ส.ส.ก้าวไกล ระบุ รบ.ยอมฟังรอบข้างมากขึ้น หลังฟังนายกฯ แถลงดิจิทัลวอลเล็ต กังขาร้านสะดวกซื้อ เข้าข่ายร้านขนาดเล็กหรือไม่ หวั่นกลไกแลกเงินสดยุ่งยาก ทำรายเล็กเมินร่วม ศก.ไม่หมุนเวียน หนักใจหนี้สาธารณะคอขวด ทำ รบ.หน้าแบกต่อติดคอหอย แนะส่งกฤษฎีกา-แก้ กม.ธกส.ก่อนนำเงินแจกเกษตรกร กันขัดวัตถุประสงค์
วันนี้ (10 เม.ย.) น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวภายหลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ว่า ตอนนี้เข้าใจว่า ข้าราชการสำนักงบประมาณไม่มีวันหยุดสงกรานต์ โดยในส่วนงบประมาณปี 67 มีเวลาได้เตรียมตัว เตรียมการ แต่ไม่ได้เตรียมอะไรไว้เลย สุดท้ายน่าจะต้องโอนและเพิ่มงบไปที่กองทุนประชารัฐเพื่อสวัสดิการ และแจกจ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และยังมีปัญหาว่าปกติบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะจ่ายผ่านบัตรประชาชน แต่รอบนี้จะให้ใช้เป็น OPEN LOOP คือ เอาไปใช้ที่ไหนก็ได้ แต่ตามปกติก็ต้องไปกดเงินผ่านบัตรประชาชนที่ตู้เอทีเอ็มเท่านั้น และยังต้องใช้ผ่านร้านค้าที่มีเครื่องรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น ยังเป็นปัญหาที่ระบบเพื่อให้ใช้เงินได้
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตนอยากฝากไปยังรัฐบาล ว่า เมื่อมีการยืนยันว่าไตรมาส 4 จะไม่เลื่อนแน่นอน ตนอยากจะเห็นแผนงานทั้งหมด ไม่ใช่แค่เรื่องหาแหล่งที่มาให้ครบจำนวน ไม่ว่าจะเป็นออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี จะทำเมื่อไหร่ และทางสภาก็รออยู่ว่าจะอนุมัติหรือไม่อย่างไร และยังมีเรื่องการพัฒนาระบบซึ่งมีการยืนยันแล้วว่าไม่ได้เป็นแอปพลิเคชัน เป๋าตัง แต่มีการทำแอปใหม่โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กับ สำนักงานรัฐบาลดิจิทัล เป็นคนจัดทำนั้นจะเสร็จเมื่อไหร่ เพราะกระบวนการทำระบบจำเป็นต้องมีการทดสอบระบบก่อนที่จะใช้งานได้จริง เพราะหากใช้จริงแล้วเกิดข้อผิดพลาดขึ้นเยอะก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนเช่นเดียวกัน
ส่วนรายละเอียดของการใช้จ่ายที่มีการแก้ไขไปในทางที่ดีในการที่ระบุว่าให้ใช้รอบแรกสำหรับร้านค้ารายเล็กเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม “ร้านค้ารายเล็ก” เรายังได้ยินไม่ชัดเจนว่าตกลง “ร้านสะดวกซื้อ” เป็น “ร้านค้าขนาดเล็ก” หรือไม่ และ “ร้านขนาดเล็ก” ลงมาแล้วรวม “ร้านสะดวกซื้อ” หรือไม่ เพราะกลไกที่ค่อนข้างยุ่งยากในการแลกเป็นเงินสด คือ ต้องใช้ 2 รอบ แล้วจึงสามารถแลกเป็นเงินสดได้ ซึ่งร้านที่แลกได้ก็แลกได้เฉพาะที่อยู่ในฐานภาษีเท่านั้น อาจจะทำให้ร้านค้ารายเล็กรายย่อยตัวจริงไม่อยากเข้าร่วมโครงการหรือเข้าร่วมโครงการน้อยลงหรือไม่ เพราะแลกมาแล้วก็ยังแลกเป็นเงินสดไม่ได้ ก็ต้องไปใช้จ่ายต่อแต่เงินก็ต้องหมุนไปรายวัน จะมีความลำบากสำหรับร้านค้ารายเล็ก และหากสุดท้ายร้ายค้ารายเล็กเข้าร่วมโครงการได้น้อย วัตถุประสงค์ของโครงการจะทำให้เศรษฐกิจที่หมุนเวียนอยู่ในระดับฐานรากได้มากขึ้นก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ
