xs
xsm
sm
md
lg

ค้านเกณฑ์แอดมิชชันปี 53 สมาคมครูฝรั่งเศสฯร้องเปิดสอบภาษาที่สอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมครูภาษาฝรั่งเศสฯ ค้านเกณฑ์แอดมิชชัน ปี 2553 ของ ทปอ.เรียกร้องให้เปิดสอบภาษาต่างประเทศที่ 2 ใน PAT ระบุไม่นำภาษาต่างประเทศที่ 2 มาสอบ ทำให้โรงเรียนมีแนวโน้มปิดภาควิชาภาษาต่างประเทศลง ด้าน ประธาน ทปอ.ชี้ หากจัดสอบภาษาต่างประเทศที่ 2 อาจต้องยุ่งยากในการประมวลผล เพราะจัดสอนอยู่ถึง 17 ภาษา เผยเกณฑ์แอดมิชชัน ปี 53 เป็นเพียงร่างเท่านั้น ยังสามารถปรับแก้ได้พร้อมรับฟังความเห็นและปรับปรุงหากเกิดผลกระทบจริง ด้านเครือข่ายพ่อแม่ยันไม่เห็นด้วย เตรียมยื่นหนังสือ รมว.ศธ.

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่มูลนิธิส่งเสริมภาษาฝรั่งเศสและฝรั่งเศสศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มสฝ.) คุณหญิงวงจันทร์ พินัยนิติศาสตร์ อุปนายกสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย (สคฝท.) แถลงข่าวคัดค้านที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กรณีที่ไม่มีการสอบวิชาภาษาต่างประเทศที่ 2 อยู่ในองค์ประกอบการพิจารณาเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิชชั่น ประจำปีการศึกษา 2553 ว่า สคฝท.ไม่เห็นด้วยกับองค์ประกอบแอดมิชชัน ประจำปีการศึกษา 2553 ที่กำหนดให้มีการวัดศักยภาพในการใช้ภาษาต่างประเทศที่ 2 ไว้ในวิชาวัดความถนัดทางวิชาชีพหรือ Professional Aptitude Test (PAT) โดยกำหนดให้วัดศักยภาพเพียง 6 ด้านเท่านั้น ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ขณะที่ศักยภาพทางด้านภาษาศาสตร์ที่เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อาทิ ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน ไม่ได้ถูกนำมาสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งจะทำให้ความสำคัญในการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศที่ 2 ในระดับชั้น ม.ปลายลดน้อยลง และอนาคตก็มีแนวโน้มว่าภาควิชาต่างประเทศที่ 2 ก็อาจจะปิดวิชาดังกล่าวด้วย แม้ว่า ทปอ.จะกำหนดให้คะแนนในวิชาดังกล่าวรวมอยู่ในผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย หรือ GPAX 20% หรือการที่จะให้มหาวิทยาลัยเปิดสอบเฉพาะวิชาดังกล่าวขึ้นเองนั้น ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้ภาษาต่างประเทศที่ 2 มีความสำคัญเท่ากับการกำหนดมาเป็นอีกกลุ่มหนึ่งใน PAT

“สคฝท.จึงยืนยันว่า ทปอ.ควรจะมีทบทวนองค์ประกอบแอดมิชชันปี 2553 โดยเพิ่มการวัดศักยภาพทางภาษาต่างประเทศที่ 2 เป็นกลุ่ม PAT ที่ 7 อีกหนึ่งกลุ่ม โดยจะมีการทำหนังสือถึง ทปอ.นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในเร็วๆ นี้ และจะประสานกับภาควิชาภาษาต่างประเทศอื่นๆ เพื่อร่วมกันคัดค้านในเรื่องนี้ด้วย”

คุณหญิงวงจันทร์ กล่าวอีกว่า เมื่อ ทปอ.บอกว่า จะเปิดให้มีการประชาพิจารณ์องค์ประกอบแอดมิชชั่น ปี 2553 อีกครั้ง ก็หวังว่า ทปอ.จะฟังเสียงของ สคฝท.ซึ่งเป็นครูผู้ปฏิบัติบ้าง และการกำหนดองค์ประกอบดังกล่าว จะเป็นการตัดโอกาสและไม่เป็นธรรมกับเด็กสายศิลป์เพราะ PAT 6 กลุ่มที่กำหนดนั้น เป็นการวัดศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่ประเทศไทยประกาศนโยบายจะสนับสนุนให้เด็กได้เรียนภาษาต่างประเทศมากขึ้น แต่กลับไม่ถูกนำมาใช้วัดผลในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนที่ระบุว่าสาเหตุที่ไม่มีการจัดภาษาต่างประเทศที่ 2 อยู่ใน PAT เนื่องจากในระดับ ม.ปลาย จัดสอนภาษาต่างประเทศอยู่ถึง 17 ภาษาซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากในการจัดสอบนั้น ความยุ่งยากเป็นเพียงเรื่องเอกสาร แต่เทียบไม่ได้กับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและประเทศซึ่งในสังคมโลกต้องการผู้ที่รู้ภาษามากกว่า 2 ภาษา นอกจากนี้หากต้องการสร้างนักภาษาศาสตร์ ก็ควรจัดสอนตั้งแต่ระดับ ม.ปลาย เพราะการเรียนภาษาแค่ 4 ปีในระดับมหาวิทยาลัย ไม่สามารถสร้างความชำนาญด้านภาษาให้กับผู้เรียนได้ อีกทั้งการยกเลิกการสอบภาษาต่างประเทศที่ 2 ในระบบแอดมิชชั่น ซึ่งจะทำให้มีผู้เรียนภาษาต่างประเทศน้อยลง ยังส่งผลให้การสนับสนุนด้านต่างๆ จากต่างประเทศ ลดลงด้วย เช่น การให้ทุนศึกษาต่อ ทุนฝึกอบรม ทุนวิจัย เป็นต้น

