xs
xsm
sm
md
lg

อนามัยโลกจี้ปท.ต่างๆ ช่วยชีวิตผู้คน1พันล้าน รณรงค์ต้าน‘บุหรี่’มุ่งโฟกัสที่ชาติกำลังพัฒนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อีโคโนมิสต์ - แม้จะมีเสน่ห์ชวนหลงใหลเพียงใด ทว่า "ยาสูบ" ซึ่งรูปแบบที่นิยมเสพกันมากที่สุดคือ "บุหรี่" ก็เป็นเครื่องสร้างความเพลิดเพลินที่ "โลกเก่า" คงไม่อยากรับมาจาก "โลกใหม่" เอาเลย ในปี 1492 เมื่อ คริสโตเฟอร์ โคลัสบัส ได้รับการต้อนรับจากพวกชนเผ่า ด้วยข้าวของที่มีทั้ง "ผลไม้, หอกทำด้วยไม้ และใบไม้ตากแห้งบางชนิดซึ่งโชยกลิ่นหอมที่ไม่มีอะไรเหมือน" เขาตัดสินใจโยนของขวัญอย่างหลังสุดทิ้งไป ทว่าลูกเรือของเขายังคงนำความชมชอบใน การสูดควันของมันกลับมาบ้านด้วย และรสนิยมเช่นนี้ก็แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในปี 1604 กษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ต้องทรงออกพระบรมราชโองการประณาม "โทษภัยที่มากมายของความนิยมอันเลวร้ายนี้"

มันเป็นความเลวร้ายอย่างแน่นอน ทว่าก็กลายเป็นนิสัยความเคยชินของผู้คนจำนวนมาก และก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต กล่าวคือ ทำให้ผู้เสพมีอายุสั้นลงกว่าที่ควรจะเป็น ระหว่าง 1 ใน 3 จนถึงครึ่งหนึ่งของชีวิตทีเดียว ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ในช่วงศตวรรษที่ 20 น่าจะมีคนเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรถึงราว 100 ล้านคนเพราะพิษภัยของยาสูบ ทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่สุดซึ่งทำให้ผู้คนล้มตาย และก็เป็นหนึ่งในบรรดาสาเหตุที่สามารถป้องกันได้แต่กำลังทำให้มนุษย์สิ้นลมกันสูงที่สุด คาดหมายกันด้วยว่าอาจจะมีคนต้องตายไปอีก 1,000 ล้านคนในศตวรรษนี้ หากแนวโน้มปัจจุบันยังดำเนินไปโดยไม่มีการบรรเทายับยั้ง

อันที่จริงระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา การสูบบุหรี่และเสพยาสูบรูปแบบอื่นๆ ได้ถูกห้ามถูกจำกัดในสถานที่หลายแห่งซึ่งนึกไม่ถึง ปี 2004 ไอร์แลนด์สร้างความตะลึงงันให้แก่โลกเมื่อประสบความสำเร็จในการห้ามไม่ให้สูบบุหรี่กันในสถานที่ทำงานทุกแห่ง และตั้งแต่ย่างเข้าปีนี้มา วิถีชีวิตร้านกาแฟอันเป็นวัฒนธรรมสำคัญของคนฝรั่งเศสก็ต้องเข้าสู่สภาพไร้ควันบุหรี่ ในอเมริกา มาตรการจำกัดการสูบบุหรี่อย่างเข้มงวดที่แคลิฟอร์เนียนำมาใช้ก่อนในปี 1998 ได้มีมลรัฐอื่นๆ ราวครึ่งประเทศเดินตามอย่างน้อยก็บางส่วน ทว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ในจีน, อินเดีย, และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ กลับยังคงเพิ่มมากขึ้นต่อไป โดยที่การแพร่กระจายของนิสัยการติดบุหรี่ดูจะไปเร็วกว่าข้อมูลข่าวสาร

ด้วยเหตุนี้เอง แทบจะทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขของทั่วโลกจึงพร้อมใจกันแน่แน่วที่จะเพิ่มขยายการทำสงครามกับการสูบบุหรี่ กว่า 150 ประเทศแล้วที่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาแม่บทว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ซึ่งกำหนดให้ประเทศต่างๆ ต้องดำเนินมาตรการด้านต่างๆ ในการต่อต้านการสูบบุหรี่ เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว คณะผู้เจรจาของชาติต่างๆ ตกลงกันได้เกี่ยวกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศในเรื่องการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ในสัปดาห์นี้พวกเขากำหนดหารือกันที่นครเจนีวา ในเรื่องการจัดทำพิธีสารว่าด้วยการลักลอบค้าบุหรี่

นอกเหนือจขากกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศใหม่ๆ เหล่านี้ องค์การอนามัยโลกยังกำลังผลักดันให้ใช้นโยบายเชิงรุกด้านต่างๆ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น เมื่อวันพฤหัสบดี(7) มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่ฮู ได้แถลงเปิดตัวรายงานการสำรวจเกี่ยวกับการเสพยาสูบของทั่วโลก โดยเป็นรายงานที่ศึกษาวิจัยกันอย่างครอบคลุมรอบด้านที่สุดเท่าที่เคยทำกันมา การสำรวจระดับโลกที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า MPOWER นี้ ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากองค์การการกุศลส่วนตัวของ ไมเคิล บลูมเบิร์ก อภิมหาเศรษฐีผู้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กคนปัจจุบัน และขึ้นชื่อในเรื่องต่อต้านการสูบบุหรี่

รายงานการศึกษาชิ้นนี้ เป็น "เสียงเรียกร้องให้ลงมือปฏิบัติการเพื่อหลีกให้พ้นภัยพิบัติทางด้านสาธารณสุข" ดักลาส เบตต์เชอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายความริเริ่มเพื่อการปลอดบุหรี่ ของฮู กล่าว ทั้งนี้รายงานได้ศึกษารวบรวมความพยายามต่อต้านการสูบบุหรี่ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก, เสนอมาตรวัดต่างๆ สำหรับใช้ในการรณรงค์เพื่อโลกที่ปลอดบุหรี่ เบตต์เชอร์บอกว่า สิ่งที่รายงานการสำรวจชิ้นนี้แสดงให้เห็นก็คือ ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีการปฏิบัติตามนโยบายต่างๆ ทั้งๆ ที่หลายๆ นโยบายได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผล

ฮูบอกว่าประเทศต่างๆ ต้องกระทำสิ่งต่างๆ 6 ด้านที่แต่ละด้านมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ประการแรกคือการปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลว่าด้วยการสูบบุหรี่ ประการที่สองคือการประกาศห้ามการสูบบุหรี่อย่างทั่วด้านตามแบบของไอร์แลนด์ โดยที่ปัจจุบันกฎเกณฑ์เช่นนี้ยังมีบังคับใช้กับประชากรเพียงแค่ 5%ของทั่วโลกเท่านั้น สำหรับประการที่สามคือการเพิ่มความพยายามในการเกลี้ยกล่อมและช่วยเหลือผู้สูบบุหรี่ให้เลิกนิสัยเช่นนี้ เวลานี้มีเพียง 9 ประเทศซึ่งจัดทำโครงการชนิดที่ฮูเห็นชอบ โดยที่มีเงินทุนสนับสนุนบริบูรณ์อีกทั้งสามารถเข้าไปใช้บริการได้สะดวก

ด้านต่างๆ ที่กล่าวมาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้สูบบุหรี่อยู่แล้วในปัจจุบัน สำหรับอีก 3 ด้านนั้นมุ่งที่จะชักจูงผู้คนไม่ให้สูบบุหรี่กันตั้งแต่ต้นทีเดียว อาจเป็นเรื่องที่ฟังดูเหลือเชื่อ แต่รายงานของฮูยืนยันว่า ผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่านิสัยเช่นนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของตัวเองขนาดไหน รายงานจึงต้องการให้ทุกประเทศบังคับให้ติดคำเตือนเป็นรูปภาพชวนสยองขนาดใหญ่ไว้ที่ซองบุหรี่ อีกนโยบายหนึ่งที่พิสูจน์ว่าใช้ได้ผลก็คือ การห้ามบุหรี่ทำการตลาดอย่างสิ้นเชิง ฮูระบุอย่างหนักแน่นว่า "การห้ามแค่บางส่วนในเรื่องการโฆษณา การส่งเสริมการขาย และการเป็นสปอนเซอร์ของบุหรี่ เป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ผล"

