xs
xsm
sm
md
lg

เตือนสติ “ไชยา” CL เกิดจากรัฐบาลรัฐประหาร อย่าให้ดับในยุคประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดเวทีชำแหละซีแอล อาจารย์ ม.หอการค้า ยันถ้าโดนตัดจีเอสพีจากกรณีซีแอลไม่น่าจะถูกตัดเกิน 50% ชี้คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการทำซีแอล พร้อมเตือนสติ “ไชยา” ซีแอลเกิดจากรัฐบาลรัฐประหาร อย่าให้ดับจากรัฐบาลประชาธิปไตย ด้านรองประธาน คกก.กฎระเบียบสภาหอการค้าฯ เผย ไทยจ่ายค่าลอยัลตี้ 4% ในการทำซีแอลยาเอดส์ ระบุเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ส่วนคณะกรรมการสิทธิยันไทยยังทำซีแอลน้อยไปด้วยซ้ำ

วันนี้ (22 ก.พ.) ที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อาคารพญาไท พลาซ่า ได้มีการจัดเสวนาวิชาการ “ซีแอล: กฎหมาย การค้า และสุขภาพ” โดยเชิญนักวิชาการด้านสิทธิบัตร นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมายสิทธิบัตร ผู้แทนภาคธุรกิจ และตัวแทนจากองค์การเอกชน เครือข่ายผู้ป่วย เข้าร่วมเสวนา

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการกฎระเบียบและการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การทำซีแอลถ้าเทียบระหว่างสหรัฐฯกับสหภาพอียู ดูเหมือนว่า สหรัฐฯจะมีท่าทีที่ซีเรียสกับการทำซีแอลมาก ขณะที่สภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจของไทยนั้นจีดีพีร้อยละ 80 ของประเทศมาจากการส่งออก ซึ่งจีเอสพีคือสิทธิพิเศษด้านการค้าที่สหรัฐฯให้ไทยโดยสมัครใจและสหรัฐฯ จะตัดเมื่อไหร่ก็ได้

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยถูกตัดจีเอสพีจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ เลย หากสถานการการณ์เงินของไทยอยู่ในสภาวะปกติ แต่ขณะนี้ไทยมีปัญหาสถานภาพทางการเงิน กล่าวคือเงินบาทแข็งและการบริหารควบคุมการเงินของไทยไม่เข้มแข็งที่จะแก้ไขสถานการณ์นี้ได้ ดังนั้น ทำให้ไทยจำเป็นต้องกังวลหากสหรัฐฯ มีมาตรการตัดจีเอสพีจริงๆ เพราะสถานการณ์การเงินในปัจจุบันนี้ยังมีปัญหาอยู่”

นายบัณฑูร กล่าวต่อว่า การทำซีแอลตามนโยบายรัฐบาลชุดที่แล้วได้มีการตกลงจ่ายค่าลอยัลตี้ โดยไทยจะขอจ่ายสูงถึงร้อยละ 4 ซึ่งเป็นค่าลอยัลตี้ที่แพงที่สุดในประเทศที่ทำซีแอล ซึ่งคิดว่าเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว
 
“ก่อนหน้านี้ ได้มีการประชุมว่าด้วยปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ของไทย ที่หอการค้า เจ้าหน้าที่จากสหรัฐได้ยืนยันหนักแน่นว่า ถ้าจะมีการเลื่อนสถานประเทศไทยก็มีสาเหตุหลักมาจากปัญหาไทยละเมิดลิขสิทธิ์เทปผีซีเถื่อนและซอฟต์แวร์เป็นจำนวนมาก มิใช่ปัญหาซีแอลแต่อย่างใด”

ด้านดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การทำซีแอลเป็นเรื่องที่โยงได้หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจีเอสพี การส่งออก รวมถึงการเลื่อนสถานะประเทศไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่นำเข้ายาสูงมาก และร้อยละ 80 ของการนำเข้ายาทั้งหมดเป็นการนำเข้าขาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว กล่าวคือร้อยละ 13 จากสหรัฐฯ ร้อยละ 11 จากฝรั่งเศส ร้อยละ 9 จากเยอรมนี และร้อยละ 7 สวิตเซอร์แลนด์

“ในประเด็นของจีเอสพี ที่เกรงกันว่า หากทำซีแอลจะถูกตัดจีเอสพี ผมมองว่าจะช้าหรือเร็วเราก็ถูกตัดอยู่ดี เพราะไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา และมีการพัฒนาประเทศมากขึ้นและเร็วขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งสหรัฐฯก็ต้องระงับจีเอสพี”