“วันนี้ยังไม่ค่อยได้รายละเอียดอะไรเพิ่มเติม คงต้องรอนัดถัดไปเพื่อได้ข้อมูลเพิ่มเติม แต่ถือว่ารับฟังความเห็นจากประชาชน ฝ่ายค้าน และสื่อมวลชนในการที่จะปรับในเรื่องของร้านค้าขนาดเล็กเข้าร่วมโครงการ”
เมื่อถามว่า โครงการดิจิทัล วอลเล็ต จะสามารถกระตุ้นจีดีพี และเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า จากที่รัฐบาลได้มีการคาดการณ์เอาไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2-1.8 และคาดการณ์ของปี 68 แบบฐานปกติน่าจะโตประมาณ 3.3 ก็เท่ากับว่าเศรษฐกิจปี 68 หากมีดิจิทัล วอลเล็ต ก็น่าจะโตได้ประมาณ 3.5-4.1 ซี่งเป็นเรื่องที่ต้องอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลว่าจะสามารถเป็นไปได้อย่างที่คาดการณ์หรือไม่ เพราะหลายเจ้าจะประเมินอยู่ที่ประมาณ 0.9-1 เปอร์เซ็นต์ทั้งนั้น แต่เรื่องที่เราเป็นกังวลมากกว่า คือ รัฐบาลสัญญาไว้ว่า 4 ปี จีดีพีต้องโตเฉลี่ย 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ปีที่อัดทุ่มเงินงบประมาณมากที่สุดยังโตได้แค่ 5.1 อย่างเต็มที่ แล้วปีอื่นๆที่เหลือ ที่ไม่เหลือเงินไปทำอย่างอื่นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น และเรื่องที่ผลจะตามมาคือหนี้สาธารณะ ซึ่งตอนนี้เฉพาะที่ขยายวงเงินของปี 68 หนี้สาธารณะขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 67 เปอร์เซ็นต์ เรียบร้อยแล้ว และภาระดอกเบี้ยที่จ่ายในแต่ละปีขึ้นเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ เท่ากับว่าจะเก็บภาษีมาเท่าไหร่ก็เอาไปจ่ายเป็นดอกเบี้ยหมดไปแล้ว ยังไม่นับว่าปี 67 ก็ต้องกู้เพิ่มอีก
“จึงเป็นคอขวดที่รัฐบาลต้องก้มหน้ารับไป และยิ่งใช้เร็วก็จะยิ่งดี ยิ่งไปกินเงินงบประมาณในส่วนอื่นๆ ไปอีกระยะหนึ่ง รัฐบาลชุดต่อไปที่จะต้องมาแบกรับภาระหนี้ต่อก็อยู่แบบคอหอยแล้ว อีกนิดเดียวจะชนเพดานที่70 เปอร์เซ็นแล้ว นี่ขนาดเป็นกู้สาธารณะเพียงแค่งบ 67 และงบ 68 ยังไม่นับรวมกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งไม่ได้อยู่ในหนี้สาธารณะก็จริง แต่สุดท้ายก็ยังต้องใช้เงินงบประมาณในการใช้คืนหนี้อยู่ดี ฉะนั้น นอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ยังมีเรื่องภาระที่แฝงมาด้วย” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เรื่องการใช้เงิน ธ.ก.ส.ยังมีประเด็นในเรื่องของข้อกฎหมาย เพราะตามวัตถุประสงค์ ที่ระบุไว้ตามกฎหมายสามารถทำได้ในการช่วยให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่ไม่มีวัตถุประสงค์ข้อใดที่จะไปทำให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นอยู่ว่าจะต้องส่งคณะกรรมกฤษฎีกาตีความเหมือนธนาคารออมสินหรือไม่ แต่ว่ามันมีความเทาๆที่จะสามารถตีความให้เข้าข้างรัฐบาลก็สามารถทำได้ แต่การที่ละเลยที่จะมีการให้กฤษฎีกาช่วยตีความก่อนก็เป็นสิ่งที่น่ากังวล ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้มีเงินมาใช้จ่ายให้เต็มที่ เพราะธกส.