xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเจอวิกฤตดื้อยาปฏิชีวนะ เหตุใช้ยาเกินจำเป็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หมอชี้ไทยเจอวิกฤตดื้อยาปฏิชีวนะ เหตุใช้ยาเกินจำเป็น เผยมูลค่าการใช้สูงสุดของประเทศ 1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือ เกือบ 1 ใน 4 ของมูลค่ายาทั้งหมด จี้หมอเลิกจ่ายยาปฏิชีวนะ แก้เจ็บคอ เป็นหวัด ท้องร่วง เป็นแผล เพราะรักษาไม่ได้ผล มีฤทธิ์ฆ่าได้แต่แบคทีเรีย ไม่เกี่ยวกับไวรัส พร้อมให้ความรู้ประชาชนเลิกเชื่อผิดๆ กดดันให้หมอจ่ายยาให้

วันนี้ (19 มี.ค.) ที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มีการเสวนาเรื่อง “วิกฤตดื้อยา...ทางออกอยู่ตรงไหน” โดย ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการนำร่องเพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (Antibiotics Smart Use) กล่าวถึงสถานการณ์การดื้อยาปฏิชีวนะในประเทศไทย ว่า ขณะนี้ถือว่าประเทศไทยมีอัตราการดื้อยาสูงมาก และถือว่าเข้าขั้นวิกฤตในหมวดการใช้ยาทุกประเภท เนื่องจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม และความเข้าใจที่ผิดๆ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ เช่น เชื้อกลุ่มอีโคไล ทำให้เกิดท้องเดิน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีอัตราการการดื้อยา ร้อยละ 83 เชื้อกลุ่ม สเตฟฟิโลคอคคัส หนอง ฝี มีอัตราการดื้อยา 100% หรือ เชื้อกลุ่ม เคลปซิลเอลล่า ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ มีอัตราการดื้อยา ร้อยละ 99

ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กำลังศึกษาอัตราการดื้อยากลุ่มยาปฏิชีวนะ เนื่องจากเป็นยากลุ่มที่มีอัตราการนำเข้าประเทศสูงที่สุด ปี 2548 มีมูลค่านำเข้า 7,517 ล้านบาท จากมูลค่าการนำเข้ายาทั้งปี 38,257 ล้านบาท สูงที่สุดในกลุ่มยานำเข้าจากต่างประเทศ ยังไม่นับรวมการผลิตภายในประเทศที่สูงเป็น 2 เท่าของการนำเข้า ซึ่งปี 2549 พบว่ามีมูลค่าการใช้ยาทั้งประเทศ 76,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 30-40 ซึ่งสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีสัดส่วนการใช้ยาเพียง ร้อยละ 10-15 เท่านั้น ขณะที่ กลุ่มยาฆ่าเชื้อรวมถึงยาปฏิชีวนะมีมูลค่าการใช้สูงสุดของประเทศ ติดต่อกันมาทุกปี ประมาณ 16,000 ล้านบาทต่อปี หรือเกือบ 1 ใน 4 ของมูลค่ายาทั้งหมด

ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวอีกว่า หลักฐานเชิงประจักษ์ ทางการแพทย์ รายงานว่า ยาปฏิชีวนะ เป็นยาที่มีฤทธิ์ทำลายได้เฉพาะเชื้อแบคทีเรีย และไม่ออกฤทธิ์กับโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งโครงการศึกษานำร่องครั้งนี้เน้นรณรงค์ ให้แพทย์เลิกจ่ายยาปฏิชีวนะกับยา 3 กลุ่มโรค ที่มักพบว่า มีการจ่ายยาไม่เหมาะสม คือ ไข้หวัด เจ็บคอ ท้องร่วงเฉียบพลันและแผลเลือดออก ซึ่งร้อยละ 85 ของผู้ป่วย ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา เพราะเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งการใช้ยาไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดการดื้อยา และต้องเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มใหม่ ซึ่งจะมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องมีการรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

