xs
xsm
sm
md
lg

พบ "โรคไข้กระต่าย" ครั้งแรกในไทย เผยติดจากสัตว์เลี้ยงนำเข้า ชี้สุดอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เตือนนักเลี้ยงสัตว์ที่นิยมเลี้ยงสัตว์นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ระวังติดโรค ติดเชื้อ “โรคทูลาเรเมีย” รุนแรงถึงตาย กรมควบคุมโรคเผยเพิ่งพบในไทยเป็นครั้งแรก หลังมีผู้ป่วยตายไม่ทราบสาเหตุ ส่งเลือดตรวจที่ สหรัฐฯ ยืนยันผล เป็นแบคทีเรียชนิดที่พบในสัตว์ฟันแทะ โดยเฉพาะกระต่าย ระบุเข้าสู่ร่างกายได้ทุกทาง เร่งเจาะเลือดสัตว์รอบบริเวณบ้าน ทั้งสุนัข แมว โค หนู ตรวจละเอียดยิบ

นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มีการตรวจพบโรคทูลาเรเมีย (Tularemia) เป็นครั้งแรกแรกในเมืองไทย โดยเมื่อประมาณเดือน ต.ค.2550 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แจ้งมีผู้ป่วยเสียชีวิตติดเชื้อแบคทีเรีย Francisella tularensis ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียบาซิลัส ชนิดหนึ่ง ที่น่าตกใจคือ ในเมืองไทยยังไม่เคยพบผู้ป่วยหรือการติดเชื้อชนิดนี้ในคน จึงได้ดำเนินการสอบสวนโรค พบว่า ผู้ที่เสียชีวิต เป็นชายวัย 35-40 ปี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ โดยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง และเริ่มรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ตั้งแต่เดือน ก.ค.2550

นพ.ธวัช กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผู้ป่วยมีไข้เป็นระยะๆ ประมาณวันที่ 18 ก.ย.ผู้ป่วยออกจาก รพ.ต่อมาวันที่ 25-30 ก.ย.ผู้ป่วยเริ่มมีไข้สูง มีอาการขาบวม และเข้ารับการรักษาที่รพ.ศิริราช กระทั่งเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ผู้ป่วยมีอาการไม่ดี แพทย์ทำการเจาะเลือด พบเชื้อแบคทีเรียบาซิลัส แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า เป็น บาซิลัสตัวใด ต่อมาไม่นานผู้ป่วยเสียชีวิตลง แพทย์ได้ส่งเลือดไปตรวจที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ทหาร (AFRIMS) รพ.พระมงกุฏเกล้า ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยังไม่ยืนยันผลชัดเจน แต่รู้ว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียบาซิลัสแน่นอน จึงมีการส่งตัวอย่างไปตรวจยืนยันผลทางห้องปฏิบัติการที่สหรัฐอเมริกา
โดยวิธี PCR และได้รับการยืนยันผลเมื่อไม่นานนี้ ว่า มีความเป็นไปได้มากกว่า 99% ที่จะเป็นเชื้อ Francisella tularensis ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย ถือเป็นครั้งแรกที่พบผู้ป่วยโรคนี้ และเชื้อชนิดนี้ในประเทศไทย โดยเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ จะพบในสัตว์ฟันแทะ และ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศแถบยุโรป และอเมริกา

