xs
xsm
sm
md
lg

สุ่ม “สถานีสูบนํ้าไฟฟ้า” หลังโอนให้ท้องถิ่น รับอุดหนุนปีละ 1.4 พัน ล.ไร้มาตรฐานบริการสาธารณะ พื้นที่ไม่ต้องการ แต่ติดตั้งเพียบ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตง.สุ่ม “สถานีสูบนํ้าไฟฟ้าท้องถิ่น” ที่ได้รับจัดสรรงบอุดหนุนเฉพาะกิจ เฉพาะปี 63-64 กว่า 3 พันล้าน หลังได้รับถ่ายโอนจากหน่วยงานส่วนกลางแล้ว กว่า 2,921 สถานี 1,324 อปท. พบเฉพาะค่ากระแสไฟฟ้า รัฐอุดหนุน ตกปีละ 1.4 พันล้าน หลายแห่งยังเป็น “ซาก” ครุภัณฑ์ชำรุด ไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานบริการสาธารณะ พื้นที่เกษตรไม่ต้องการใช้สถานีสูบฯ แต่กลับติดตั้งเพียบ!

วันนี้ (12 ก.พ.) มีรายงานจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่ผลการสุ่มตรวจสอบการบริหารจัดการสถานีสูบนํ้าด้วยไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใน 21 อปท. พื้นที่ 5 จังหวัด

ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ “อุดหนุนเฉพาะกิจ” ของท้องถิ่นจากรัฐบาล ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เป็นงบ “ค่ากระแสไฟฟ้า” งานสูบน้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า วงเงินปีละ 1 พันล้านบาทเศษ

เฉพาะปีงบฯ 2566 พบว่า ได้รับจัดสรร 1,144.3592 ล้านบาท ปีงบฯ 2565 ได้รับจัดสรร 1,145.1730 ล้านบาท ส่วนปีงบฯ 2564 และปีงบฯ 2563 ได้รับจัดสรรเท่ากัน 1,144 ล้านบาทเศษ

โดยในรายงานของ สตง. ภายใต้ชื่อ การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการบริหารจัดการสถานีสูบนํ้าด้วยไฟฟ้า ของ อปท.ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า เป็นการตรวจสอบ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564

หลังจาก อปท. รับโอน “โครงการสูบนํ้าด้วยไฟฟ้า” จากสำนักงานพลังงานแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน และกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ปัจจุบัน มีโครงการสูบนํ้าด้วยไฟฟ้า จัดตั้งในพื้นที่ 64 จังหวัด ทั้งในองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล

“รับโอนภารกิจทั้งหมดรวม 1,324 แห่ง และมีสถานีสูบนํ้าด้วยไฟฟ้า รวม 2,921 สถานี รวมงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2563-2564 เป็นเงิน ทั้งสิ้น 3,286.39 ล้านบาท”

สตง. พบว่า 3 ภารกิจ ในการถ่ายโอนมายัง อปท. ได้แก่ งานบำรุงรักษาคลองส่งน้ำ งานเก็บเงินค่ากระแสไฟฟ้า และงานประสานจัดตั้งสหกรณ์ผู้ใช้น้ำ แม้งานราชการบริหารส่วนกลาง ยังคงต้องกำหนดมาตรฐานทั่วไป ของการจัดบริการสาธารณะ

แต่จากตัวอย่าง สถานีสูบนํ้า 33 สถานี ใน 21 อปท. พื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ระยอง อุบลราชธานี ขอนแก่น แพร่ และชุมพร พบมีการใช้งานจริงแค่ 24 สถานี อยู่ในความรับผิดชอบของ 15 อปท.

“กลับพบว่า 24 สถานี ไม่มีคุณภาพ ตามมาตรฐานการบริการสาธารณะที่ส่วนกลางกำหนด เหตุไม่ได้นำแนวทางปฏิบัติงานตามมาตรฐานการบริการสาธารณะที่กำหนดมาใช้ในการบริหารจัดการ”

เนื่องจาก สถานี ทั้ง 24 แห่ง ไม่มีการจัดทำแผนปฏิบัติงานในการซ่อมแซมและบำรุงรักษารายสถานี ประจำ 1 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี และไม่ดำเนินการบันทึกผลรายงานผลการซ่อมแซมและบำรุงรักษาตามแผนการปฏิบัติงาน

โดยเฉพาะ “ภารกิจการเก็บเงินค่ากระแสไฟฟ้า” จากการสูบน้ำหลายแห่งไม่พบว่า ได้จัดทำข้อบัญญัติ อปท. เรื่องการบริหารกิจการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า กับไม่มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ แม้หลายแห่งเพิ่งจะมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำก็ตาม

