xs
xsm
sm
md
lg

“สคร.5” รุกลงพื้นที่สอบสวนเฝ้าระวัง-รับมือ “โรคไข้กระต่าย” ระบาดอีสานใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สคร.5 โคราช รุกรับมือการระบาด “โรคไข้กระต่าย” ในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานล่าง สั่ง จนท.ลงพื้นที่สอบสวนและเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวด พร้อมทำหนังสือด่วนไปยังผู้ว่าฯในพื้นที่รับผิดชอบขอข้อมูลผู้เลี้ยงสัตว์ฟันแทะเพื่อเข้าสอบสวนเก็บข้อมูลและเฝ้าระวัง เผย ยังไม่พบโรคไข้กระต่ายระบาดในพื้นที่อีสานล่าง เตือน ปชช.ผู้เลี้ยงต้องสะอาด ไม่สัมผัสสัตว์อย่างใกล้ชิดจนเกิดไป

วันนี้ (19 มี.ค.) นพ.สมชาย ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 (สคร.5) นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคทูลารีเมีย (Tularemia) หรือ โรคไข้กระต่าย ในพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา, ชัยภูมิ, สุรินทร์ และ บุรีรัมย์ ว่า หลังมีรายงานพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้กระต่ายใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กรมควบคุมโรค ได้สั่งให้ทำการสอบสวนและเฝ้าระวังโรคดีกล่าว โดยล่าสุดจนถึงขณะนี้ ยังไม่พบมีผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นในพื้นที่ความรับผิดชอบแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 ไม่ได้นิ่งนอนใจ เนื่องจากข่าวที่ออกมาทำให้ประชาชนรู้สึกตกใจกลัว จึงได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ศึกษาข้อมูล และส่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัด ให้รู้วิธีการป้องกันที่ถูกต้อง และอย่าตื่นตระหนกจนเกินไปเพราะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงแต่อย่างใด

พร้อมกันนี้ ทางสำนักงานได้ทำหนังสือด่วนขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการ ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับประชาชนในพื้นที่ ที่เลี้ยงสัตว์ประเภทฟันแทะ เช่น หนู กระต่าย ไว้ในครัวเรือนซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยง เพื่อจะได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแนะนำและเฝ้าระวัง พร้อมเก็บข้อมูล ไม่ให้มีการระบาดของโรคเกิดขึ้น

นพ.สมชาย กล่าวอีกว่า สำหรับ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่และมีสวนสัตว์เปิด คือ สวนสัตว์นครราชสีมา อยู่ในพื้นที่ และมีสัตว์ประเภทฟันแทะอยู่จำนวนมาก ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปแล้ว โดยให้สัตวแพทย์ของทางสวนสัตว์ ติดตามและเฝ้าระวัง พร้อมหามาตรการในการป้องกันให้โรคติดต่อสู่คน

สำหรับโรคไข้กระต่ายเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในตัวหมัด ซึ่งเกาะอยู่ตามตัวสัตว์ประเภทฟันแทะ เช่น หนู กระต่าย และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อเชื้อเข้าไปยังกระต่ายหรือหนู ก็ทำให้ติดเชื้อ ส่วนการแพร่ระบาดเข้าไปสู่คนมาจากหลายสาเหตุ ทั้งจากการที่หมัดมีเชื้อมากัด และคนไปสัมผัสกับหนูหรือกระต่ายที่มีเชื้อ เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย อาการที่สังเกตได้ คือ แผลจะหายยากและพุพอง

โดยถ้าเชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อ จะทำให้ท้องร่วง มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร อาจจะมีอาการอาเจียนมาก หรือถ้าเชื้อเข้าสู่ในระบบทางเดินหายใจจะทำให้คนไข้เป็นโรคหวัด และมีอาการปอดอักเสบ

“ความรุนแรงของโรคนี้ หากดูจากสถิติที่ผ่านมาพบอัตราการตายไม่สูงมากนัก สามารถป้องกันได้ ประชาชนไม่ต้องตกใจจนเกินเหตุ สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ประเภทฟันแทะไว้ ก็ให้หมั่นทำความสะอาดกรงหรือสถานที่เลี้ยงอยู่เป็นประจำ ให้มีความสะอาด และไม่ควรสัมผัสสัตว์ใกล้ชิดจนเกินไป เช่น ไปดม หรือให้สัตว์เลียมือ ปาก เป็นต้น” นพ.สมชาย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น