่สมบูรณ์จนไม่ยอมรับ เหตุนั้นจึงไม่อยาก
ข้อที่ ๑ ว่า ความหิวเป็นปรมโรคนั้น เพราะจะบำบัดให้ หายหิวด้วยอาหารหรือยาอะไรในระยะอันสั้นไม่ได้ ต้องบำรุงสิ่งที่มันขาด เช่น ขาดธาตุเหล็ก วิตามิน เป็นต้น ก็ต้อง บำรุงส่วนนั้นตั้งนานๆ วัน จึงจะสมบูรณ์ขึ้นมา บางทีบำรุงเท่าไรๆก็ไม่สมบูรณ์คืนมาก็มี ไม่เหมือนความอยาก ซึ่งอยาก ขึ้นมาเมื่อรับประทานลงไปก็หายอยาก
ความเป็นโรคเฉพาะร่างกายก็รักษายากอยู่แล้ว ทีนี้ ความหิวของใจยิ่งเป็นโรคอย่างร้ายแรงมากกว่าความหิวส่วนร่างกาย โรคที่ว่านี้หมอทั้งหลายพิสูจน์ไม่ได้ เมื่อพิสูจน์ไม่ได้แล้วยาก็ไม่ต้องพูดถึง
ใจหิวได้อย่างไร เพราะใจเป็นนามธรรมไม่มีรูปมีร่าง ใจเป็นนามธรรมก็หิวนามธรรมพวกเดียวกัน คือ หิวลมๆ แล้งๆ หิวไม่มีที่อิ่มที่พอ ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ แล้ว จิตที่วุ่นวายส่ายหาอารมณ์ไม่มีที่สิ้นสุดลงได้นั้นแล เรียกว่าความหิวของจิต จะเป็นรูปที่ปรากฏในตา หรือเสียงที่ปรากฏในหู เป็นต้น ใจไปรับมาเสวยแล้วไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ มีมากเท่าไรก็ยังส่ายหาอยู่ เรียกว่ายังพร่องอยู่เป็นนิตย์ อาหารหรือ ยาเอามาบำบัดความหิวของร่างกายเพราะมันพร่องก็ยังหายได้บางกรณี ส่วนความหิวของจิตนี้เป็นของสุดวิสัยที่ใครๆ จะบำบัดให้หายได้ จึงเรียกว่าเป็นปรมโรค
ข้อที่ ๒ ว่า สังขารเป็นปรมทุกข์อย่างยิ่ง อธิบายว่าสังขารมี ๒ อย่าง คือสังขาร ได้แก่ รูปกายของแต่ละคนๆ นี้ ๑ สังขาร คือ เจตสิกอาการของจิต ที่คิดนึกปรุงแต่งโน่นนี่ต่างๆ ๑ ทั้งสองนี้เป็นทุกข์ได้เท่าๆ กัน ต่างแต่ทุกข์รูปกายเป็นของ หยาบและเยียวยาด้วยวัตถุบางอย่างก็หายได้ บางอย่างก็ไม่รู้จักหาย เช่น ทุกข์ในการแสวงหาอาหารมาหล่อเลี้ยงร่างกาย และทุกข์ในอิริยาบถทั้งสี่ เป็นต้น การแตกดับตาย ของร่างกายเป็นความสิ้นสุดทุกข์ของสังขารรูป
ความไม่สงบของจิต มีอาการให้คิดนึก ปรุงแต่ง กระสับกระส่ายเดือดร้อน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ กลุ้มอกกลุ้มใจใน เมื่อได้ประสบอารมณ์อันไม่เป็นที่พึงพอใจปรารถนา เช่น เจ็บไข้ได้ป่วยออดๆ แอดๆ เป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่รู้จักหาย เงินค่ายาก็ไม่มี ตัวเราคนหนึ่งแล้วยังไม่พอ แถมบุตร ภรรยา สามี ญาติมิตร มารดา บิดาอีกด้วย นอกจากนี้ยังอาจถูกกระทบกระทั่งด้วยถ้อยคำเหยียดหยามดูถูกอันเป็นที่ไม่พึงพอใจ หรือได้พลัดพรากจากของรักของชอบใจ ปรารถนา อันใดก็ไม่สมหวัง ตั้งจิตคิดปรุงแต่งไว้มันพลาดไปเสียทุกสิ่ง ทุกอย่าง เหล่านี้ล้วนแต่เป็นทุกข์ของสังขารจิต ซึ่งไม่มีใครจะรู้เห็นด้วยว่าทุกข์เหล่านี้ตั้งอยู่ตรงไหนมากน้อยเท่าไร จะรักษาเยียวยาด้วยประการใด ซึ่งเป็นของสุดวิสัยของแพทย์ ทั้งหลาย ความหิวและความทุกข์ทางร่างกายย่อมมีขึ้นได้ใน เมื่อรูปกายอันนี้ตั้งขึ้นแล้ว สิ้นความหิวและทุกข์เพียง แค่มันแตกดับลงเท่านั้น ส่วนความทุกข์ของจิตใจนี้หาประมาณมิได้
