สตง. เผยแพร่ ผลตรวจสอบ "โครงการทัวร์เที่ยวไทย ปี 64" งบ 5,000 ล้าน นโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สามารถใช้สิทธิ นทท.และเบิกจ่ายงบ ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ พบแม้ขยายโครงการ ถึง 3 ครั้ง ลดสิทธิ 1 ล้าน เหลือ 2 แสนสิทธิ แต่มี นนท.ใช้สิทธิจริงแค่ 121,209 สิทธิ แถมต้องคืนงบประมาณเหลือบริหารแค่ 1,000 ล้าน เบิกจ่ายจริงแค่ 553.83 ล้าน ทำนโยบายไปไม่ถึงฝัน!
วันนี้ (13 ก.ค.2567) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่ ผลตรวจสอบ "โครงการทัวร์เที่ยวไทย" นโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ที่มีการเบิกจ่าย ถึง 31 ธ.ค. 2564 ภายใต้การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการทัวร์เที่ยวไทย
สตง. ระบุในข้อตรวจแรก พบว่า โครงการทัวร์เที่ยวไทย ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ตั้งแต่ ผลการใช้สิทธิและเบิกจ่ายงบประมาณ ภายใต้โครงการทัวร์เที่ยวไทย ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ พบว่า โครงการไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ และมีการขอขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการ จำนวน 3 ครั้ง
รวมถึงมีการปรับลดสิทธิรวมถึงกรอบงบประมาณภายใต้โครงการจากเดิม 1,000,000 สิทธิ เป็น 200,000 สิทธิ ทำให้กรอบวงเงินลดลงจาก 5,000.00 ล้านบาท เป็น 1,000.00 ล้านบาท
โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการมีผู้มาจองใช้สิทธิจำนวน 127,430 ราย คิดเป็นร้อยละ 63.72 ของเป้าหมายที่มีการปรับเปลี่ยนจำนวน 200,000 สิทธิ
และมีจำนวนงบประมาณตามรายการจอง 582.90 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58.29 ของกรอบวงเงินงบประมาณที่มีการปรับเปลี่ยนจำนวน 1,000.00 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการมีการเบิกจ่ายงบประมาณภายหลังตรวจสอบความถูกต้องของรายการขอเบิกจ่ายเงิน จำนวนทั้งสิ้น 121,209 สิทธิ และมีการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 553.83 ล้านบาท
ทำให้มีจำนวนงบประมาณคงเหลือ จำนวน 446.17 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.62 ของกรอบวงเงินงบประมาณที่มีการปรับเปลี่ยนจำนวน 1,000.00 ล้านบาท
สตง. ระบุด้วยว่า ผลการเข้าร่วมโครงการทัวร์เที่ยวไทย ของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้
จากการตรวจสอบพบว่า ผลการดำเนินงานโครงการต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่มียอดการจองและมีการเบิกจ่าย งบประมาณภายใต้โครงการเพียง 324 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 32.40 ของเป้าหมายที่กำหนดไว้
และคิดเป็นร้อยละ 38.34 ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 845 ราย ที่มีการเสนอขายรายการนำเที่ยว มีจำนวนการให้บริการนำเที่ยวของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเฉลี่ย 393 สิทธิต่อราย
โดยกว่าร้อยละ 61.63 ของงบประมาณตามรายการจอง หรือจำนวน 359.22 ล้านบาท เป็นส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวเพียง 77 รายเท่านั้น
การที่โครงการทัวร์เที่ยวไทยมีผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ และการกระตุ้นและช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว
ทั้งในส่วนของค่าเสียโอกาสในการนำเงินงบประมาณส่วนดังกล่าวไปใช้ในการดำเนินงานโครงการอื่น ๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
รวมไปถึงการเสียโอกาสในการสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจอันจะกระจายรายได้ให้กับอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องเป็นจำนวนกว่า 23,787.01 ล้านบาท
ทั้งนี้ การที่ผลการดำเนินโครงการทัวร์เที่ยวไทย มีผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เกิดจากขาดการเตรียมความพร้อมและความละเอียดรอบคอบในการบริหารจัดการโครงการ ได้แก่
การวางแผนการประเมินและการจัดทำข้อเสนอโครงการ (Planning, Appraisal andDesign) การเตรียมความพร้อม (Activation) ในการจัดทำแผนดำเนินงาน การประชาสัมพันธ์
และสร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ รวมไปถึงการบริหารจัดการข้อมูลที่เป็นระบบและเพียงพอ
นอกจากนี้ การดำเนินโครงการทัวร์เที่ยวไทย ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการที่ส่งผลต่อการไม่บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานโครงการ
ทั้งในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว (Supply) และข้อจำกัดในการเข้าร่วมโครงการทัวร์เที่ยวไทยของประชาชน (Demand)
สำหรับ โครงการ“ทัวร์เที่ยวไทย” รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้หน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง ดำเนินโครงการ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจท่องเที่ยว ใช้งบประมาณ เงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ช่วง"โควิด 2019"
โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยวร้อยละ 40 สูงสุด แต่ไม่เกิน 5,000 บาท ต่อ 1 สิทธิ
ให้คนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศผ่านบริษัทนำเที่ยว โดยกำหนด 1 สิทธิต่อคน จำนวน 1 ล้านสิทธิ วงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท
เริ่มจองสิทธิ พ.ค. 2564 และสิ้นสุดการเบิกจ่ายวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เป้าหมายให้มีผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเข้าร่วมโครงการจำนวน 1,000 ราย
ขณะที่ “ทัวร์เที่ยวไทย” ยังมีการขยายเวลาการเบิกจ่าย ไปถึงปี 2565 คราวนั้นมีจำนวนสิทธิคงเหลือถึง 131,415 สิทธิ
โดยมีการปรับ 2 หลักเกณฑ์ ได้แก่ เปลี่ยนแปลงการเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัด สามารถเดินทางได้ทุกวัน จากเดิมเดินทางได้เฉพาะวันอาทิตย์ถึงพฤหัสบดี
และเพิ่มรายการนำเที่ยวเป็น 30 รายการต่อบริษัท จากเดิม 15 รายการต่อบริษัท
ครม.ชุดก่อน อนุมัติเมื่อ 24 ม.ค. 2565 ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย ททท. เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย”
"ขยายเวลาดำเนินโครงการฯ จากเดิมสิ้นสุด ก.พ. 2565 เป็นสิ้นสุด พ.ค. 2565 โดยนักท่องเที่ยวเดินทางวันสุดท้าย 30 เม.ย. 2565
และดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบการให้แล้วเสร็จภายใน 31 พ.ค. 2565
ทั้งนี้ ททท. ได้เสนอให้ ปรับลดจำนวนสิทธิโครงการฯ จากเดิม 1,000,000 สิทธิ เป็น 200,000 สิทธิ.