นพ.ธวัช กล่าวอีกว่า หลังทราบผลการตรวจยืนยัน ได้ให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ลงไปสอบสวนโรคที่บ้านและครอบครัวของผู้ตาย พบว่า ไม่มีประวัติการรับประทานอาหารดิบๆสุกๆ การเล่นคลุกคลีกับสัตว์ไม่แน่ชัด แต่ในละแวกบ้านมีการเลี้ยงโค สุนัข และมีแมวจรจัดค่อนข้างมาก เบื้องต้น กรมปศุสัตว์ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ทำการเจาะเลือดโค และสุนัข ตรวจหาเชื้อแล้ว พร้อมทั้งค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ด้วยการสัมภาษณ์และเจาะเลือด รวมทั้งดักจับหนูทั้งในบ้าน รอบบ้านของผู้ป่วยสงสัยและเพื่อนบ้านเพื่อตรวจการติดเชื้อจากตับ ม้าม ปอด ของหนูที่ดักได้ เก็บเห็บหมัด เพื่อตรวจพีซีอาร์และเจาะเลือดเพื่อตรวจทางซีโรโลยี รวมทั้ง เจาะเลือดสัตว์ในบริเวณพื้นที่ของการสอบสวนโรคเพิ่มเติม โดยส่งตัวอย่างทั้งหมดตรวจที่ US AFRIMS คาดว่า จะทราบผลการตรวจในเร็วๆ นี้

ด้าน น.สพ.พลายยงค์ สการะเศรณี นายสัตวแพทย์ 9 กลุ่มงานโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคดังกล่าวเดิมพบในสัตว์ฟันแทะ โดยเฉพาะกระต่าย ในต่างประเทศบางครั้งเรียกว่า ไข้กระต่าย หรือ Rabbit Fever ซึ่งมีพวกที่นิยมสัตว์เลี้ยงบางกลุ่มนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงในเมืองไทย อาจเป็นไปได้ที่จะมีเชื้อจะติดมากับสัตว์ ประเด็นสำคัญ คือ ในเมืองไทยยังไม่มีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจเชื้อดังกล่าวได้ ดังนั้น เมื่อมีคนป่วย ถ้าแพทย์ไม่สงสัยก็จะลงสาเหตุการเสียชีวิตว่า เป็นไข้ไม่ทราบสาเหตุ แต่จริงๆแล้วอาจเป็นเชื้อชนิดใดก็ได้ สำหรับเชื้อแบคทีเรียบาซิลัส Francisella tularensis นี้ สามารถเข้าสู่รางกายคนได้หลายทางและจะแสดงอาการตามช่องทางที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย เช่น ถ้าติดมาจากการกินอาหาร หรือ น้ำ ที่มีเชื้อปนเปื้อน ก็จะมีอาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย อาเจียน อาหารเป็นพิษอย่างรุนแรง ถ้าติดทางการหายใจ ก็จะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจล้มเหลว ปอดบวม ปอดอักเสบ หรือถ้าติดทางผิวหนัง ก็จะทำให้มีแผลอักเสบ เรื้อรัง รักษาไม่หาย และสุดท้ายเชื้อโรคก็จะเข้าสู่กระแสโลหิต ทำให้โลหิตเป็นพิษ และเสียชีวิตในที่สุด

น.สพ.พลายยงค์ กล่าวต่อว่า อยากเตือนบรรดาผู้ที่รักสัตว์ โดยเฉพาะการนำสัตว์เลี้ยงทั้งที่แปลกและไม่แปลกเข้ามาจากต่างประเทศ ควรที่จะต้องมีการป้องกันโดยการตรวจสอบเอกสารรับรองการปลอดโรคของสัตว์ทั้งจากต่างประเทศ และ ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศของไทย เพื่อให้แน่ใจว่า สัตว์ที่นำเข้ามานั้นไม่ได้มีเชื้อโรคชนิดใดติดมาด้วย และอย่านิ่งนอนใจ ถ้าเห็นว่า สัตว์ไม่ป่วยจะมีเชื้อโรคได้อย่างไร ตรงนี้ต้องระวังมาก เพราะเชื้อโรคบางอย่าง เมื่ออยู่ในตัวสัตว์จะไม่แสดงอาการ แต่เมื่อถ่ายทอดมาสู่คน คนจะมีอาการป่วย การคลุกคลีหรือเล่นกับสัตว์ต้องระมัดระวัง ล้างมือ ทำความสะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ จะทำให้ปลอดภัยมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น