xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสีรุ้งได้เฮ ส.ว.ไฟเขียว กม.สมรสเท่าเทียม มีผลใช้บังคับหลังลงราชกิจจาฯ 120 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



LGBTQ ได้เฮ เสียงส่วนใหญ่ ส.ว. เห็นชอบผ่าน กม.สมรสเท่าเทียมก่อนหมดวาระ เตรียมใช้หลังประกาศราชกิจจาฯ 120 วัน แต่มีถูกติงเอาคำว่าสามีภรรยา เพศชาย หญิง ออกไป ใช้คำอื่นมาแทน

วันนี้ (18 มิ.ย.) เมื่อเวลา 14.40 น. ที่ประชุมวุฒิสภา มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ … ) พ.ศ. … หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่มี นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. เป็นประธาน และพิจารณาเสร็จแล้ว

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ในฐานะประธานกรรมาธิการ รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ ว่า ได้ศึกษา เปรียบเทียบร่างกฎหมายอย่างรอบคอบ ได้ตั้งประเด็นข้อสังเกตในชั้นกรรมาธิการ ได้พิจารณาดูรายชื่อกฎหมาย สิทธิ หน้าที่ของคำว่าสามีภรรยา นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยร่างฉบับนี้มีทั้งสิ้น 69 มาตรา ไม่มีการแก้ไข ไม่มีกรรมาธิการสงวนความเห็น แต่มีการตั้งข้อสังเกตที่สำคัญมาก และมี ส.ว. แปรญัตติ จำนวน 3 คน มีผู้สงวนคำแปรญัตติ 2 คน

จากนั้นเป็นการพิจารณารายมาตรา โดยมาตราที่ 2 ที่กำหนดให้กฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน ซึ่ง พลตำรวจโท ศานิตย์ มหถาวร ไม่เห็นด้วยและขอแปรญัตติ ได้อภิปรายว่า เรามีการโต้เถียงกันมาตลอด ตนตั้งคำถามว่า ทำไมถึงประกาศไม่ให้มีผลบังคับใช้ในวันถัดไป หลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และถ้าเราไปดูเนื้อใน ไม่มีกฎหมายลูกมารองรับ เพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไปปฏิบัติ ในการร่างกฏหมายควรจะให้สภาหรือวุฒิสภาได้รับรู้ถึงกฎหมายลูกด้วย

“ท่านมักจะตีกินอยู่เรื่อย แล้วให้ออกเช็คเปล่าให้เขาไป ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรี เป็นไปตามที่อธิบดีไปออกประกาศกำหนด ไปออกระเบียบข้อบังคับ เขาไม่เคยให้พวกเราได้ดูเลยครับท่านประธาน ผมจึงอยากเรียกร้อง เชื้อเชิญ ขอความเห็นใจ เมตตาปราณีกับน้องๆ ที่เขารอกฎหมายฉบับนี้มานาน ขอให้มันเร็วกว่านี้ได้หรือไม่ ถ้าได้จะเป็นอนุโมทนาหรือคุณูปการอย่างสูงเลยครับ” พลตำรวจโท ศานิตย์ กล่าว

ขณะที่ นายจิตรพรต พัฒนสิน กรรมาธิการ ชี้แจงว่า การกำหนดวันใช้บังคับของกฎหมาย บางบริบทขึ้นอยู่กับกฎหมายรอง การเตรียมการของหน่วยงานราชการส่วนต่างๆ เพื่อรองรับการบังคับใช้ของกฎหมาย จริงอยู่ที่กฎหมายนี้ไม่มีกฎหมายรอง แต่ในทางปฏิบัติ เช่น การจดทะเบียนครอบครัว ก็มีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีการปรับแก้จากให้บังคับใช้หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นเวลา 120 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจาก ส.ว.ส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการ แต่มีสมาชิกบางคนที่แสดงความเห็นต่าง อาทิ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เห็นว่า ตนไม่เห็นด้วยกับวิธีการและหลักการในการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ การเอาคำว่าสามีภรรยา เพศชาย เพศหญิง ออกไป และใช้คำอื่นมาแทน เช่น คู่สมรสคู่หมั้น ซึ่งไม่ได้ระบุเพศที่ชัดเจนมาแทน โดยอ้างว่าเพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม การแก้ไขแบบนี้ตนถือว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันครอบครัวอย่างรุนแรงที่สุด เพราะสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญของสังคมไทย และอยู่ในสภาพที่เปราะบาง การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้สถาบันครอบครัวพังทลายลงเร็วขึ้น

พลเอก วรพงษ์ กล่าวต่อว่า การแก้ไขตรงนี้จะบานปลายต่อไปอีก เพราะฉะนั้นต้องคิดให้ดี ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ตนจึงบอกว่าการแก้กฎหมายแบบนี้ไม่ได้เป็นการยกระดับ LGBTQ ขึ้นมาให้เท่าเทียมกับเพศชายเพศหญิง แต่เป็นการกดเพศชายเพศหญิงลงไปให้เข้ากับ LGBTQ จะทำให้ภาพเบลอไม่ชัด

“LGBTQ ก็จะไปเรียกร้องให้แก้แบบเรียน มหาดไทยต่างๆ เพื่อให้เข้าไปในกลุ่มของท่าน ทะเบียนสมรสก็ออกแบบใหม่อีกแล้ว ไม่มีผู้ชายชื่ออะไร ผู้หญิงชื่ออะไร ผมติดใจการแก้ไขกฎหมาย ทำไมท่านถึงไม่เอะใจ ว่ากฎหมายฉบับนี้จะก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง” พลเอก วรพงษ์ กล่าว

พลเอก วรพงษ์ ระบุว่า การแก้ไขกฎหมายแบบนี้ได้ 10 เสีย 90 สังคมสภาพครอบครัวถูกเซาะกร่อนทำลาย ถ้าไม่ตั้งใจก็ถือว่าดี แต่ถ้าตั้งใจก็ถือว่าแย่มาก ตนขอให้พอ ยังกลับตัวทัน พร้อมขอให้เพื่อนสมาชิกฟังตนอธิบายด้วยความรอบคอบก่อนที่จะลงมติ

หลังให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นครบทั้ง 69 มาตรา โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชม. ที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ด้วยคะแนน 130 ไม่เห็นด้วย 4 และ งดออกเสียง 18 เสียง และมีมติให้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้สามารถใช้บังคับได้หลังประกาศในราชกิจจาฯ 120 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น