xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายผู้ป่วยบุกทำเนียบ ปลุกต่อมสำนึก “รัฐบาลหมัก” เลิกคิดล้ม CL ยามะเร็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่ายฯ ค้านทบทวนซีแอลยา บุกทำเนียบฯ กระตุ้นต่อมสำนึก “รัฐบาลสมัคร” จี้หาจุดยืน หาก “หมอไชยา” ชง ครม.โละทิ้ง  ระบุหากทบทวนใหม่ขอภาคประชาชนเข้าร่วมศึกษา แกนนำฯ ลั่น “ยอดรัก สลักใจ” ยังไม่กล้าสู้ยาราคาแพง ยัน รมต.อ้างเศรษฐกิจพัง ไม่รู้จริงเหตุส่งออกโตต่อเนื่อง

วันนี้ (12 ก.พ.) เครือข่ายประชาชน ประกอบด้วยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ชมรมเพื่อนโรคไต ตัวแทนผู้ช่วยโรคมะเร็ง คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเอดส์ กว่า 100 คน เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือให้กับคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะ นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรับฟังเหตุผลในการทบทวนการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ หรือซีแอลกับยามะเร็ง

โดยเฉพาะการหารือกับนายไชยาที่ผ่านมากลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยกวับการทำซีแอลกับยามะเร็งทั้ง 4 ชนิดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งนายไชยาอ้างว่าจะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ในหนังสือระบุว่า จุดยืนของเครือข่ายต่อรัฐบาลใน 1.กรณีที่ประเทศไทยประสบปัญหาด้านสาธารณสุข รัฐบาลต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนในการตัดสินใจทำซีแอลกับยาที่มีความจำเป็นในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง 2.พวกเราไม่เห็นด้วยกับการที่ รมว.สาธารณสุข นำเรื่องซีแอลยากับมะเร็งทั้ง 4 ชนิดกลับมาพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวมีความโปร่งใส และมีขั้นตอนที่สามารถตรวจสอบได้ โดยผ่านคณะกรรมการถึง 3 ชุด นอกจากนั้นยังมีกระบวนการเจรจาต่อรองราคากับบริษัทยา ก่อนที่จะมีการประกาศกับยาซีแอลทุกตัว

“หากคณะรัฐมนตรี มีมติที่นำเรื่องซีแอลกับยามะเร็งทั้ง 4 ชนิดมาพิจารณาอีกครั้ง จำต้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายผู้ช่วยเรื้อรัง นักวิชาการ และภาคประชาชน เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาทุกขั้นตอน”

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า แม้เช้าวันนี้ รมว.สาธารณสุขได้ยืนยันว่าจะขออยู่ข้างผู้ป่วยและเป็นตัวแทนให้ผู้ช่วยในเรื่องนี้ เราก็ยังให้โอกาสกับการทำงานของ รมว.สาธารณสุข แต่ก็ขอให้อย่าหลงทิศหลงทาง เกรงว่าจะกลายเป็นไปอยู่ข้างกับบริษัทผลิตยา หรือให้ผลประโยชน์กับบริษัทผู้ผลิต นอกจากนั้น กรณีที่ถูกมองว่า จะกลายเป็นการไปละเมิดลิขสิทธิ์กับบริษัทผู้ผลิตยานั้น ตนเห็นว่าเป็นคนละเรื่องกัน

“อย่างกรณีของคุณยอดรัก สลักใจ นักร้องลูกทุ่งชื่อดังที่พบว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็งและได้ออกมาต่อสู้กับโรคนี้ เขาก็ต้องการยาในราคาถูก และการที่เขายังไม่กล้าเข้าสู่โครงการผู้ป่วยมะเร็งของโรงพยาบาลศิริราช ก็น่าจะเกิดจากพบว่าราคายาที่แพงกว่าหลักแสนบาทที่คนที่มีรายได้น้อยคงไม่สามารถเข้าถึง”นายนิมิตร์กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้การที่รัฐมนตรีประมาณ 2 คนอ้างว่าการทบทวนการทำซีแอลยาเพื่อป้องกันการความเสียหายให้กับเศรษฐกิจภาพรวม โดยเฉพาะการส่งออกนั้น หากไปดูตัวเลขการส่งออก โดยเฉพาะจากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ระหว่างเดือน ม.ค.50-ม.ค.51 พบว่า ตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกเดือน การที่รัฐมนตรีในรัฐบาลนี้มาอ้างว่า การทำซีแอลจะทำให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจเสียหายจึงไม่น่าจะเป็นจริง เนื่องจากการส่งออกก็ไม่ได้ลดลง

