xs
xsm
sm
md
lg

ปี 51 ระวัง “โรคระบาด” คืนชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้ว่าในรอบปีที่ผ่านมา สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยอันดับต้นๆ ยังคงเป็นปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมการกินอยู่ เช่น อุบัติเหตุ มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งดูทีท่าแล้วก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทว่าโรคติดต่อที่มีการระบาดในประเทศ ถึงจะเป็นโรคที่มีผู้เสียชีวิตไม่มาก แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะโรคเหล่านี้หากเกิดการระบาดย่อมเกิดข่าวลือ สร้างความแตกตื่น และเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็นติดตามมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากภาวะโลกร้อนชัดเจนมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากสัญญาณร้ายที่โรคเก่าๆที่ห่างหายไปเนิ่นนานให้กลับมาสร้างความปั่นป่วนและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2551 นี้

ทั้งนี้ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งติดตามการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ มาโดยตลอด ได้สรุปภาวะโรคติดต่อที่มีการระบาด ในปีที่ผ่านมาว่า ได้รับรายงานจากการสอบสวนการเกิดโรคระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศจำนวน 495 กรณี สำหรับโรคติดต่อที่ต้องจับตาเป็นพิเศษในปีนี้ มี 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มโรคติดต่อผ่านทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอหิวาต์ โรคบิด กลุ่มโรคติดต่อผ่านทางยุงและแมลงเป็นพาหะนำโรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก มาลาเรีย และกลุ่มโรคที่ติดต่อผ่านทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ และโรคมือเท้าปาก
**โลกร้อน กระตุ้น “เชื้ออหิวาต์” อาละวาด
เริ่มต้นที่โรคติดต่อผ่านทางอาหารและน้ำ นพ.คำนวณ ระบุว่า สำหรับ “อหิวาตกโรค” ถือเป็นโรคดั้งเดิมที่มีมานมนาน เป็นโรคประจำถิ่น ในแถบภูมิภาคเอเชีย โดยตัวเชื้อโรคมีชีวิตอยู่ในน้ำกร่อยได้ ซึ่งหากได้รับเชื้อนี้จะทำให้เกิดภาวะท้องร่วงรุนแรง ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำอาจ 20-30 ครั้ง จนอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ได้รับรายงานยืนยันมีผู้เป็นโรคอหิวาต์ในปี 2550 จำนวน 927 ราย และมีผู้เสียชีวิต 7 ราย ซึ่งหากเปรียบเทียบกับอัตราการป่วยในปีที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ป่วยเพียง 35 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
“ที่น่าสนใจคือ อยู่ๆ ก็มีเชื้ออหิวาต์แพร่ระบาดไปกว่า 20 จังหวัดในเดือนกันยายนต่อตุลาคม ซึ่งจากการสอบสวนโรคพบว่า มีการระบาดเป็นลูกโซ่ โดยเริ่มต้นจากการที่ชาวบ้านกินหอยแครงที่ไม่สุก ทำให้ได้รับเชื้อโรค ซึ่งการเลี้ยงหอยแครงเป็นฟาร์มหากอยู่ปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย ผนวกกับเป็นบริเวณที่ชาวบ้านไม่มีส้วม หรือ มีส้วมไม่ถูกสุขลักษณะ มีการถ่ายลงน้ำ ทำให้เชื้อโรคแพร่อย่างรวดเร็ว โดยเชื้ออหิวาต์จะเกาะอยู่ที่แพลงก์ตอนเล็ก ๆ เมื่อหอยกินแพลงตอนก็เท่ากับกินอุจจาระเข้าไปด้วย เมื่อคนเรากินหอยแครงที่ไม่สุก เชื้อโรคยังไม่ตายจึงทำให้ติดโรคอหิวาต์ คนเหล่านี้หากมีอาชีพเป็นผู้เกี่ยวข้องกับวงจรอาหาร เช่น เป็นผู้ชำแหละเนื้อ ขายหรือทำอาหารก็มีโอกาสเอาเชื้อจากอุจจาระของตนเองไปปนเปื้อนในวงจรอาหารชนิดใหม่ โดยเฉพาะ อาหารสุกๆดิบๆ” นพ.คำนวณ ระบุ