“ประชาชนส่วนมากยังมีความเข้าใจผิด ว่า หากมีอาการเจ็บคอ คอแดงๆ ต้องกินยาอักเสบ ทั้งที่จริงสามารถหายเองได้โดยการพักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ แต่กรณีที่คออักเสบมีตุ่มหนองขึ้นเท่านั้น ถึงจะใช้ยากลุ่มแก้อักเสบ เช่น Ampicillin และ Amoxicillin ซึ่งยากลุ่มนี้แม้จะออกผลกับแบคทีเรีย แต่การออกฤทธิ์ก็ไม่เหมือนกัน บางชนิดออกฤทธิ์กว้าง แต่กลับนำมารักษาแบบเฉพาะที่ ส่วนบางชนิดทีฤทธิ์แคบ แต่ถูกนำไปใช้เพื่อให้ออกฤทธิ์กว้าง ก็ไม่สามารถรักษาได้ แถมยังทำให้ต้องใช้ยาที่มีราคาแพงขึ้นเกินความจำเป็น ราคาถึง 48 บาทต่อเม็ด จากเดิมที่กินแค่ 40 บาทใน 10 วัน เท่านั้น และมีผลเสียคือทำให้เกิดการดื้อยา”ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าว

ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น แพทย์ส่วนใหญ่ทราบดีว่าเกิดผลกระทบต่อผู้ป่วย แต่ส่วนใหญ่ที่ต้องสั่งจ่ายยา เพราะเกิดแรงกดดันเนื่องจากผู้ป่วยต้องการยา และคาดหวังว่า จะได้ยาปฏิชีวนะ ในกรณีที่แพทย์ไม่สั่งจ่ายยาให้ ก็จะถูกต่อว่า ว่าเกิดจากระบบประกันสุขภาพทำให้ไม่ได้รับยา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดๆ ของคนไข้เอง ทำให้ส่งผลต่อระบบทั้งหมด อีกทั้งยังมีคนไข้อีกกลุ่มที่ซื้อยากินเองจากร้านขายยาได้แบบง่ายๆ ทั้งที่ในต่างประเทศ ผู้ป่วยจะไม่สามารถซื้อยากลุ่มปฏิชีวนะได้ในร้านขายยาทั่วไปถ้าไม่มีใบสั่งยาจากเภสัชกร

“ยาที่ใช้ไม่เหมาะสม มีเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ยาแก้ปวด ยาแก้ท้องเสีย ที่มีการผสมยาปฏิชีวนะถึง 4 ชนิดในเม็ดเดียว ทั้งที่ไม่จำเป็น ยาแก้สิว ที่ไม่จำเป็นต้องรับประทาน สามารถใช้ยาทาก็สามารถรักษาได้ ซึ่งสามารถลดอัตราการดื้อยาได้โดยการไม่ใช้ยาเกินความจำเป็น แต่หากเกิดอาการดื้อยาแล้วก็สามารถแก้ไขได้ โดยการไม่กินยานั้นอีก จนกว่าเชื้อแบคทีเรียจะลืมการดื้อยา ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี” ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าว

ด้าน ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า มีการทำโครงการนำร่อง เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม โดยเริ่มศึกษาที่ รพ.ชุมชน และสถานีอนามัย ใน จ.สระบุรี มีระยะเวลาศึกษา 1 ปี จะประเมินผลในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งผลการรณรงค์เบื้องต้นมีแนวโน้มที่ดี ซึ่งหลังจากจบโครงการนำร่องจะขยายผลไปยัง รพ.ภาครัฐ และเอกชน รวมทั้ง ร้านขายยาคุณภาพ ซึ่งปัญหาที่พบส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อคลาดเคลื่อนของบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการสั่งจ่ายยา รวมถึงความคลาดเคลื่อนในการวินิจฉัยโรค รวมถึงอุปกรณ์ในการวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะการวินิจฉัย คออักเสบ ที่มักใช้ไฟฉายที่มีไฟสีส้ม ทำให้คอเป็นสีแดงเสมอ ซึ่งการวินิจฉัยที่ถูกต้องควรต้องใช้ไฟสีขาว ส่องดูจะเห็นว่าคอแดงหรืออักเสบจริงหรือไม่ หรืออีกวิธีที่จะรณรงค์ในแพทย์ คือ การดูแลสุขภาพ หรือใช้ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย เช่น แคปซูล ฟ้าทะลายโจร หรือ ยาอมมะแว้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น