xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ออกกฎคุมสิงห์อมควันห้ามดูดในตลาด ร้านอาหาร ผับ บาร์ 11 ก.พ.นี้แน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ออกกฎเหล็ก ห้ามสูบบุหรี่ในผับ บาร์ ร้านอาหาร และตลาดทุกประเภท ทั้งติดแอร์ และไม่ติดแอร์ 11 ก.พ.2551 นี้ชัวร์ ฝ่าฝืนทั้งคนสูบ เจ้าของสถานที่ มีโทษปรับ 2,000-20,000 บาท ชี้เจตนารมณ์กฎหมายเพื่อคุ้มครองสุขภาพคน 53 ล้านคน ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ต้องสูดควันบุหรี่มือสองที่มีควันพิษอันตรายจากบุหรี่ที่จุดสูบวันละกว่า 110 ล้านมวน

วานนี้ (24 ม.ค.) ที่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.เสรี หงษ์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ทหัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ แถลงข่าวการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 18 พ.ศ.2550 ซึ่งจะมีผลใช้ในอีก 18 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 11 ก.พ.นี้

นพ.มงคล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศฉบับที่ 18 ที่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2550 เพิ่มพื้นที่คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 โดยกำหนดให้สถานบันเทิงประเภทผับ บาร์ ร้านอาหาร ตลาดทุกประเภท ทั้งตลาดสด ตลาดขายเสื้อผ้า รวมถึงตลาดนัดสวนจตุจักร ตลาดนัดเปิดท้ายขายของต่างๆ ด้วย บังคับทั้งที่ติดแอร์และไม่ติดแอร์ จะมีผลบังคับใช้แน่นอนในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ จะมีโทษปรับตามกฎหมาย โดยเจ้าของ ผู้ดูแลสถานที่ มีโทษปรับ 20,000 บาท ส่วนประชาชนที่สูบในเขตห้าม จะมีโทษปรับ ไม่เกิน 2,000 บาท

“กฎหมายฉบับนี้จะเพิ่มสถานที่ปลอดบุหรี่ให้มากขึ้น ได้แก่ ผับ บาร์ ตลาดสด ร้านอาหาร ซึ่งในผับบาร์ ร้านอาหารที่ติดแอร์ จะต้องเป็นเขตปลอดควันบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถจัดสถานที่สูบภายนอกที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกได้ ส่วนตลาดสด ร้านอาหารที่ไม่ติดแอร์ ก็สามารถจัดมุมให้สูบบุหรี่ไว้ต่างหาก แต่ต้องให้ห่างไกลผู้คน ไม่ส่งกลิ่นรบกวน” นพ.มงคล กล่าว

นพ.มงคล กล่าวต่อว่า เจตนารมณ์กฎหมาย ยืนยันว่า ไม่ได้บังคับคนสูบบุหรี่ให้เลิกสูบ และไม่ต้องการสร้างผลกระทบผู้ประกอบการ แต่เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่เป็นหลัก ซึ่งมีประมาณ 53 ล้านคน โดยเฉพาะในผับ บาร์ ที่มีมากกว่า 6,000 แห่ง ที่ประชาชนนิยมเข้าไปใช้บริการ ทั้ง วัยรุ่น นักเที่ยวกลางคืน รวมทั้งผู้ที่ทำงานในร้าน เช่น พนักงานเสิร์ฟ บาร์เทนเดอร์ ดีเจ นักร้อง นักดนตรี รวมแล้วมีคืนละกว่า 600,000 คน โดยมีคนสูบบุหรี่ทั่วประเทศวันละกว่า 110 ล้านมวน ผู้ที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไปในร่างกาย เป็นเวลานานต่อเนื่องทุกวัน เสี่ยงเกิดโรคร้ายแรงในระบบทางเดินหายใจ เพราะมีสารอันตรายเคมีที่เกิดจากควันบุหรี่ 4}000 ชนิด เป็นสารก่อมะเร็ง 43 ชนิด