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้รมว.สาธารณสุข กลับนึกว่าตัวเองเป็นรมว.พาณิชย์ กลายเป็นว่าไปเป็นทุกข์เป็นร้อนกับเรื่องทำซีแอลยา หากจะนำเรื่องนี้ไปหารือในคณะรัฐมนตรีก็ควรจะต้องคิดกันให้ดี

ทั้งนี้ วานนี้ (11 ก.พ.) อ็อกแฟม ร่วมกับองค์การหมอไร้พรมแดน เบลเยียม (ประเทศไทย) พร้อมด้วย 31 องค์กรด้านการเข้าถึงการรักษา, สถาบันการศึกษา และเครือข่ายผู้ป่วยทั่วโลกได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อปลุกจิตสำนึกให้ยึดมั่นนโยบายการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาจำเป็นอย่างทั่วถึงของคนไทยโดยเฉพาะการบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล)

ทั้งนี้ สาระสำคัญในจดหมายฉบับดังกล่าวถามถึงจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลชุดใหม่ในเชิงนโยบายที่จะนำมาปฏิบัติเพื่อทำให้ประชาชนไทยมีโอกาสเข้าถึงยาจำเป็นอย่างทั่วถึงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอความชัดเจนในท่าทีของรัฐบาลใหม่ต่อมาตรการบังคับใช้สิทธิฯ ซึ่งรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ประกาศใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากมาตรการบังคับใช้สิทธิฯ เป็นมาตรการทางกฎหมายที่มีความสำคัญและมีประสิทธิภาพยิ่งในการปรับปรุงการเข้าถึงยารักษาโรคเรื้อรังและโรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

ทั้งนี้ ได้มีข้อพิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่ามาตรการบังคับใช้สิทธิฯ ซึ่งจะช่วยสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้นและช่วยจำกัดการผูกขาดตลาดและช่วยให้รัฐบาลสามารถยืนหยัดแสดงความรับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญในการส่งเสริมความเสมอภาคและปกป้องการสาธารณสุขของประเทศ

จดหมายยังระบุด้วยว่า ข้อสำคัญอีกประการ คือ การที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีชื่อสามัญราคาถูกที่นำเข้าภายใต้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ นั้น ช่วยให้สามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้อย่างมากและทำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถให้บริการยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ก่อผลข้างเคียงทางยาน้อย และง่ายต่อการติดตามการรักษาแก่ผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ได้อีกเป็นจำนวนมาก

ยิ่งไปกว่านั้น เงินงบประมาณที่สามารถประหยัดได้นี้ยังช่วยให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถขยายสิทธิประโยชน์ครอบคลุมผู้ป่วยโรคเรื้อรังเช่นโรคไตได้อีกด้วย

“การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงยาจำเป็นประการแรกสุดนั้นจำต้องอาศัย “ความมุ่งมั่น” ของรัฐบาล พวกเราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลชุดนี้จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นพร้อมกับจัดทำแผนยุทธศาสตร์ใหม่ๆ รูปแบบวิธีการอื่นๆ เพื่อใช้เป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการขยายการเข้าถึงยาอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการการบังคับใช้สิทธิฯ ยังควรนำมาใช้ประกอบในแผนดังกล่าวด้วยเช่นกัน” จดหมายระบุ

ตอนท้ายของจดหมายบอกด้วยว่า เวลานี้ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่างรอคอยให้มีการนำเข้ายาชื่อสามัญราคาถูกของยาต้านมะเร็ง 3 รายการที่ติดสิทธิบัตรและมีราคาแพง จึงต้องการเรียกร้องให้รัฐมนตรีให้คำรับรองว่าผู้ป่วยเหล่านี้

รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคอื่นๆ จะไม่ต้องประสบกับความเดือดร้อนยากลำบากอันเป็นผลพวงมาจากการที่ยาจำเป็นต่อชีวิตติดสิทธิบัตร และมีราคาแพงเกินไป


กำลังโหลดความคิดเห็น