เอแบคโพลล์ ชี้ เด็กส่วนใหญ่เข้าใจความหมายวันมาฆบูชา แต่รายที่ตั้งใจจะลด ละ เลิกอบายมุข มีโอกาสกลับไปทำผิดซ้ำอีกเฉลี่ยร้อยละ 20 ระบุฟังเทศน์ ฟังธรรมน้อย เผยเหตุกลับไปมั่วซ้ำเพราะสภาพแวดล้อม ชุมชนสถานศึกษา สื่อ โฆษณา เพื่อนทำไปเพราะความมันส์ สะใจ ว่างมาก และความอยาก ตัวกระตุ้นสำคัญ
ดร.นพดล กรรณิกา หัวหน้าศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (Academic Network for Community Happiness Observation and Research, ANCHOR) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ความตั้งใจ ลด ละ เลิก ของเด็กและเยาวชนในวันมาฆบูชาในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนอายุ 12-19 ปี จำนวนทั้งสิ้น 1,526 ตัวอย่าง พบว่า เด็กและเยาวชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 59.1 ระบุ วันมาฆบูชาปีนี้ได้อย่างถูกต้องว่าตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 นี้ ในขณะที่ร้อยละ 40.9 ไม่ทราบและบางส่วนระบุวันไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่สามารถตอบคำถามแสดงความรู้ความเข้าใจเรื่องวันมาฆบูชาได้อย่างถูกต้อง ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.9 ระบุวันมาฆบูชาตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ร้อยละ 81.2 ระบุองค์พระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าประกาศหลักธรรมคำสั่งสอนให้แก่พระอรหันต์ในวันมาฆบูชาเพื่อนำไปเผยแพร่ ร้อยละ 87.7 ระบุเป็นการชุมนุมกันโดยมิได้นัดหมายของพระภิกษุจำนวน 1,250 รูป เกิดขึ้นในวันมาฆบูชา และร้อยละ 78.5 ทราบว่าวันมาฆบูชาเป็นวันหยุดราชการ
นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนจำนวนมาก หรือร้อยละ 43.4 ระบุหลักธรรมคำสอนที่องค์พระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าทรงแสดงในวันมาฆบูชา คือ โอวาทปาฏิโมกข์ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 33.6 ไม่ทราบ ร้อยละ 12.7 ระบุเป็นธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ร้อยละ 7.9 ระบุเป็นจาตุรงคสันนิบาต และร้อยละ 2.4 ระบุเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ ค่าคะแนนเฉลี่ยความตั้งใจของเด็กและเยาวชนที่จะทำกิจกรรมทางศาสนาในวันมาฆบูชา เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า เด็กและเยาวชนตั้งใจจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยค่าเฉลี่ย 5.71 ตั้งใจทำบุญตักบาตร ค่าเฉลี่ย 5.27 ตั้งใจเวียนเทียน 4.86 และตั้งใจฟังเทศน์ฟังธรรม 3.77 คะแนน
ที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อถามถึงสิ่งที่เด็กและเยาวชนตั้งใจจะ ลด-ละ-เลิก ในวันมาฆบูชาที่จะมาถึงนี้ และโอกาสที่อาจกลับไปทำผิดซ้ำอีก พบว่า ร้อยละ 25.7 ระบุลดละเลิกทำบาป แต่มีค่าเฉลี่ยโอกาสที่จะกลับไปทำผิดซ้ำอีกถึง 7.32 คะแนน ร้อยละ 23.4 ระบุการดื่มเหล้า แต่โอกาสจะดื่มซ้ำอีกสูงถึง 7.46 ร้อยละ 20.5 ระบุลดละเลิกการเที่ยวเตร่ เที่ยวกลางคืน แต่โอกาสจะไปเที่ยวอีกเฉลี่ย 6.21 ร้อยละ 20.4 ระบุเลิกเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เกมออนไลน์ แต่โอกาสจะเล่นอีกเฉลี่ย 7.25 คะแนน ร้อยละ 16.7 ระบุไม่หนีเรียน แต่โอกาสที่จะหนีเรียนอีกเฉลี่ย 5.89 ร้อยละ 16.6 ระบุเลิกทำสิ่งที่พ่อแม่เสียใจ แต่โอกาสที่จะทำอีกเฉลี่ย 6.09 ร้อยละ 16.4 ระบุลดละเลิกการสูบบุหรี่ แต่โอกาสที่จะสูบอีกเฉลี่ย 7.01 คะแนน ร้อยละ 10.9 ระบุเลิกโกหก แต่โอกาสจะโกหกอีกเฉลี่ย 6.74 ร้อยละ 8.4 ระบุลดละเลิกการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่โอกาสจะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอีกเฉลี่ย 5.89 และร้อยละ 7.9 จะลดละเลิกการเที่ยวผู้หญิง เลิกแกล้งเพื่อน โอกาสจะทำอีกสูงถึง 7.75 คะแนน
สำหรับเหตุผลที่อาจทำผิดซ้ำอีก พบว่า อันดับแรกคือเรื่องสภาพแวดล้อมชุมชนและสถานศึกษา สื่อมวลชน การโฆษณา เพื่อน ความเคยชิน ครอบครัว เหตุผลส่วนตัว ความมันส์ สะใจ ความอยาก ไม่มีอะไรทำ มีเวลาว่าง และไม่รู้จะทำอะไร เป็นต้น
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ให้ความสำคัญกับวันมาฆบูชา มากกว่าวันวาเลนไทน์ มีจำนวนมากกว่า กลุ่มเด็กที่ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์มากกว่าวันมาฆบูชา คือ ร้อยละ 41.0 ต่อร้อยละ 6.0 อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 28.6 ให้ความสำคัญเท่ากัน และร้อยละ 24.4 ไม่มีความเห็น
ผลสำรวจยังพบว่าเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ มีระดับความสุขมวลรวมเท่ากับ 6.94 คะแนน ถือว่ามีความสุขค่อนข้างมากและมากกว่าความสุขเฉลี่ยของผู้ใหญ่ที่เคยค้นพบในการสำรวจครั้งล่าสุดที่ได้ 6.47 คะแนน
เมื่อพิจารณาด้านการประพฤติปฏิบัติตนทางศาสนาแล้ว พบว่า อยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะเด็กมีความตั้งใจน้อยมากในเรื่องการฟังเทศน์ ฟังธรรม และการทำบุญตักบาตร นอกจากนี้ เด็กบางส่วนตั้งใจจะลดละเลิกสิ่งที่ไม่ดีไม่งามในวันมาฆบูชา แต่ก็มีโอกาสสูงที่จะกลับไปทำผิดซ้ำอีก เพราะสภาพแวดล้อมชุมชน สถานศึกษา สื่อมวลชน การโฆษณา กลุ่มเพื่อน ความเคยชิน และครอบครัว เป็นปัจจัยชี้ชวนนำที่มีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้งและผู้ใหญ่ในสังคมให้ความสำคัญกับระบบคุณธรรม หลักศาสนาของทุกศาสนา กระตุ้นให้เด็กและเยาวชนแปลงความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เสริมความตระหนักและจิตสำนึก สู่แนวทางปฏิบัติในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน