xs
xsm
sm
md
lg

หลักสูตร กศน.ใกล้คลอด หลังหลายฝ่ายชูมือสนับสนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลักสูตร กศน.เข้าใกล้ความจริง หลังรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 5 ครั้งทั่วประเทศ หลายฝ่ายเห็นด้วย แต่กังวลเรื่องการประเมินผลด้วย NT กศน.จะทำให้จบยาก โดยจะนำเอาความคิดเห็นที่ได้ไปปรับปรุงหลักสูตรขั้นพื้นฐานนอกระบบให้ดีขึ้น

นายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เปิดเผยว่า ตามที่ กศน.ได้จัดทำร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกระบบเพื่อนำมาใช้แทนหลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียน หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดย กศน.ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง จากผู้บริหารระดับจังหวัด อำเภอ เจ้าหน้าที่ ครู กศน. ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และหน่วยงานเครือข่ายทั่วประเทศ จำนวน 5 ครั้งทั่วประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างหลักสูตรดังกล่าว ที่กำหนดไว้ 5 สาระใหญ่ ได้แก่ ทักษะการเรียนรู้ ความรู้พื้นฐาน การประกอบอาชีพ ทักษะการดำเนินชีวิตและสาระการพัฒนาชุมชน และสังคม แต่เห็นว่าหลักสูตรควรยืดหยุ่นและครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยเลือกเรียนตามความพร้อมและความสนใจของผู้เรียน โดยต้องลงเรียนครบตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ ดังนี้ ระดับประถมศึกษา 48 หน่วยกิต ม.ต้น 56 หน่วยกิต และม.ปลาย 76 หน่วยกิต

นายสมบัติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในส่วนของการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อให้ได้คุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีทั้งผู้เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยที่จะให้คงอยู่ โดยผู้ที่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้เสนอให้ลดจำนวนชั่วโมงลงจากเดิม 100 ชั่วโมงทุกระดับ เป็นระดับประถม เหลือ 60 ชั่วโมง ม.ต้น 80 ชั่วโมง และ ม.ปลาย 100 ชั่วโมง พร้อมทั้งมีข้อเสนอให้ กำหนดระยะเวลาในการเรียนให้ชัดเจน เช่น ใช้เวลาเรียนตามหลักสูตรไม่เกิน 4 ปี เพื่อไม่ให้เป็นภาระในการดูแลของเจ้าหน้าที่ทะเบียน

“สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลมากที่สุด คือการจบหลักสูตร ที่จะต้องผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียน (Non-Formal Education Achievement Test) หรือ NT กศน. เพราะเกรงว่าถ้าจะต้องผ่านการประเมินมาตรฐานจะทำให้นักศึกษาจบยาก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว กศน.จะได้นำมาประมวลข้อดี ข้อเสีย และความเป็นไปได้ในการประชุมปฏิบัติการของ กศน. เพื่อปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกระบบให้เหมาะสมยิ่งขึ้นก่อนที่จะประกาศใช้ต่อไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น