ที่สำคัญคือ นักวิทยาศาสตร์สมมติฐานว่า การที่เกิดภาวะโลกร้อน อุณหภูมิในมหาสมุทรมีการเปลี่ยนแปลง แพลงก์ตอนอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้เชื้ออหิวาต์มีวงจรชีวิตที่อยู่ได้ดีขึ้น มีผลทำให้หอยแครงและหอยสองฝาชนิดอื่นๆ มีเชื้ออหิวาตกโรค จึงได้มีการร่วมกันศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ระหว่างหน่วยงานต่างๆเช่นกรมประมง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

**ข้าวโพดอ่อนส่งผล “บิด” ระบาด
นอกจากนี้ยังมีโรคติดต่อผ่านทางอาหารและน้ำ อย่าง “โรคบิด” ที่ควรจับตาเฝ้าระวัง ซึ่งคนไทยอาจเห็นเป็นเรื่องธรรมดาแต่จริงๆ แล้วไม่ธรรมดา
นพ.คำนวณ ให้ข้อมูลว่า คนไทยรู้จักโรคนี้มานาน ซึ่งลักษณะอาการของโรคบิดจะเป็นการถ่ายกะปริดกะปรอย ปวดมวน ทรมาน สำหรับในรอบปี 2550 พบมีผู้ป่วย 4,177 ราย เสียชีวิต 1 ราย แต่ในต่างประเทศมีรายงานว่าในช่วงเดือนสิงหาคมเกิดการระบาดของโรคบิดในเดนมาร์ก 100 กว่าราย และออสเตรเลียหลาย10 ราย เมื่อสืบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยในทั้ง 2 ประเทศมีประวัติการรับประทานข้าวโพดอ่อน ซึ่งส่งออกมาจากประเทศไทย จากนั้นได้ตรวจสอบที่มา พบว่า จังหวัดราชบุรี และอีกหลายจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตข้าวโพดที่สำคัญ มีผู้ป่วยโรคบิดมากผิดปกติ
“จุดปนเปื้อนไม่ได้อยู่ที่โรงงานแต่อยู่ที่ระดับชาวบ้าน ซึ่งนั่งล้อมวงกันแกะเปลือกข้าวโพด หากมีผู้ป่วยบิด เข้าห้องน้ำไม่ได้ล้างมือแล้วมาแกะเปลือกข้าวโพดก็ทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ ดังนั้น เมื่อพบผู้ป่วยและมีการระบาดในต่างประเทศจึงส่งผลให้ประเทศนั้นๆ ระงับการนำเข้าข้าวโพดอ่อนของไทยไปชั่วขณะ โชคดีที่กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงสาธารณสุขรวมถึงสมาคมส่งออกได้ร่วมมือกันชี้แจงให้ข้อเท็จจริงผลการตรวจสอบจนเป็นที่พอใจจึงมีการอนุญาติใหม่ โดยที่ฝ่ายไทยต้องพยายามปรับมาตรฐาน ด้านสุขลักษณะในระดับหมู่บ้าน อบต. อบจ.ให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการถ่ายอุจจาระเป็นที่เป็นทางและการล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง อาหารของไทยก็จะมีความปลอดภัย ไม่มีปัญหาต่อการส่งออก ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ”
นพ.คำนวณ บอกอีกว่า จุดสำคัญของเรื่องนี้ คือ อย่าคิดว่าโรคที่เกิดในไทยจะไม่แพร่ไปที่อื่น ในโลกยุคไร้พรมแดน โรคก็ไร้พรมแดนเช่นเดียวกัน มันสามารถแพร่ไปได้ทั่วโลก

**ไข้เลือดออก “ดุ” ตาย 83
สำหรับสถานการณ์ของ “โรคไข้เลือดออก” ในปีที่ผ่านมา เกิดการระบาดดุมาก โดยคร่าชีวิตคนไทยถึง 83 ราย มีผู้ป่วยตั้งแต่ต้นปี 2550 จนถึงขณะนี้จำนวน 60,625 ราย
นพ.คำนวณ กล่าวถึงปรากฏการณ์นี้ว่า ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดขึ้นทุกปี แต่ปีนี้มีการเพิ่มสูงขึ้น ไม่เพียงมีการระบาดในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในภูมิภาคเอเชีย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ พบว่ามีการระบาดของโรคไข้เลือดออก เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