เมื่อร่างกายยังมีอยู่ ความหิวและความทุกข์ของตนเองก็แย่อยู่แล้ว ยังแถมทุกข์ที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องด้วยรูปกายอื่นอีกโสดหนึ่งด้วย จึงเรียกว่ามีทุกข์ ๒ ชั้น เมื่อร่างกายแตกดับไปแล้วยังเหลือความหิวและทุกข์อยู่เฉพาะจิตคนเดียว ความหิวและทุกข์ของจิตนี้ จะระงับบรรเทาลงได้ด้วย ยา คือ ธรรมโอส ของนายแพทย์ผู้วิเศษคือพระพุทธเจ้าเท่านั้น ด้วยการนำเอาคำสอนของพระองค์ท่านเข้ามาพิจารณาให้เห็นว่า สังขารจิตคือความนึกคิดปรุงแต่งเป็นตัวมารร้าย เป็นภัยอันตรายแก่ความสงบของจิต ทั้งเป็นพิษ อย่างร้ายแรงแก่จิตใจตลอดภพชาติด้วย แล้วพึงหันเข้ามาหยิบยกเอาอุบายฝึกหัดสมถะที่พระพุทธองค์แนะไว้อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาอบรมใจให้อยู่ในความสงบ
ในที่นี้จะยกเอาอุบายพิจารณารูปกายให้เห็นเป็นสักแต่ว่าเป็นธาตุ ๔ มาเป็นตัวอย่าง คือ รูปกายของคนเราที่ปรากฏ เป็นตนเป็นตัวอยู่นี้ มีของ ๔ อย่างประชุมกันเข้าแล้วจึงปรากฏเป็นตัวตน ธาตุ ๔ นั้นได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ
สิ่งที่มันเข้มข้นแข็งซึ่งมีอยู่ในตัวของเราทั้งหมดนี้ เช่น ผม ขน เล็บ เป็นต้น เรียกว่า ธาตุดิน สิ่งที่เหลวๆ เรียกว่า ธาตุน้ำ อาการอบอุ่นซึ่งมีอยู่ในตัวของเรานั้นเรียกว่า ธาตุไฟ อาการที่พัดไปมาพัดขึ้นพัดลงและระบายออกระบายเข้าอยู่ตลอดเวลาทางช่องจมูกนั้น เรียกว่า ธาตุลม ธาตุทั้ง ๔ นี้ย่อมหนุนดันกันไปมาอาศัยซึ่งกันและกัน แล้วก็ยังอัตภาพอันนี้ให้เป็นไป ถ้าธาตุทั้ง ๔ นี้ขาดสัมพันธ์กันสลายตัวออก จากกันแล้ว รูปกายอันนี้ก็แตกดับ ที่เรียกว่าตาย รูปกายซึ่ง มิใช่ของใคร เป็นอนัตตาของเขาปรุงแต่งกันขึ้นมาตามสภาพ บุญกรรมของเขา แล้วเราเข้ามาอยู่อาศัยเขาแท้ๆ ที่เรายึดถือ ว่าเป็นเรา เป็นของของเรานั้น เป็นเพราะความหลง ไม่รู้เท่าเข้าใจตามเป็นจริงต่างหาก
จิตก็เช่นเดียวกัน ที่เรียกว่า สังขาร คือความคิดนึกปรุง แต่งในอารมณ์ต่างๆ นั้นก็เป็นแต่เพียงสักว่าอาการของจิต หากมีสภาพอาการอย่างนั้นของมัน ถ้าเราไม่ไปยึดเอาเรื่องของมันไว้ในใจของเราแล้ว มันก็ไม่สามารถจะนำทุกข์มาให้แก่เราได้ เหมือนกับไฟกองน้อยไหม้หมดเชื้อแล้วก็ดับลงในที่นั้นเอง ถ้าเราเข้าไปยึดถือก็เท่ากับเราเข้าไปสนับสนุน แล้วจะประดังทุกข์มาให้แก่เราคนเดียว ความย่อยยับมีแก่เราฝ่ายเดียว
การหยิบยกเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าขึ้นมาพิจารณาดังอธิบายข้างต้นนั้น ก็จะเป็นเครื่องบรรเทาความหิวและความทุกข์ของกายและจิตได้ เพราะรู้สภาพของ กายและจิตตามเป็นจริงของมัน โรคอันเกิดจากความหิวก็ดี ทุกข์อันเกิดจากสังขารก็ดี เป็นของประจำโลก เรื้อรังมานาน แล้ว ของอะไรก็ตาม เช่น โรคเกิดขึ้นที่ร่างกาย เมื่อเรื้อรังมา นานแล้ว ถึงแม้ยาดีก็ยากที่จะรักษาให้หายได้ในระยะอันสั้น ความหิวและความทุกข์ดังที่ว่านี้ ก็เหมือนกับได้ธรรมโอสถอันเป็นของศักดิ์สิทธิ์ดีเลิศ สามารถระงับความหิวคือกิเลส อันเป็นเหตุให้หลงยึดในอุปาทานขันธ์ เกิด สังขารา ปรมา ทุกขา
เมื่อรักษาหายแล้วสิ้นทุกข์ทั้งปวงได้ก็ตาม แต่ก็ต้องพยายามรับประทานยาคือพิจารณาบ่อยๆ ให้ชำนาญ จนเห็นความหิวเป็นตัวการ อุปาทานเป็นตัวกิเลส เห็นมีอยู่ทุก เพศทุกวัย เห็นเป็นภัยร้ายแก่พลโลก เห็นทุกข์ของสังขารเป็นการประจานหน้าคนโง่ หลงเข้าไปถือเอาทุกข์ของเขามาเป็นของเราอย่างน่าบัดสี ทุกข์เพราะความโลภ เอาทุกข์ของสังขารที่มีอยู่ภายในและภายนอกมาเป็นของตัวแท้ เพราะความโกรธอันเกิดจากความไม่พอใจในทุกข์อันเกิดขึ้นที่สังขาร เพราะความหลงเอาทุกข์ของเขาคือทุกข์ของสังขารมาเป็นทุกข์ตัว เมื่อพิจารณาบ่อยๆ เห็นชัดรู้แจ้งตามความเป็นจริงดังนี้แล้ว
อุปาทาเน ภยํ ทิสฺวา ชาติมรณสมฺภเว
ได้ชื่อว่าเห็นภัยในอุปทานขันธ์ ปล่อยวางทุกข์ในสังขาร ไม่เอามาถือไว้เป็นของตน แล้วความเกิดและความตายของ สังขารก็จบสิ้นลงเพียงแค่นั้น
โรคอันเกิดแต่ความหิวก็ดี โรคความหิวก็ดี ทุกข์อันเกิด จากสังขารก็ดี สังขารทุกข์ก็ดี เป็นอันว่าสบกับยาธรรมโอสถ หายได้เด็ดขาดแล้ว เพราะธรรมโอสถ ความหิวและความทุกข์ทั้งหลายเป็นอันว่าไม่มีอีกต่อไปแล้ว จึงสมกับพุทธพจน์ ที่ตรัสชมเชยไว้ในตอนนี้ว่า อโรคฺยาปรมา ลาภา ความไม่มีโรคเป็นปรมลาภอย่างยิ่ง สมจริงทุกประการ โรคคือความเสียดแทงจะเสียดแทงร่างกายด้วยความเจ็บไข้ได้ป่วยใดๆ หรือเกิดจากเหตุภายนอก มีถูกขวากหนามทิ่มแทง แมลงสัตว์กัดต่อยก็ตาม โรคคือกิเลสมันทิ่มแทง ด้วยความวิตกกังวล กระสับกระส่าย เดือดร้อนด้วยอาการต่างๆ ก็ดี หรือมันทำให้เจ็บช้ำปวดร้าวในหัวใจจนไม่มีความสุขก็ดี เหล่านี้ เมื่อมันหายได้ด้วยสรรพคุณของยาวิเศษ อันยาอื่นไม่สามารถรักษาให้หายได้แล้ว จะไม่เป็นลาภอย่างยิ่งได้อย่างไร
ฉะนั้น เมื่อพวกเราทุกๆ คนมีโรคเรื้อรังอยู่มานานแล้ว จงอย่าได้พากันมัวเมาหลงเข้าใจว่าเราเป็นคนดีมีสุข จงพากันมารับประทานยาขนานเอก ซึ่งพระพุทธเจ้าของเราได้เสกเป่าไว้ดีแล้ว มิใช่เพื่อระงับเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการดับความหิวและทุกข์ได้โดยสิ้นเชิงด้วย

(แสดงธรรม ณ วัดเจริญสมณกิจ จ.ภูเก็ต วันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 89 เม.ย. 51 โดยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)
กำลังโหลดความคิดเห็น