ดร.อัทธ์ กล่าวต่อว่า เชื่อว่าหากจะถูกตัดจีเอสพีจากสหรัฐ ด้วยสาเหตุของการทำซีแอลจริง สหรัฐฯไม่น่าจะล้มกระดานโดยการตัดจีเอสพีถึง 100 เปอร์เซ็นต์ เลวร้ายที่สุดน่าจะครึ่งหนึ่ง ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าคุ้มค่า หากรัฐบาลจะเสียเงินส่วนนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชน

“ผมคิดว่าถ้าให้ผมช่างน้ำหนักระหว่างมือซ้ายและมือขวา ระหว่างชีวิตกับเศรษฐกิจการเงินของประเทศ ผมขอยืนอยู่ข้างชีวิตผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยชาวไทยที่กำลังประสบปัญหาการเข้าถึงยาอยู่ในขณะนี้ ผมคิดว่ารัฐบาลที่มาจากประชาชน หากยอมเสียจีเอสพี 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่เลือกท่านมาเป็นรัฐบาล ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องซีแอลเกิดจากรัฐบาลรัฐประหาร ก็ไม่ต้องการให้เสียไปในรัฐบาลมาจากประชาชน ผมอยากเห็นรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งของประชาชน มีนโยบายที่ช่วยเหลือประชาชน”

ส่วน รมต.ออกมาพูดว่าควรจะมีการทบทวนซีแอล โดยอ้างว่ามีขั้นตอนไม่โปร่งใส ดร.อัทธ์กล่าวว่าอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแสดงหลักฐานการทำซีแอลให้ชัดเจน เพราะไทยมีสิทธิเต็มที่ในการทำซีแอล

ขณะที่รศ.ดร.จิราภรณ์ ลิ้มปานานนท์ จากหน่วยปฏิบัติการการวิจัยเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การที่ รมต. ออกมาพูดว่า ควรให้มีการทบทวนซีแอล เพราะการทำซีแอลของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาไม่โปร่งใส ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการทำโดยไม่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยมีกฎหมายมาตร 51 และ 52 เป็นกฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิทำซีแอล โดยอาศัยอำนาจรัฐเป็นอำนาจบังคับทำ

“ซีแอลคือ การซื้อเทคโนโลยีที่บริษัทยา ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนา โดยประเทศขอทำซีแอล จะต้องจ่ายค่ารอยัลตี้ให้แก่เทคโนโลยีนี้ ซึ่งเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า เราทำซีแอลต่อหรือไม่ แต่ประเด็นคือปัญหาที่เราไม่สามารถตกลงราคาค่าใช้สิทธิในการซื้อเทคโนโลยี กับบริษัทยาได้ เพราะบริษัทยาถือตัวเองว่าเป็นเจ้าของเทคโนโลยีแต่เพียงผู้เดียว”

รศ.ดร.จิราภรณ์ ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ยามะเร็งเข็มละ 2.5 หมื่นบาท ในขณะที่สามัญมีมูลค่าเพียง 4 พันกว่าบาทเท่านั้น ซึ่งในราคาที่บริษัทยาขายให้คนไทย ยังมีคนไทยจำนวนมากที่ไม่มีกำลังซื้อยาในราคาดังกล่าว

ส่วนนายวีรวิทย์ วีรวรวิทย์ รองเลขาธิการสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวอย่างหนักแน่นว่า ตั้งแต่สมัย พ.ศ. 4624 กฎหมายลิขสิทธิ์ในอังกฤษระบุว่า สิทธิบัตรไม่เคยมีสิทธิขาดแก่ผู้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรทั้งหมด เพราะการให้สิทธิบัตรเป็นการให้เพื่อประโยชน์ของสาธารณชน ไม่ใช่เพื่อความร่ำรวย และไม่มีกฎหมายสิทธิบัตรฉบับใดในโลกที่แจ้งว่า การให้สิทธิบัตรให้เพื่อความร่ำรวย

ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีปัญหาเรื่องการอ่านหนังสือไม่หมด เพราะมักจะอ่านเฉพาะมาตราที่เอื้อประโยชน์แก่ตนเอง ในกฎหมายสิทธิบัตรนั้นมีการรวมเอาสัญญาอนุสัญญากรุงปารีส โดยเฉพาะข้อ 5 A (2) และ 5A z4x ในอนุสัญญาฯ ระบุว่าประเทศสมาชิก สามารถใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรได้ ในกรณีที่สิทธิบัตรถูกใช้ไปในทางมิชอบ เช่น การตั้งราคายาสูงเกินไป หรือการจดสิทธิบัตรซ้ำซ้อน ซึ่งตนเองมองว่า ประเทศไทยยังใช้สิทธิซีแอลน้อยไปด้วยซ้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น