มหาดไทย กำชับจังหวัดตรวจสอบ “ระบบบำบัดนํ้าเสียท้องถิ่น” นโยบายประชารัฐ รัฐบาลชุดก่อน หลัง สตง.ชำแหละ! งบ 5.4 พันล้าน ระบบบำบัดน้ำเสียที่สร้างเสร็จไปแล้ว 24 อปท. มีทั้งหยุดเดินเครื่องถาวร บำบัดไม่ต่อเนื่อง หลายแห่งขาดทุน ไม่คุ้มค่าจัดเก็บ เน้นให้ผู้บริหารท้องถิ่น มีส่วนร่วม ขอคำปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ แนะเก็บข้อมูลและสรุปหากพบเข้าข่ายแหล่งกำเนิดมลพิษ สนองแผนบำบัดนํ้าเสีย 20 ปี
วันนี้ (5 ก.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ้านมา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เวียนหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทั่วประเทศ
ให้กำชับนโยบายและงบประมาณการบริหารจัดการนํ้าเสียชุมชน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่
ภายหลังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือแจ้งกระทรวงมหาดไทย ว่า ได้ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการบริหารจัดการระบบรวบรวมและระบบบำบัดนํ้าเสียของ อปท.
มหาดไทย ยกหนังสือ 2 ฉบับ ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.5/ว 397 ลงวันที่ 21 ก.พ. 2560
ให้กำชับการดำเนินการบริหารจัดการนํ้าเสีย “ตามแนวทางประชารัฐ” ของรัฐบาลที่ผ่านมา ที่ให้เน้นยํ้าความสำคัญ ต้นทางน้ำ กลางทางน้ำ และปลายทางน้ำ
“ให้ผู้บริหารท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับนโยบายการจัดการนํ้าเสียฯ ให้เป็นระบบ มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า มีความต่อเนื่อง และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม”
อีกฉบับ กำชับตาม หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0820.3/ว 1499 ลงวันที่ 12 มี.ค. 2563
สามารถขอคำปรึกษา และแนวทางการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารระบบฯในพื้นที่ ทั้งองค์การจัดการนํ้าเสีย (อจน.) หรือสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัด
อปท. ที่มีระบบบำบัดนํ้าเสียในความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ เข้าข่ายต้องดำเนินการตามกฎกระทรวง
ที่ออกตามความในมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ต้องเก็บข้อมูลและรายงานสรุปการทำงานของระบบบำบัดนาเสีย
โดยกำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น ควบคุม กำกับดูแล และติดตาม เช่น เก็บสถิติและข้อมูลการทำงานของระบบบำบัดนํ้าเสีย (แบบทส.1) ทุกวัน
และรายงาน สรุปผลการทำงาบของระบบบำบัดนํ้าเสีย (แบบ ทส.2) ทุกเดือน
ให้จังหวัด นำรายงาน สตง.วิเคราะห์หาแนวทางในการป้องกัน และศึกษาแผนปฏิบัติการด้านการจัดการนํ้าเสียชุมชน ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)
ฉบับที่ จัดทำโดย อจน. เพื่อนำไปเป็นแนวปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องและเชื่อมโยงกับแผนงานระดับชาติ
สำหรับรายงานที่ สตง.เผยแพร่ จากนโยบาย “มหาดไทย” ของรัฐบาลชุดที่แล้ว ในแก้ไขปัญหาน้ำเสียผ่านกลไก “ประชารัฐ” (ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง)
ในพื้นที่ 15 จังหวัด ทั้งหมด 24 แห่ง วงเงินก่อสร้าง 5,463,940,400 บาท สามารถในการรองรับน้ำเสียรวม 251,528.00 ลบ.ม./วัน
ดังตัวอย่างที่ สตง. พบ 11 แห่ง จาก 24 แห่ง วงเงินก่อสร้าง 1,338 ล้านบาท ได้หยุดเดินระบบหรือเดินระบบไม่ต่อเนื่อง
“1 แห่งหยุดเดินระบบถาวร เหตุนํ้าเสียไม่สามารถไหลเข้าระบบบำบัดได้ และ 4 แห่ง หยุดเดินระบบชั่วคราว เนื่องจากสภาพบ่อบำบัดไม่เหมาะสม มีปริมาณนํ้าเสียไหลเข้าสู่ระบบน้อยจนเดินระบบไม่ได้”
มีการปล่อยนํ้าเสียจากโรงฆ่าสัตว์เข้าสู่ระบบบำบัดโดยตรง มีผลทำให้นํ้าเสียที่ผ่านการบำบัดมีคุณภาพไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
อุปกรณ์/เครื่องสูบนํ้าชำรุดเสียหายไม่สามารถใช้งานได้ รวมถึงที่ปิด ระบบเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมระบบรวบรวมและระบบบำบัดนํ้าเสีย
ยังพบว่า มีการเดินระบบ ไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากมีปัญหาระบบไฟฟ้าไม่เพียงพอ ต้องปิดระบบในช่วงกลางคืน
ยังพบตัวอย่าง เช่น เครื่องจักรอุปกรณ์ มูลค่ารวม 498 ล้านบาท ของ เทศบาลนครเชียงใหม่ ไม่สอดคล้องกับสภาพการใช้งานในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้เป็นภาระในการบำรุงดูแลรักษาในอนาคต สูญเปล่าในการใช้งบประมาณได้
หรือ “เทศบาลเมืองตาก” มีอัตราค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสูงถึง 191,641,379.31 บาท ต่อตารางกิโลเมตร แต่สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ในเขตรับผิดชอบได้เพียงร้อยละ 19.94 เท่านั้น
สตง.พบว่า ในปีงบ 2565 อปท.ที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด ในการบริหารจัดการระบบน้ำเสีย (ไม่รวมค่าใช้จ่ายกระแสไฟฟ้า) เช่น
“เทศบาลนครนครสวรรค์” 18,917,302.94 บาท รองลงมา เทศบาลนครเชียงใหม่ 10,466,315.87 บาท เทศบาลนครเชียงราย 8,887,919.66 บาท และเทศบาลเมืองกำแพงเพชร 5,226,947.90 บาท
โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า รองลงมาคือ ค่าบุคลากร ค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา ค่าสารเคมี และค่าตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ.