หมอเตือนภัยร้ายโรคหนังแข็ง ความผิดปกติใกล้ตัวที่คนมองข้าม ระบุพบมากในวัยทำงานเพศหญิงมากกว่าชายอัตรา 1 : 4 พร้อมแนะรักษาความอบอุ่นร่างกายป้องกันภัยร้ายคุกคาม
นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคหนังแข็งเป็นโรคที่พบไม่บ่อย แต่มีอาการเรื้อรัง ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด พบมากในวัยทำงาน อายุระหว่าง 30-40 ปี จากสถิติที่พบในประเทศตะวันตกประมาณ 1-2 ราย ต่อ 10,000 ประชากรในชุมชน
สำหรับสถิติของสถาบันโรคผิวหนังพบประมาณ ร้อยละ 0.2 ของผู้ป่วยโรคผิวหนังทั้งหมดที่เข้ารับการรักษา พบเพศหญิงมากกว่าเพศชายประมาณ 1:4
ลักษณะสำคัญของโรค คือ มีการสะสมของผังผืดเส้นใยคอลลาเจนมากผิดปกติที่บริเวณหนังแท้ และผนังหลอดเลือด ทำให้อวัยวะภายในร่างกายเกิดการแข็งและหนาตัว อาการของโรคมีได้หลายแบบขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยแบ่งเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ เกิดเฉพาะบริเวณผิวหนัง เกิดที่ผิวหนังร่วมกับอวัยวะภายใน และเกิดเฉพาะอวัยวะภายในโดยไม่มีอาการที่บริเวณผิวหนัง
ทั้งนี้ อาการแสดงที่บริเวณผิวหนัง ระยะแรกผิวหนังจะตึง บวม อาจสังเกตเห็นการอักเสบแดง ต่อมาชั้นหนังแท้จะหนาขึ้นทำให้ผิวหนังตึง หนา รอยย่นตามธรรมชาติหายไป เมื่อจับยกที่บริเวณผิวหนังจะดึงขึ้นลำบาก ใบหน้าของผู้ป่วยดูอ่อนกว่าวัย ตึง รอยตีนกาน้อยลง หรือหายไป แต่มีร่องผิวหนังรายรอบปาก ปากเล็ก จมูกแหลม อ้าปากกว้างลำบาก กลืนอาหารแข็งลำบาก มีจุดกระดำกระด่างที่ผิวหนัง
ถ้าอาการของโรคลุกลามถึงอวัยวะภายในก็จะทำให้อวัยวะนั้นๆ แข็งและทำงานผิดปกติ เช่น ถ้าเกิดที่หัวใจหรือปอด ผู้ป่วยก็จะหายใจลำบาก หัวใจถูกบีบรัด นอนราบไม่ได้ ถ้าเกิดที่ลำไส้จะพบว่าระบบการทำงานของลำไส้ผิดปกติ มีอาการท้องผูกหรือถ่ายเหลว เจ็บจุกยอดอก เรอมากผิดปกติหลังรับประทานอาหาร ถ้ามีอาการที่ไต ผู้ป่วยจะมีความดันสูง นอกจากนี้อาจมีอาการปวดข้อ ปลายมือปลายเท้าเขียวจากการขาดเลือด พบมากที่บริเวณ ข้อนิ้ว ข้อศอก
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการรักษาโรคหนังแข็งจะรักษาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ประกอบกับการให้ผู้ป่วยรับประทานยาซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์ต่างกัน เช่น เป็นยาลดการอักเสบ ยากดภูมิ ยาขยายหลอดเลือด ยาลดการสร้างเส้นใยคอลลาเจน ปัจจุบันมียาใหม่ที่อยู่ระหว่างการทดลอง เช่น ยาออกฤทธิ์ที่เซลล์ บุหลอดเลือด ยาที่ออกฤทธิ์สกัดกั้นการทำงานของเอนไซม์บางตัว ซึ่งพบว่าได้ผลดีและมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย สำหรับวิธีการดูแลและป้องกันตนเองเพื่อป้องกันการเกิดโรคหนังแข็ง คือ การรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
ส่วนผู้ที่เป็นโรคนี้ควรปฏิบัติตนตามหลักสุขบัญญัติ 10 ประการ เช่น การรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด การกินอาหารสุกสะอาดปราศจากสารอันตราย งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรรับประทานยาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ควรรายงานให้แพทย์ทราบเมื่อพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติจากที่เคยเป็น เพื่อให้แพทย์ทราบถึงการลุกลามของโรค และที่สำคัญควรรักษาปลายมือและปลายเท้าให้อบอุ่นอยู่เสมอเพื่อป้องกันการขาดเลือด