“โรคนี้เป็นอีกโรคหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่า เกี่ยวโยงกับกับภาวะโลกร้อน เนื่องจากอุณหภูมิของโลกแปรปรวน ทำให้วงจรชีวิตของยุงเปลี่ยนแปลงไปเอื้อต่อการแพร่ระบาด และเชื้อก็มีการปรับตัว วิถีชีวิตของคนก็ต้องมีการเก็บน้ำไว้เผื่อขาดแคลนน้ำ เช่น สมัยก่อนไม่เคยพบโรคไข้เลือดออกในเขตภูเขาสูงแต่ในวันนี้กลับพบว่ามีการระบาดในหมู่บ้านชาวเขาจังหวัดเชียงราย ทำให้ล้มป่วยกันทั้งหมู่บ้าน ล้นโรงพยาบาล ซึ่งการที่ชาวเขาไม่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกทำให้ไม่มีภูมิต้านทาน จึงต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น รวมไปถึงพบว่าเกิดโรคไข้เลือดออกในประเทศภูฏานซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูง ดังนั้นจะสังเกตเห็นว่า เชื้อไข้เลือดออกได้คืบคลานจากบริเวณเส้นศูนย์สูตรแผ่ขยายอาณาเขตออกไปเรื่อยๆ”
นอกจากโรคไข้เลือดออก โรคที่อยู่ในกลุ่มโรคติดต่อผ่านทางยุงและแมลงเป็นพาหะนำโรค อย่าง “โรคมาลาเรีย” ก็น่าเป็นห่วง โดยในปี 2550 พบมีผู้ป่วยโรคมาลาเรียทั้งสิ้น 28,764 ราย เสียชีวิต 38 ราย มีพาหะนำโรคจากยุงก้นปล่อง ในไทยพบการระบาด 2 สายพันธุ์ คือ พลาสโมเดียม ฟาซิพารัม และพลาสโมเดียม ไวแวกส์ สำหรับปีที่ผ่านมาพบว่า มีการระบาดมากในภาคใต้และบริเวณชายแดนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกัมพูชา เมืองไพลิน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการดื้อยา รวมถึงภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้ไข่ยุงก้นปล่องกลายเป็นตัวยุงเร็ว ก่อให้เกิดการระบาดรุนแรงขึ้น

**ลิซมาเนีย...โรคใหม่ที่ต้องจับตา
โรคติดต่อที่มีแมลงเป็นพาหะอีกโรค คือ “โรคลิซมาเนีย” แม้ชื่ออาจไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยมากนัก และเรียกได้ว่า เป็นโรคใหม่ในไทยแต่ไม่ใหม่ในประเทศแถบตะวันออกกลาง เพราะโรคนี้มีมานานแล้วเช่นกัน
นพ.คำนวณ อธิบายถึงโรคนี้ว่า โรคลิซมาเนียมีแมลงตัวเล็กๆ หรือ ริ้นฝอยทรายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งปกติแล้วพบผู้ป่วยไม่มาก เพียง 1-2 รายในรอบหลายปี และเมื่อสืบประวัติจะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานที่เดินทางไปทำงานในประเทศตะวันออกกลางและติดเชื้อกลับมา แต่ระยะ 2-3 ปีหลังกลับพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ แต่ไม่ได้เดินทางไปไหน ก็เกิดโรคได้เช่นกัน
นพ.คำนวณ บอกว่า ที่อันตราย คือ อาการของโรคลิซมาเนีย ที่ทำให้มีไข้ขึ้นสูง ป่วยเรื้อรัง ไม่มีแรง หรือรุนแรงถึงขั้นตับ ม้ามโต ยากต่อการรักษามาก เนื่องจากโรคนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทำให้แม้แต่แพทย์ก็ไม่สามารถระบุหาสาเหตุของโรคได้ โดยในปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วย 3 ราย ทุกรายไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศเลย จึงอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวงจรชีวิตของแมลงพาหะดังกล่าว เพื่อให้ทราบว่ามีการแพร่ระบาดได้อย่างไร โดยร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและกรมควบคุมโรคซึ่งในอนาคตอาจขยายความร่วมมือกับประเทศอินเดียและบังกลาเทศที่มีผู้ป่วยมาก
ดังนั้น โรคลิซมาเนีย จึงถือเป็นอีกโรคหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวัง และถือเป็นอุทาหรณ์ของโรคว่า โรคที่เกิดอยู่นอกประเทศก็อาจเข้ามาระบาดเกิดขึ้นในประเทศไทยได้

**มือ เท้า ปากในเด็กเล็ก...ปีหนูน่าห่วง
อีกโรคที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก คือ “โรคมือ เท้า ปาก” จากเชื้อไวรัสเอ็นเทอโรไวรัส 71 โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอนุบาล ที่ถึงแม้ในปี 2550 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 11,846 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ก็ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องให้ความสนใจ
นพ.คำนวณ กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคนี้ว่า ในปี 2550 มีผู้ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีจำนวนมากถึง 11,846 ราย จากในปี 2549 มียอดผู้ป่วย 3,810 ราย เสียชีวิต13 ราย อย่างไรก็ดี ถือว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าเดิม เพราะไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะขณะที่บ้านเราไม่รุนแรงนักแต่โรคมือ เท้า ปาก ในประเทศเวียดนาม รุนแรงมาก มีผู้เสียชีวิตหลาย 10 ราย ดังนั้น ตามวงจรของโรค ในปีหนูนี้ เราอาจต้องเจอโรคมือเท้า ปาก ที่มีความรุนแรงมากขึ้น โรคนี้จึงเป็นโรคที่จะต้องมีการเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
**อย่านิ่งนอนใจ โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่
“โรคไข้หวัดนก” โรคติดต่อผ่านทางเดินหายใจที่ผู้คนเคยตระหนก ตกใจ และหวาดกลัว แม้ในปี 2550 จะไม่มีตัวเลขผู้ป่วยเลย แต่ก็เป็นโรคที่ไม่ควรนิ่งนอนใจและให้ความสำคัญ
นพ.คำนวณ บอกว่า แม้ในประเทศจะไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ แต่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ไม่ว่าจะเป็นประเทศลาว พม่า กลับมีการเปิดเผยว่า พบผู้ป่วยเป็นรายแรกของประเทศ ในเวียดนามก็เริ่มพบผู้ป่วยใหม่ ในอินโดนีเซีย จีนก็ยังมีผู้ป่วยต่อเนื่องและมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดนก โดยเฉพาะล่าสุดที่ปากีสถาน มีพี่น้องในครอบครัวเดียวกันป่วยถึง 6 คนและเสียชีวิต 2 คนโดยอาจเกิดการติดต่อจากคนสู่คน ในครอบครัวนี้
“หากคิดว่าไทยปลอดภัยแล้ว ถือเป็นการคิดผิดอย่างแรง เพราะการไม่มีผู้ปวยเลยจะทำให้เราประมาท ขณะที่เพื่อนของเราหลายประเทศ มีผู้ป่วยเกิดขึ้น ขณะเดียวกันเชื้อโรคก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไปสู่จุดที่จะสามารถที่จะติดต่อจากคนสู่คนได้ อีกทั้งบางรายผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง สามารถเดินทางไปมาได้ อาจทำให้กลายเป็นการแพร่เชื้อโรคอย่างดี”
ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นโรคที่หลายคนอาจไม่ได้ให้ความสำคัญ ก็พบว่ามีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ทางอ้อม คือ การมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ผู้เป็นโรคหัวใจหรือโรคเรื้อรังอยู่ก่อนทำให้อาการกำเริบ โดยในแต่ละปีคาดว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ทางอ้อมกว่า 100 ราย