นพ.มงคล กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ในระหว่างที่รอการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข จะประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ให้ประชาชนรับทราบ และจะส่งเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรค ออกชี้แจงผู้ประกอบการทั่วประเทศ ทำความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎหมายทั้งการติดเครื่องหมายแจ้ง และการจัดพื้นที่ให้ถูกต้อง โดยในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นไปจะออกตรวจทุกจังหวัด หากพบกระทำผิดจะตักเตือนก่อน และให้เวลาปรับปรุงจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2551 หากพบกระทำผิดอีกจะดำเนินการตามกฎหมาย และขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันตรวจสอบ หากพบการทำผิดขอให้แจ้งที่ศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา หมายเลขโทรศัพท์ 02-590-3342 ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติมอีก 3 ฉบับ โดยได้ปรับเปลี่ยนรูปภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ให้เหมาะ โดยเปลี่ยนรูปคำเตือน “ควันบุหรี่นำชีวิตสู่ความตาย” ซึ่งใช้ภาพการใช้หอยสังข์รดน้ำศพเป็นสื่อ ได้เปลี่ยนใช้ขันน้ำแทนหอยสังข์ โดยบังคับพิมพ์คำเตือน ทั้งบุหรี่ซิกาแรต และบุหรี่ซิการ์ และมีผลบังคับใช้ภายหลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดการใช้เครื่องหมายแสดงเขตสูบบุหรี่ให้ใช้สีฟ้า เขตปลอดบุหรี่แสดงด้วยสีแดง และการแสดงความหมายให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2551

ควันบุหรี่มือสองเป็นภัยสุขภาพที่สำคัญ ผู้ไม่สูบบุหรี่แต่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่ได้รับผลกระทบ จากการประเมินผลกระทบทางสุขภาพพบว่าไทยมีรายงานผู้ป่วยที่เกิดจากการสูดควันบุหรี่ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคถุงลมปอดโป่งพอง รวมแล้วปีละกว่า 1 แสนคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคเหล่านี้ปีละ 42,000 คน กว่าร้อยละ 80 พบในวัย 50 ปีขึ้นไป และแนวโน้มมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะควันบุหรี่กระจายอยู่ในอากาศ ส่งผลกระทบในวงกว้าง ส่วนทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ปีละกว่า 5 ล้านคน และคาดว่า อีก 25 ปี จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มเป็นปีละ 10 ล้านคน

สำหรับไทยมีมาตรการการควบคุมยาสูบที่เข้มข้น ทั้งด้านภาษีที่ขึ้นจนเต็มเพดาน การห้ามโฆษณา และการประกาศพื้นที่ปลอดบุหรี่ในที่สาธารณะ มีกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้ว 10 ฉบับ ตั้งแต่ พ.ศ.2549 เป็นต้นมา นับว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้อยู่ในอันดับต้นๆของโลก แต่ปัจจุบันยังพบว่ามีแนวโน้มนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนมากขึ้นเฉลี่ยปีละ 200,000 คน โดยเฉพาะในเพศหญิง จากสถิติปี 2549 พบว่า มีผู้สูบบุหรี่อายุ 11 ปีขึ้นไปสูบุบหรี่ 11 ล้านคน สูบเฉลี่ยคนละ 10 มวนต่อวัน โดยอัตราการสูบบุหรี่เป็นประจำระหว่างปี 2544-2549 ลดลงในทุกกลุ่มอายุ ยกเว้นกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเพศหญิง ส่วนกลุ่มที่สูบบุหรี่เป็นประจำและสูบมาก คือ กลุ่มผู้ประกอบการด้านธุรกิจฝีมือ เช่น ช่างยนต์ สูบร้อยละ 31 อายุที่เริ่มติดบุหรี่เฉลี่ย 18.4 ปี โดยผู้ชายจะเริ่มสูบเร็วกว่าผู้หญิง คือเมื่ออายุ 18.2 ปี ผู้หญิงเริ่มสูบเมื่ออายุ 18.7 ปี ส่วนกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี สูบบุหรี่ประจำร้อยละ 11
กำลังโหลดความคิดเห็น