นอกจากนี้ ในเรื่องการบริหารการจัดเก็บค่ากระแสไฟฟ้า โดยกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งต้องดำเนินการภายหลังจากจัดตั้งกลุมผู้ใช้นํ้าแล้ว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และเกิดความโปร่งใส

จากการตรวจสอบการบริหารกิจการฯ ที่มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้นํ้า 23 สถานี ที่อยู่ใน อปท. 9 แห่ง ไม่พบว่า มีการจัดทำบัญชีรายได้และรายจ่ายของกิจการสถานีสูบนํ้าด้วยไฟฟ้า

“แถมยังไม่มีการนำรายได้ของกิจการสถานีสูบนํ้าด้วยไฟฟ้า ฝากธนาคารในนามของกิจการสถานีสูบนํ้าด้วยไฟฟ้า ถึง 14 สถานี ในความรับผิดชอบของ 10 อปท.”

และ ยังไม่มี “กองทุนของกลุ่ม” ไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น ถึง 11 สถานี ในความรับผิดชอบของ 7 อปท.

ขณะที่ ภารกิจงานประสานจัดตั้งสหกรณ์ผู้ใช้น้ำ ซึ่งเป็นการรวมตัวเพื่อลดข้อพิพาท และสร้างความเป็นธรรม แก่สมาชิกสหกรณ์ผู้ใช้นํ้า จาก 20 สถานี ใน 14 อปท.พบว่า ไม่มีการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำให้เป็นสหกรณ์ผู้ใช้นํ้า

จากการตรวจสอบดังกล่าว จะส่งผลกระทบทำให้สถานีสูบนํ้าด้วยไฟฟ้า ที่ถ่ายโอนภารกิจมาให้กับ อปท. มีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างยั่งยืน ส่งผลต่อภาระทางงบประมาณของ อปท. ต่อไปในระยะยาว

นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสาธารณะ ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทำให้การอุดหนุนงบประมาณให้แก่ อปท. เพื่อสนับสบุนการให้บริการสาธารณะเพื่อบริหารจัดการสถานีสูบนํ้าด้วยไฟฟ้าเป็นไปอย่างไม่คุ้มค่า

“สาเหตุสำคัญ คือ สถ. ที่บริหารงบอุดหนุนเฉพาะกิจ ไม่ได้ปรับปรุงฐานข้อมูลสถานีสูบนี้าด้วยไฟฟ้าของ อปท. ตามการถ่ายโอน ภารกิจให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน”

สตง. ยังพบว่าด้วยว่า 39 สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า บางแห่งไม่สามารถใช้งานได้และมีครุภัณฑ์ที่ชำรุด สูญหาย และการจัดบริการด้านการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ยังไม่ครอบคลุมและทั่วถึงตามพื้นที่ที่กำหนด

“มีเพียง 9 สถานี จาก 39 สถานี จาก 21 อปท. ที่เกษตรกรต้องการใช้น้ำ และมีสภาพใช้งานได้เป็นปกติ แต่ระบบการส่งน้ำ เช่น ท่อส่งน้ำ ลำราง เพื่อลำเลียงน้ำจากสถานีสูบน้ำยังไม่ครอบคลุมทั่วถึงพื้นที่การเพาะปลูก แต่กลับมีถึง 10 สถานี ที่แม้เกษตรกรจะอยู่ในพื้นที่บริการ แต่ไม่มีความต้องการใช้น้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า”

ทั้งนี้ เมื่อปีงบประมาณ 2556-2559 สตง. พบว่า มี อปท.บางแห่งได้รับจัดสรรและจ่ายเงินสนับสนุนค่าจ้าง ลูกจ้างชั่วคราวประจำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า โดยไม่มีลูกจ้างชั่วคราวประจำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ได้รับถ่ายโอนมาจากส่วนกลาง

แต่ สถ. ได้จัดสรรเงินงบประมาณค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวให้ และมีการเบิกจ่ายเงินตามที่ได้รับการแจ้งจัดสรรให้กับบุคคลที่มีรายชื่อไม่ตรงกันกับรายชื่อลูกจ้างชั่วคราวประจำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ได้รับการถ่ายโอนมาจากหน่วยงานส่วนกลาง

มีรายงานว่า ที่ผ่านมา สถ. และหน่วยงานที่ถ่ายโอน ได้มีการเร่งสำรวจฐานข้อมูลสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และตรวจสอบจำนวนลูกจ้าง เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซม


กำลังโหลดความคิดเห็น