**เตือนปีหนูโรคระบาดรุนแรงขึ้นอีก
นอกจากนั้น โรคที่ติดต่อผ่านทางเดินหายใจที่รู้จักกันมานาน เช่น วัณโรค ก็เป็นโรคที่หลายฝ่ายจับตา เพราะยังเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ขณะนี้มีผู้ป่วยกว่า 50,000 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่กว่า 20,000 ราย ส่วนใหญ่มีปัญหาเนื่องมาจากการทานยาไม่ครบหรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเช่นการติดเชื้อเอดส์อยู่ก่อนด้วยและไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยรักษาตั้งแต่ต้นมือ ทำให้เชื้อดื้อ
อีกกรณีหนึ่งคือ โรคลีเจียนแนร์ ที่เชื้อปนเปื้อนมากับละอองน้ำและเข้าสู่ทางเดินหายใจซึ่งพบว่ามีชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวที่ภูเก็ตแล้วเป็นโรคนี้ ซึ่งในชาวต่างชาติเป็นโรคนี้แล้วมีอาการรุนแรง แต่คนไทยถือว่ามีภูมิคุ้มกันทำให้เป็นแล้วไม่รุนแรงมาก อย่างไรก็ดีโรคนี้มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งภาคธุรกิจจะต้องจับมือกันแก้ไขปัญหาโดยต้องทำให้มีน้ำประปาใช้กันอย่างเพียงพอ หากจะใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติก็ต้องมีกระบวนการบำบัดด้วยคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อ
นอกจากนี้ยังมีโรคสเตปโตคอสคัสลูอิส ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในหมู โดยหมูมีเชื้อในกระแสโลหิต หมูอาจตายหรือไม่ตายก็ได้ปัญหาคือคนไทยแถบภาคเหนือนิยมกินลู่ โดยมีเนื้อหมูดิบและเลือดหมูสดๆเป็นองค์ประกอบ หากหมูเป็นโรค ก็จะกลายเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคอย่างดี พบมีการระบาดในภาคเหนือ เช่น จ. พะเยา นครสวรรค์ สุโขทัย ลำปาง อุตรดิตถ์ โดยในปีที่ผ่านมาทั่วประเทศได้รับการรายงานทั้งหมด 97 ราย เสียชีวิต 11 ราย ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่รอดชีวิตส่วนหนึ่งทำให้เป็นหูหนวกสนิทอีกด้วย
ในปีหนู...โรคธรรมดาที่ไม่ธรรมดาที่กล่าวมาข้างต้น จะยังคงอยู่ และก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ พร้อมฉวยโอกาสระบาดรุนแรงขึ้น หากไม่ป้องกัน และดูแลจัดการให้ดี ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออก มาลาเรีย มือ เท้า ปาก ในเด็กเล็ก โรคเหล่านี้ยังคงต้องเฝ้าระวังจับตาอย่างเข้มงวด ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน โดยเฉพาะชุมชน จะต้องผนึกกำลังกัน
อย่างไรก็ดี โรคติดต่อต่างๆ เหล่านี้เป็นโรคที่สามารถป้องกัน ควบคุมได้ตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกจึงเห็นพ้องกันที่จะเริ่มบังคับใช้ กฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 (International Health Regulation : IHR 2005) ซึ่งเป็นข้อตกลงของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกทั้ง 192 ประเทศ เพื่อตรวจจับการระบาด ป้องกันควบคุมโรคติดต่อข้ามแดนและภัยฉุกเฉินทางสาธารณสุขอื่น ๆ ลดผลกระทบในการเดินทาง การขนส่งระหว่างประเทศพร้อมกันทั่วโลก
สำหรับ ประเทศไทยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีมติครม.ให้ประเทศไทยปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคจะได้ร่วมมือกับอีก 18 กระทรวงในการสร้างความเข้มแข็งของระบบเฝ้าระวังควบคุมโรคตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงการเชื่อมต่อกับนานาประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น