ยังติดเกณฑ์ของกรอบวินัยการเงินการคลัง รัฐบาลก็พูดย้ำหลายรอบว่าไม่มีการขยายแน่นอน ก็ต้องมารอดูว่าโครงการไหนจะไปก่อน เพราะพักหนี้เกษตรกรจะทำต่อจนครบ 3 ปีหรือไม่ หรือว่าโครงการไร่ละ 1 พันจะยังคงเดินหน้าไปต่อได้หรือไม่
เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านจะดำเนินการอย่างไรนอกจากรอให้รัฐบาลถามกฤษฎีกา น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เราจะช่วยกระทุ้งอีกแรงว่าดูตรงนี้ให้ดี หรือต้องแก้ไข พ.ร.บ.ธกส.ให้เรียบร้อยก่อน ถ้ารัฐบาลจะออก พ.ร.บ.งบประมาณกลางปี 67 แก้นิดหน่อยเพื่อให้มีความสบายใจ และให้ ธ.ก.ส.ไม่ต้องกังวลที่จะเอาเงินมาให้ดิจิทัลวอลเล็ตใช้ด้วย แค่นี้ก็บิดมากพอแล้วที่ให้เป็นโครงการดิจิทัลวอลเล็ตสำหรับเกษตรกรโดยเฉพาะ เพื่อที่จะจ่ายให้เฉพาะเกษตรกร ต้องไปหามา 17 ล้านคนก็ว่าเหนื่อย ตัวระเบียบและกฎหมายต่างๆก็ควรจะทำให้เรียบร้อยเช่นเดียวกัน
น.ส.ศิริกัญญา ยังกล่าวถึงนโยบายกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลออกมาว่านโยบายนี้ไม่ใช่นโยบายใหม่ มีการทำกันมาหลายครั้ง เพื่อต้องการกระตุ้นภาคอสังหาฯให้เดินต่อไปได้ แต่รอบนี้ที่แปลกคือเรื่องของการลดค่าโอนที่จากเดิม เฉพาะบ้านราคาไม่เกิน3 ล้านบาท แต่วันนี้ขยายไปที่7 ล้านบาท เป็นเพราะมีสต๊อกคงค้างอยู่ค่อนข้างมาก ขายไม่ออก ถึง 46 เปอร์เซ็นต์ จึงชวนให้ตั้งข้อสังเกตว่าสุดท้ายโครงการนี้จะเป็นไปเพื่ออะไรกันแน่ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น หรือเป็นเพียงแค่กระตุ้นภาคอสังหาฯอย่างเดียว เพื่อจะทำให้บริษัทที่อยู่ในภาคนี้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนของนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน
ที่สำคัญคือ ค่าธรรมเนียมผ่านการโอนต่างๆ เป็นเงินที่จะต้องส่งต่อไปให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และเมื่อขยายไปจนถึง 7 ล้านบาทจะทำให้สูญเสียเม็ดเงินค่าธรรมเนียมไปถึง 2.3 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่าท้องถิ่นเงินหายไปในจำนวนดังกล่าว จึงอยากให้รัฐบาลนี้เปลี่ยนวิธีการบ้าง เพราะในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ทำแบบนี้ เหมือนกับการควักเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปอุดหนุนภาคอสังหาฯและรอบนี้หากจะให้ดีรัฐบาลต้องตั้งเงินเพื่อที่จะชดเชยในส่วนค่าธรรมเนียมที่หายไปด้วย มิเช่นนั้นจะไม่เป็นการยุติธรรมกับท้องถิ่นที่รายได้อยู่ดีๆ จะหายไป รอบที่แล้วภาษีที่ดินก็ยังคืนเขาไม่หมด มารอบนี้ก็จะมาลดค่าธรรมเนียมการโอนอีก ทำให้เขาเดือดร้อนแน่นอน