สิ่งสุดท้ายที่เสนอโดยฮู ถือเป็นมาตรการที่ทรงพลังที่สุดด้วย นั่นคือ การเก็บภาษีให้สูงขึ้น การศึกษาวิจัยหลายๆ ชิ้นชี้ว่า หากขึ้นภาษีบุหรี่ขึ้นไปอีก 10% ก็อาจทำให้การบริโภคในประเทศร่ำรวยลดลงมาได้ 4% ยิ่งในประเทศยากจนแล้วจะลงมาถึง 8% โดยที่รายได้จากภาษีก็จะเพิ่มขึ้นถึงแม้ยอดขายจะลดต่ำลง องค์การอนามัยโลกต้องการให้ขึ้นราคาขายปลีกบุหรี่ไปอีก 70% โดยบอกว่าจะช่วยลดการเสียชีวิตด้วยสาเหตุอันเกี่ยวเนื่องกับบุหรี่ในทั่วโลกได้ถึงหนึ่งในสี่ เหตุผลสนับสนุนข้อเสนอนี้ก็คือ การเก็บภาษีสูงขึ้นไม่เพียงทำให้มีรายได้เพื่อใช้เป็นเงินทุนต่อต้านการสูบบุหรี่ได้มากขึ้นเท่านั้น มันยังเป็นประโยชน์จริงๆ ต่อคนยากจนด้วย

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น รายงานการวิจัยที่กำลังจะนำออกเผยแพร่เร็วๆ นี้ของนักวิจัย 2 คน คือ โจนาธาน กรูเบอร์ แห่งเอ็มไอที และ โบตอนด์ คอสเซกิ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ชี้ว่า ผู้สูบบุหรี่ต้องเลือกอยู่เสมอ ระหว่างความเพลิดเพลินระยะสั้น กับความปรารถนาในระยะยาวที่จะเลิกบุหรี่ ภาษีบุหรี่คือแรงจูงใจที่จะทำให้เลือกสิ่งที่ถูกต้อง และเนื่องจากคนจนเป็นผู้ที่อ่อนไหวกับราคามากกว่า พวกเขาจึงเป็นผู้ได้ประโยชน์มากที่สุด

สำหรับเหตุผลที่ทำให้ต้องลงมือปฏิบัติการทั้ง 6 ด้านเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ตอบได้ง่ายดายกว่ามาก กล่าวคือ อุตสาหกรรมบุหรี่กำลังทำให้คนยากจนของโลกติดบุหรี่ ก่อนที่รัฐบาลต่างๆ จะสามารถตอบโต้ทำอะไรได้ทันท่วงที ในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ เมื่อพวกประเทศรวยลดการสูบบุหรี่ลงได้ บรรดากิจการบุหรี่ก็ปรับโฟกัสไปยังแหล่งคนยากจน การศึกษาของมหาวิทยาลัยบาธ ในอังกฤษ พบว่า ด้วยการใช้ยุทธวิธีเชิงรุกต่างๆ เช่น พุ่งเป้าไปที่ผู้หญิง พวกบริษัทบุหรี่ระหว่างประเทศก็ได้ช่วยให้อัตราการสูบบุหรี่ในรัสเซียเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัวนับตั้งแต่ปี 1991

อุตสาหกรรมบุหรี่กำลังจัดขบวนกันใหม่ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะโฟกัสไปยังบรรดาตลาด "ที่มีความหวัง" ทั้งหลาย และหลีกหนีการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายแพงๆ อย่างที่พวกเขาน่าจะต้องเผชิญในบรรดาประเทศร่ำรวยและช่างฟ้อง

ตัวอย่างเช่น แอลเทรีย กิจการบุหรี่ระดับโลกที่ตั้งฐานในสหรัฐฯ วางแผนที่จะแยกเอา ฟิลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล ออกมาเป็นบริษัทต่างหากและให้มีสัญชาติต่างประเทศด้วยในราวปลายเดือนมีนาคมนี้ จีนซึ่งเวลานี้เป็นบ้านของผู้สูบบุหรี่กว่าหนึ่งในสี่ของทั่วโลก อีกไม่นานจะเป็นฐานผลิตบุหรี่ให้ฟิลิป มอร์ริส อีกทั้งบริษัทก็จะส่งออกบุหรี่ของจีนไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น