สตง.ชำแหละ! 5.4 พันล้าน งบฯบริหารระบบบำบัดน้ำเสีย ในกำกับ อปท.15 จังหวัด ผ่านงบฯมหาดไทย ปี 2565 ของรัฐบาลชุดก่อน พบจาก 24 แห่ง มีทั้งหยุดเดินเครื่องถาวร บำบัดไม่ต่อเนื่อง เฉพาะ "ทต.เมืองตะพานหิน" ปริมาณนํ้าเสียไหลเข้าระบบน้อยที่สุด พบเครื่องจักรอุปกรณ์ 498 ล้านของ "ทน.เชียงใหม่" ส่อสูญเปล่า ส่วนบ่อบำบัด "ทม.ตาก"มูลค่า 191ล้าน ครอบคลุมพื้นที่แค่ 19% ตะลึง!หลาย อปท.ค่าบริหาร ไม่คุ้ม "ค่าจัดเก็บบำบัดนํ้าเสีย"
วันนี้ (1 เม.ย.2567) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยว่า สตง.เผยแพร่ ผลตรวจสอบ โครงการบริหารจัดการระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ซึ่งเป็นรายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานฯ ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จากนโยบาย "มหาดไทย" ของรัฐบาลชุดที่แล้ว ในแก้ไขปัญหาน้ำเสียผ่านกลไก "ประชารัฐ" (ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง)
ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพนํ้าและอนุรักษ์ทรัพยากรนํ้า ของกระทรวงมหาดไทย
ในพื้นที่ 15 จังหวัด ทั้งหมด 24 แห่ง วงเงินก่อสร้าง 5,463,940,400 บาท สามารถในการรองรับน้ำเสียรวม 251,528.00 ลบ.ม./วัน
สตง.พบว่า 11 จาก 24 แห่ง วงเงินก่อสร้าง 1,338 ล้านบาท ได้หยุดเดินระบบหรือเดินระบบไม่ต่อเนื่อง
"1 แห่งหยุดเดินระบบถาวร เหตุนํ้าเสียไม่สามารถไหลเข้าระบบบำบัดได้ และ 4 แห่ง หยุดเดินระบบชั่วคราว เนื่องจากสภาพบ่อบำบัดไม่เหมาะสม มีปริมาณนํ้าเสียไหลเข้าสู่ระบบน้อยจนเดินระบบไม่ได้"
ยังพบว่า 1 แห่ง มีการปล่อยนํ้าเสียจากโรงฆ่าสัตว์เข้าสู่ระบบบำบัดโดยตรง มีผลทำให้นํ้าเสียที่ผ่านการบำบัดมีคุณภาพไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
และ 1 แห่ง พบว่า อุปกรณ์/เครื่องสูบนํ้าชำรุดเสียหายไม่สามารถใช้งานได้ รวมถึงอีก 3 แห่ง ที่ปิด ระบบเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมระบบรวบรวมและระบบบำบัดนํ้าเสีย
ท้ายสุด 1 แห่ง มีการเดินระบบ ไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากมีปัญหาระบบไฟฟ้าไม่เพียงพอ ต้องปิดระบบในช่วงกลางคืน
สตง. ยังพบว่า ระบบบำบัดฯ ของ "เทศบาลเมืองตะพานหิน" จ.พิจิตร มีปริมาณนํ้าเสียไหลเข้าระบบเฉลี่ยต่อวัน "น้อยที่สุด" หรือ ร้อยละ 7.02
จากตัวอย่าง 10 แห่ง ซึ่งมีปริมาณนํ้าเสียไหลเข้าระบบเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ จำนวน 78,464.34 ลบ.ม./วัน
แม้ส่วนใหญ่จะเปิดเดินระบบมามากกว่า 20 ปี แต่ อปท. ส่วนใหญ่ กลับไม่มีการ ติดตั้งอุปกรณ์วัดอัตราการไหล (flow meter) ของน้ำเสียที่เข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย
แต่กลับใช้การวัดชั่วโมงการทำงานของเครื่องสูบน้ำเสียในการคำนวณหาปริมาณน้ำเสียที่ไหลเข้าสู่ระบบแทน
ในส่วนของเครื่องจักรและอุปกรณ์ หลายพื้นที่่มีความชำรุดเสียหาย เช่น เครื่องเซ็นเซอร์วัดปริมาณน้ำเข้า เครื่องเติมอากาศเครื่องจ่ายคลอรีน เครื่องกวนผสมคลอรีน เครื่องฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี และเครื่องรีดตะกอน เป็นต้น
