xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ชี้เชื้อ “ไข้กระต่าย” รุนแรงขั้นผลิตอาวุธชีวภาพได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อึ้ง! เชื้อโรค “ไข้กระต่าย” อยู่ในบัญชีผู้ก่อการร้ายนิยมนำไปผลิตอาวุธชีวภาพ ระบุ อาการคล้ายกับหลายโรค แยกแยะลำบาก ทำให้ขาดการระมัดระวังตัว เริ่มแรกเหมือนไข้หวัดใหญ่ อาจเกิดแผลอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองโต รุนแรงติดเชื้อทางกระแสเลือดทำให้เสียชีวิต สธ.เตรียมรายงานองค์การอนามัยโลกเป็นโรคอุบัติใหม่ที่พบในไทย เตือนนักนิยมเลี้ยงสัตว์นอกอย่าลักลอบนำเข้า เสี่ยงเป็นช่องทางแพร่เชื้อ

วันนี้ (17 มี.ค.) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงโรคทูลารีเมีย (Tularemia) หรือโรคไข้กระต่าย ที่ติดต่อจากสัตว์ฟันแทะ เช่น กระต่าย กระรอก และ หนู เป็นต้น ซึ่งพบผู้ป่วยและเสียชีวิตที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นรายแรกของประเทศไทย ว่า โรคทูลารีเมียเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ฟรานซิเซลล่า ทูลารีซิส (Francisella Tularensis) เดิมพบในสัตว์ป่าและติดต่อในหมู่สัตว์ป่าด้วยกัน แต่เมื่อคนนำสัตว์ป่า เช่น กระต่าย กระรอก มาเลี้ยงมากขึ้น ทำให้โรคนี้ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน โดยจัดเป็นโรคประจำถิ่นของทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป ที่สำคัญ เชื้อชนิดนี้เครือข่ายเฝ้าระวังการก่อการร้ายโลกขึ้นบัญชีเป็นเชื้อโรคที่ผู้ก่อการร้ายทั่วโลกนิยมนำไปผลิตเป็นอาวุธชีวภาพ เนื่องจากเชื้อสามารถติดต่อจากคนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งเมื่อมีอาการก็จะคล้ายกับโรคอื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่ระมัดระวังในการรักษาตัว

“โรคไข้กระต่ายยังไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน แต่จะติดต่อจากสัตว์สู่คนทั้งทางตรงด้วยการสัมผัสสารคัดหลั่ง, การหายใจ, การกินเนื้อ และถูกเห็บ หมัดในตัวสัตว์ที่เป็นโรคกัด ซึ่งเชื้อจะใช้เวลาฟักตัวในคนประมาณ 3-5 วัน จึงจะแสดงอาการ หากติดผ่านทางผิวหนังจะเกิดแผลอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองโต ติดที่บริเวณเท้าจะคล้ายโรคฝีมะม่วง ติดต่อทางเดินหายใจ อาการเริ่มแรกเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ จนสัปดาห์ที่ 2 อันตรายที่สุด จะเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นปวดบวม และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตจะเสียชีวิต อาการโดยรวมจะแยกแยะลำบากจากกาฬโรค และถ้าติดจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อจะทำให้ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน แต่มักไม่เสียชีวิต” นพ.ธวัช กล่าว

นพ.ธวัช กล่าวต่อว่า สำหรับผู้เสียชีวิต มีประวัติสัมผัสกระต่าย โดยที่บ้านมีการเลี้ยงกระต่ายพันธุ์ไทยจำนวนมาก เชื่อว่า จะได้รับเชื้อทั้งจากทางเดินหายใจ การสัมผัสสารคัดหลั่งทางปาก จมูก ซึ่งปัจจุบันญาติผู้เสียชีวิตที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ยังไม่มีผู้ใดป่วยเป็นโรคนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งทำให้มีภูมิคุ้มกันน้อยกว่าคนอื่นๆ ในบ้าน โดยคาดว่าอีก 2 สัปดาห์ผลยืนยันทางห้องแล็ปจากประเทศสหรัฐอเมริกา จะรู้แน่ชัดว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์ เอ หรือ บี หากเป็นชนิด เอ จะมีความรุนแรงมากกว่า

นพ.ธวัช กล่าวต่อว่า สำหรับการควบคุมโรคในเบื้องต้นได้ประสานไปยังกรมปศุสัตว์ให้สุ่มตรวจเชื้อทั่วประเทศ รวมถึงกำชับให้สำนักงานสาธารณสุข (สสจ.) ทั่วประเทศรายงานหากพบผู้ป่วยต้องสงสัยหรือเป็นโรคนี้ เนื่องจากถือเป็นหนึ่งในโรคอุบัติใหม่ของไทยจึงต้องรายงานไปยังองค์การอนามัยโลก และต้องมีการให้ความรู้ในการป้องกันแก่ประชาชน และแพทย์ในการตรวจวินิจฉัยและวิธีการรักษา เพราะในตำราแพทย์ที่เรียนในไทยยังไม่มีโรคนี้

นพ.ธวัช กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ป่วยรายแรกชาว จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องด้วยการส่งไปตรวจในห้องแล็ปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าก่อนหน้านี้มีผู้ป่วยรายอื่นๆ ที่เป็นโรคนี้เช่นกัน แต่ไม่มีการตรวจวินิจฉัย เนื่องจากอาการโดยทั่วไปคล้ายกับโรคต่างๆ แพทย์จึงวินิจฉัยและรักษาด้วยยาปฏิชีวนะตามอาการที่ตรวจพบจนหาย เพราะ โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะสเตร็ปโตมายซิน และยาเจนต้ามายซิน แต่ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เพราะรักษาไม่ทัน ดังนั้น เมื่อมีอาการไข้แล้วกินยาลดไข้ 1 ครั้งไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์ อย่านิ่งนอนใจ อย่ากลัวเสียเวลา หากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเสียชีวิตจะน้อย

นพ.ธวัช กล่าวด้วยว่า เชื้อชนิดนี้จะอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมอุณหภูมิทั่วไปและในอุณหภูมิติดลบมากๆ ซึ่งมีรายงานการวิจัยระบุว่าเมื่อนำเนื้อกระต่ายที่นิยมบริโภคกันในสหรัฐอเมริกามาแช่แข็งอุณหภูมิ – 15 องศาเซลเซียสไม่สามารถฆ่าเชื้อนี้ได้ เว้นแต่จะนำไปปรุงให้สุกอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที วิธีการป้องกันผู้เลี้ยงอย่าสัมผัสสัตว์ หรือหากจะแตะต้องควรใส่ถุงมือ ล้างมือทำความสะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์เลี่ยง และผู้เลี้ยงควรกำจัดเห็บ หมัดในสัตว์เลี้ยงให้หมด ผู้ที่เลี้ยงเชิงอุตสาหกรรมควรใส่รองเท้าบูท เสื้อกาวน์ ถุงมือ และหน้ากากในการป้องกัน ส่วนวัคซีนมีการนำมาใช้ป้องกันโรคเช่นกัน โดยในประเทศสหรัฐอเมริกาฉีดให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น พรานป่า และคนเลี้ยงสัตว์จำนวนมากเท่านั้น สำหรับประเทศไทยไม่ได้นำเข้า เนื่องจากไม่ใช่โรคประจำถิ่น

“โรคนี้ไม่ใช่โรคประจำถิ่น การควบคุมโรคจึงต้องเข้มงวดในการนำเข้าสัตว์ จึงอยากเตือนกลุ่มคนมีเงินที่อยากมีสัตว์เลี้ยงแปลกๆ นำเข้าจากต่างประเทศ อย่าแอบลักลอบนำเข้า หากต้องการเลี้ยงให้ขออนุญาตให้ถูกต้องจากกรมปศุสัตว์ เพราะตรงนี้อันตรายมากอาจทำให้เกิดโรคแปลกๆที่ติดต่อร้ายแรงในประเทศไทยได้”นพ.ธวัชกล่าว อึ้ง!เชื้อโรค “ไข้กระต่าย” อยู่ในลิสต์ยอดนิยมผู้ก่อการร้ายนำไปผลิตอาวุธชีวภาพ สธ.เตรียมรายงานองค์การอนามัยโลกเป็นโรคอุบัติใหม่ที่พบในไทย เตือนนักนิยมเลี้ยงสัตว์นอกอย่าลักลอบนำเข้า เสี่ยงเป็นช่องทางแพร่เชื้อ แนะอย่าสัมผัสสัตว์โดยตรง ล้างมือบ่อยๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น