ดร.เสาวนิตย์ ชัยมุสิก ศึกษานิเทศก์ ภาษาฝรั่งเศส สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพ เขต 2 กล่าวว่า องค์ประกอบในการพิจารณาเข้ามหาวิทยาลัยในระบบแอดมิชชันในปี 2553 มีผลโยงใยให้ขณะนี้โรงเรียนชื่อดังหลายแห่งเริ่มมีนโยบายว่าในปีการศึกษา 2551 จะปิดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศที่ 2 เนื่องจากองค์ประกอบฯ จะเริ่มมีผลกับนักเรียนชั้น ม.4 ที่จะเข้าเรียนในปีการศึกษา 2551 ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมกับเด็กเป็นอย่างมาก ซึ่งในเดือนเมษายนนี้ จะทราบจำนวนโรงเรียนที่จะปิดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศที่ 2 ที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะโรงเรียนแต่ละแห่งจะเริ่มมีการจัดโปรแกรม และทำตารางเรียน เพื่อใช้ในปีการศึกษา 2551 ทั้งนี้ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เปิดสอนภาษาฝรั่งเศสอยู่ประมาณ 356 แห่ง มีครูประมาณ 450 คน

“องค์ประกอบฯ ที่ไม่มีการสอบภาษาต่างประเทศที่ 2 จะมีผลมากกับการเลือกเรียนของนักเรียนที่จะเข้าศึกษาในระดับชั้น ม.4 ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ทปอ. อย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีข่าวว่า ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสงวนหญิง จ.สุพรรณบุรี อยากให้ลูกเรียนภาษาต่างประเทศที่ 2 แต่โรงเรียนไม่เปิดสอน นี่จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าต่อไปในอนาคตสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับโรงเรียนมัธยมศึกษาในประเทศไทยอย่างแน่นอน” ดร.เสาวนิตย์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ในโลกปัจจุบันเมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้วทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย มีแต่สนับสนุนให้คนรู้ภาษาอื่นที่มากกว่าภาษาของตัวเองและภาษาอังกฤษ เพราะโลกของเราจะให้สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้

ด้านนายมณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะ ประธาน ทปอ.กล่าวว่า ที่ประชุม ทปอ.เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีการหารือถึงข้อห่วงใยเหล่านี้แล้ว แต่อธิการบดีส่วนใหญ่ก็เห็นว่า หากจะกำหนดให้การทดสอบภาษาที่ 2 อาทิ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมัน จีน เป็นต้น เป็นหนึ่งในองค์ประกอบกลางในการคัดเลือกระบบแอดมิชชั่น จะทำให้ต้องจัดสอบถึง 17 วิชา ซึ่งก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการประมวลผล อีกทั้งยังเห็นว่า การวัดความถนัดด้านภาษาต่างประเทศที่ 2 รวมอยู่ใน จีพีเอเอ็กซ์ที่นักเรียนแต่ละคนต้องเรียนอยู่แล้ว และในโอเน็ต ก็มีการทดสอบวิชาเหล่านี้อยู่แล้ว ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นชอบให้การทดสอบวิชาภาษาต่างประเทศที่ 2 เหล่านี้ขึ้นอยู่กับการกำหนดของแต่ละสาขาวิชา หรือมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง โดยมหาวิทยาลัยสามารถจัดสอบเอง หรือหากต้องการให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) เป็นหน่วยงานกลางในการจัดสอบวิชาต่างประเทศที่ 2 เหล่านี้ ทปอ.ก็พร้อมจะประสานไปยัง สทศ.เป็นผู้จัดสอบให้

นายมณฑล กล่าวอีกว่า ทปอ.ได้พิจารณาแล้ว และเห็นว่าหากจะกำหนดให้วิชาต่างประเทศที่ 2 เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของแอดมิชชัน ก็อาจจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียบเปรียบกันระหว่างนักเรียนในเมือง และนักเรียนในโรงเรียนต่างจังหวัด นักเรียนต่างจังหวัดก็จะทำข้อสอบสู้นักเรียนในเมืองไม่ได้ เพราะโรงเรียนยังมีความแตกต่างกันมากในเรื่องของคุณภาพการเรียนการสอนของวิชาต่างประเทศที่ 2 เหล่านี้ นอกจากนั้นก็ยังเห็นว่า ทักษะในด้านภาษานี้สามารถเข้าไปพัฒนากันได้ช่วง 4 ปีในมหาวิทยาลัย ซึ่งที่ผ่านมาการสอบภาษาต่างประเทศที่ 2 ในรายวิชาการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) ในขณะนี้ หรือในการสอบเอ็นทรานซ์ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากที่เรียนในมัธยมศึกษาตอนปลาย เพียงแต่ข้อสอบยากกว่าเท่านั้น

นายมณฑล กล่าวอีกว่า ส่วนที่เกรงว่า หากในการคัดเลือกแอดมิชชันไม่กำหนดให้ภาษาต่างประเทศที่ 2 เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลัก อาจทำให้โรงเรียนและนักเรียนลดความสำคัญในการเรียนรู้ภาษาเหล่านี้ลงไปนั้น ตนคิดว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะในวิชาเหล่านี้จะต้องของนักเรียนแต่ละคนจะต้องสะท้อนอยู่ในคะแนนจีพีเอเอ็กซ์ และโอเน็ต ที่รวมกันร้อยละ 50 อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบแอดมิชชัน ประจำปี 2553 ของ ทปอ.นั้น เป็นเพียงฉบับร่างที่ยังสามารถปรับแก้ได้ โดยทางสมาคมฯ สามารถเสนอความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของ สทศ. ซึ่ง ทปอ.จะนำไปพิจารณากันในที่ประชุม ทปอ.ในนัดต่อไปด้วย

ซึ่งมติดังกล่าวเป็นเอกฉันท์และเห็นว่าไม่ได้ส่งผลให้นักเรียนสนใจเรียนภาษาที่สองน้อยลง เพราะภาษาที่นักเรียนเรียนนั้นจะออกมาในรูปของคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (จีแพ็กซ์) และการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ซึ่งแอดมิชชั่นส์กลาง ปีการศึกษา 2553 จะให้ค่าน้ำหนักจีแพ็กซ์และโอเน็ตรวมร้อยละ 50 ส่วนที่เหลือจะเป็นการทดสอบความถนัดทั่วไปและความถนัดทางวิชาชีพเท่านั้น เนื่องจากไม่ต้องการให้สอบซ้ำซ้อนรายวิชาซ้ำซ้อน จะเน้นศักยภาพและความถนัดเท่านั้น ส่วนกรณีรับตรงของมหาวิทยาลัยสามารถจะจัดสอบด้วยตัวเอง และปัจจุบันมหาวิทยาลัยรับตรงมากขึ้นถึงร้อยละ 60 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

“ทปอ.มีมติยกเลิก เพราะแต่ละสาขาวิชาต้องเอาทุกภาษาไปสอบหมด แยกกันถี่ยิบใน 17 สาขาย่อย ขณะที่แอดมิชชันมีคนสมัครน้อยลงเรื่อยๆ หลายมหาวิทยาลัยก็บอกว่าการคัดเลือกต้องดูการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์”

พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุ์ศรี ประธานเครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกภาษาที่ 2 ใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย เกรงว่าจะมีผลกระทบต่อเยาวชนที่กำลังเรียนอยู่ ตนไม่อยากให้มองแค่ว่าเด็กเรียนไปเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น เพราะการที่เด็กมีความเชี่ยวชาญภาษาใดภาษาหนึ่งจะมีผลดีต่อตัวนักเรียนเองในอนาคต โดยเฉพาะหลังจากที่เรียนจบแล้วเขาสามารถนำไปสมัครงานได้

“ตนจะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ทบทวนเรื่องนี้ เพราะการที่ ทปอ.จะยกเลิกใช้ภาษาที่ 2 สอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น อยากให้มองระยะยาว เนื่องจากยิ่งรู้หลายภาษายิ่งดีกับตัวเด็กเอง นำมาใช้สมัครงาน รึว่าติดต่อค้าขายได้ อย่างปัจจุบันนี้ภาษาจีนกำลังได้รับความนิยม” พญ.กมลพรรณ ระบุว่า ทปอ.ยกเลิกภาษาที่ 2 จะกระทบกับเด็ก ม.ปลาย ที่เรียนศิลป์ภาษา คาดว่า จะส่งผลให้จำนวนนักเรียนลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น