"เฉพาะเครื่องจักรอุปกรณ์ มูลค่ารวม 498 ล้านบาท ของ เทศบาลนครเชียงใหม่ พบว่า ไม่สอดคล้องกับสภาพการใช้งานในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้เป็นภาระในการบำรุงดูแลรักษาในอนาคต สูญเปล่าในการใช้งบประมาณได้
สตง. ยังพบว่า 22 แห่งจาก 25 แห่ง ยังไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่ในเขตรับผิดชอบ 653.45 ตารางกิโลเมตร เต็มศักยภาพ
ยกตัววย่าง "เทศบาลนครเชียงราย" มีพื้นที่ให้บริการน้อยที่สุดอยู่ ร้อยละ 17.50 เท่านั้น ทั้งที่ส่วนใหญ่ได้เปิดเดินระบบมานานกว่า 20 ปี แล้ว
รวมถึง "เทศบาลเมืองตาก" มีอัตราค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสูงถึง 191,641,379.31 บาท ต่อตารางกิโลเมตร แต่สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ในเขตรับผิดชอบได้เพียงร้อยละ 19.94 เท่านั้น
"ระบบของ เทศบาลตำบล(ทต.) จันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย สามารถให้บริการเพียงร้อยละ 0.075 และปัจจุบันได้หยุดเดินระบบแล้วเนื่องจากมีปริมาณน้ำเสียเข้าสู่ระบบน้อยมาก จนไม่สามารถเปิดเดินระบบได้"
สตง. ยังทราบว่า อปท. 21 แห่ง ยังไม่สามารถดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย เป็นไปตามหลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” (Polluter Pays Principle: PPP) ได้
เหตุยังไม่มีการเตรียมความพร้อมในการกำหนดการจัดเก็บค่าบริการน้ำเสียไว้ในแผนพัฒนา 3 ปีของหน่วยงาน ทั้งการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการบ้าบัดน้ำเสีย และการประชาสัมพันธ์ แม้บางแห่งจะมีการจัดทำ ผ่านมามากกว่า 8 ปี ก็ยังไม่แล้วเสร็จ
เช่น เทศบาลนครลำปาง และเทศบาลเมืองกำแพงเพชร ได้จัดทำข้อตกลง รวมถึงจัดทำร่างเทศบัญญัติฯ การให้บริการรับบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตาม "เทศบาลนครแม่สอด" เป็นเพียงแห่งเดียว ที่สามารถยกร่างในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และสามารถจัดเก็บค่าบริการได้แล้ว
"แม้จะมีค่าใช้จ่ายในการบริหาร ปีละ 2,246,448.23 บาท ต่างจากความสามารถในการจัดเก็บ ที่ได้พียง 1,226,439.27 บาท จึงมีค่าใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการระบบ เป็นวงเงินถึง 1,020,008.96 บาท"
สตง.พบว่า ในปีงบ 2565 อปท.ที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด ในการบริหารจัดการระบบน้ำเสีย (ไม่รวมค่าใช้จ่ายกระแสไฟฟ้า) เช่น
"เทศบาลนครนครสวรรค์" 18,917,302.94 บาท รองลงมา เทศบาลนครเชียงใหม่ 10,466,315.87 บาท เทศบาลนครเชียงราย 8,887,919.66 บาท และเทศบาลเมืองกำแพงเพชร 5,226,947.90 บาท
โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า รองลงมาคือ ค่าบุคลากร ค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา ค่าสารเคมี และค่าตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ
โดย สตง. มีข้อเสนอแนะให้กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 24 แห่ง ใน 15 จังหวัด และ กระทรวงมหาดไทย แล้ว.