xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.แย้มรัฐต้องควัก 1.5 หมื่นล.ให้เด็กเรียนฟรี 12 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สพฐ.ระบุจัดเรียนฟรี 12 ปี รัฐต้องอัดฉีดเงิน 1.5 หมื่นล้านมาเติมให้ ร.ร.ในสังกัด แย้มหากต้องการยกระดับร.ร.ให้อยู่ระดับคุณภาพดีอาจต้องเพิ่มเงินอีกเท่าตัว หรือ 3 หมื่นล้านคุณภาพระดับปริ่มน้ำ แต่หากต้องการคุณภาพระดับดีอาจต้องใช้เงินเพิ่มอีก 1 เท่าตัว หรือประมาณ 3 หมื่นล้าน

นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ไปวิเคราะห์หาตัวเลขงบประมาณที่จะต้องจัดสรรเพิ่มเติมให้แก่โรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฟรี 12 ปี โดยไม่ต้องเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมจากผู้ปกครอง ในเบื้องต้นพบว่า นอกจากค่าใช้จ่ายรายหัวที่ ร.ร.ได้รับตามปกติแล้ว รัฐบาลจะจัดสรรเงินให้ ร.ร.อีกประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อให้ ร.ร.ในสังกัด สพฐ.จัดการศึกษาได้มีมาตรฐานขั้นพื้นฐาน

สำหรับเงินจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาทที่ต้องจัดสรรเพิ่มเติมให้ ร.ร.นั้น แยกเป็นค่าใช้จ่ายใน 6 รายการหลัก ดังนี้ 1. เป็นงบประมาณสำหรับจ้างครูมาสอนในวิชาที่ขาดแคลนครู ซึ่งปัจจุบัน ร.ร.ทั่วประเทศใช้เงินตัวเองจ้างครูประมาณ 14,000 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 570 ล้านบาท จึง ต้องจัดสรรเงินจำนวนนี้ให้ ร.ร. เพื่อที่ ร.ร.จะได้ไม่ต้องไปเรียกเงินจากผู้ปกครองมาจ่ายเป็นเงินเดือนครู

2.ค่าสาธารณูปโภค ที่ผ่านมา สพฐ.ไม่ได้จัดสรรให้ ร.ร.โดยเฉพาะ แต่คิดรวมอยู่ในค่าใช้จ่ายรายหัวซึ่งไม่เพียงพอกับที่ ร.ร.จ่ายจริง สพฐ.จึงได้คำนวณค่าสาธารณูปโภคออกมาเป็นรายหัว โดยนำค่าสาธารณูปโภคของ ร.ร.ในสังกัดทั้งหมดหารด้วยจำนวนนักเรียนในสังกัดทั้งหมดประมาณ 8,000,000 คน ได้ค่าสาธารณูปโภครายหัวที่ 280 บาท รวมแล้ว จะต้องจัดสรรงบประมาณ 2,388 ล้านบาท แจกจ่ายให้โรงเรียนเป็นค่าสาธารณูปโภค

3.งบสำหรับลงทุนซ่อมแซมอาคารเรียนที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม ก่อนหน้านี้ในโครงการเมกะโปรเจก สพฐ.เคยเสนอโครงการซ่อมแซมและสร้างอาคารเรียนใหม่ทดแทนรวมอยู่ในเมกกะโปเจคด้วย ซึ่งต้องใช้งบสูงถึงเกือบ 5,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ สพฐ.เลือกเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมจริงๆ และเป็นการปรับปรุงซ่อมแซมในระดับพื้นฐานตัวเลข ไม่มีการสร้างอาคารเรียนใหม่ทดแทน ตัวเลขงบประมาณจึงลดลงมามาก เหลือเพียง 806 ล้านบาท

4.งบสำหรับจัดหาสื่อการเรียนโดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อปรับฐานให้โรงเรียนทุกแห่งมีสัดส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อนักเรียนที่ 1:20 จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 1:40 หรือมากกว่านั้นในโรงเรียนบางแห่ง โดยรายการนี้จะต้องใช้งบประมาณ 2,856 ล้านบาท

5.งบสำหรับพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อให้โรงเรียนทุกแห่งผ่านการประเมินมาตรฐานขั้นต่ำของสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) โดย สพฐ.ได้สุ่มตัวอย่างจากโรงเรียนจำนวนหนึ่งมาคำนวณว่า หาค่าใช้จ่ายรายหัวที่ ร.ร.ต้องใช้สำหรับพัฒนาการเรียนการสอนให้ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำของ สมศ. และพบว่า ต้องใช้ค่าใช้จ่ายต่อหัว 279 บาท รวมแล้วต้องใช้งบประมาณ 3,237 ล้านบาท

6.งบช่วยเหลือเด็กยากจน ด้อยโอกาส ซึ่งตั้งเป้าจะต้องช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้ได้ ร้อยละ 40 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด รวมแล้วต้องใช้เงินประมาณ 5,169 ล้านบาท

นายสมเกียรติ ระบุว่า ตัวเลขที่คำนวณมานี้ เพียงพอให้โรงเรียนจัดการศึกษาได้มาตรฐานขั้นต้นเท่านั้น แต่หากต้องการให้โรงเรียนทุกแห่งจัดการศึกษาได้มาตรฐาน ผ่านการประเมินของ สมศ. อาจต้องใช้เงินมากกว่านี้ 1 เท่าตัว คือ ประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งตรงส่วนนี้ สพฐ.กำลังศึกษาอยู่และจะสรุปตัวเลขข้อมูลทั้ง 2 อย่าง คือ งบประมาณที่จะต้องจัดสรรเพิ่มเติมให้ ร.ร.เพื่อให้ ร.ร.จัดการศึกษาได้มาตรฐานขั้นต้น และมาตรฐานขั้นดี เสนอ รมว.ศธ.ใหม่พิจารณา

“จะจัดการศึกษาให้ฟรีจริง และได้มาตรฐานระดับดี จะต้องใช้เงินเพิ่มอีกมาก เทียบเคียงได้จากเงินค่าใช้จ่ายรายหัวระดับอนุบาลถึง ม.ปลายจาก กทม. ซึ่งใช้งบสูงถึง 5,000-7,000 กว่าบาท แต่ สพฐ.ใช้สูงสุดเพียง 3,800 บาท”

**ด้านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า ตัวเลขข้างต้นเป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น สพฐ.จะต้องนำมาพิจารณากลั่นกรองอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนยังให้เจ้าหน้าเตรียมข้อมูล 3 เรื่อง คือ การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2 ปัญหาขาดแคลน ครู และ 3. การจัดหางบประมาณมาจ่ายเป็นค่าวิทยฐานะให้ครูที่ผ่านการประเมินเข้าสู่วิทยฐานะหลังวันที่ 1 ต.ค.2550 อีกประมาณ 1.1 หมื่นคน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำเสนอ รมว.ศธ.คนใหม่

กำลังโหลดความคิดเห็น