xs
xsm
sm
md
lg

พิรุธ! ทีโออาร์พันล้าน เค้กก้อนโต “สกสค.” สะดุด วัดใจ “ครูอุ้ม” รมว.ศึกษาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยังคงเติมไปด้วยข้อครหา การประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนของ “องค์การค้าของ สกสค.” หน่วยงานในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่ถูกมองเป็นแหล่งขุมทรัพย์สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ

โดยปีนี้ สกสค. ได้เผยแพร่ขอบข่ายงาน หรือ TOR จ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 โดยวิธีคัดเลือก จำนวน 151 รายการ รวมทั้งสิ้น 25.23 ล้านเล่ม ราคากลาง 912.59 ล้านบาท และเปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอฯไปแล้วเมื่อวันที่ 29 ก.พ.67

แต่ก่อนวันยื่นข้อเสนอฯ ปรากฎว่า บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด (บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ) หนึ่งในผู้แสดงความสนใจเข้าร่วมการเสนอราคา ยื่นร้องเรียนถึง “ครูอุ้ม” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อ​ขอให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างที่กระทำส่อไม่ชอบด้วยกฎหมาย และส่อไปในทางทุจริต จงใจช่วยเหลือเอื้อประโยชน์บริษัทคู่ค้ารายเก่า ขณะเดียวกันก็กีดกันบริษัทคู่ค้ารายใหม่

ในหนังสือร้องเรียนชี้ให้เห็น “ข้อพิรุธ” ของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 ของ สกสค.ในหลายจุด ตั้งแต่การเผยแพร่ TOR ที่ไม่ได้มีการจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี และประกาศเผยแพร่ในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง ตามที่กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกำหนด, การเปลี่ยนสิธีประกวดราคาจากด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มาเป็นวิธีคัดเลือก โดยไม่มีความจำเป็น และยังมีกำหนดคุณสมบัติในลักษณะกีดกันเอกชนผู้เข้ารับงานบางรายด้วย

ที่สำคัญยังได้ปรับข้อกำหนดการยื่นข้อเสนอที่จากเดิมบริษัทที่สนใจสามารถยื่นข้อเสนอแข่งขันได้ในทุกรายการ แล้วแข่งขันกันที่ราคาเป็นสำคัญ แต่ในปีนี้ได้กำหนดหนังสือแบบเรียนที่จะจัดพิมพ์ ออกเป็น 30 กลุ่ม โดยที่เอกชนสามารถยื่นข้อเสนอได้เพียง 1 เล่มหรือ 1 รายการในแต่ละกลุ่มเท่านั้น อาจถือเป็นการจำกัดสิทธิของโรงพิมพ์ที่มีศักยภาพพิมพ์หนังสือได้มากกว่าจำนวนรายการที่กำหนด

ตามแนว TOR ที่ว่ามา ดูเหมือน สกสค.อาจจะเป็นผู้เสียประโยชน์ด้วยซ้ำ เพราะการจำกัดสิทธิการเสนอราคา ก็อาจทำให้การยื่นข้อเสนอของเอกชนให้ความสำคัญในการแข่งขันด้านราคาน้อยลง

เหตุเพราะ สกสค.หรือคนในวงการทราบดีว่า โรงพิมพ์ที่จะเข้าช่วงชิงงานพิมพ์แบบเรียนของ สกสค.ในแต่ละปีนั้นมีไม่กี่ราย เพราะรู้กันว่า “งานนี้มีเจ้าของ” จึงไม่ต้องการเข้ามาร่วมซีนเป็นเพียงไม้ประดับ หรือร่วมประทับตราให้กระบวนการจัดจ้างถูกต้อง

อย่างล่าสุดเมื่อปีการศึกษา 2566 ก็มีเพียง 5 รายที่เข้าร่วมการเสนอราคาเท่านั้น แม้จะมีการเชิญชวนไปกว่า 20 โรงพิมพ์ก็ตาม

ตามข้อกำหนดใหม่ สกสค.แบ่งหนังสือ 151 รายการ เป็น 30 กลุ่ม แต่ละกลุ่มก็จะมีหนังสือแบบเรียน 5 เล่มเป็นส่วนใหญ่ และ 6 เล่มอยู่ 1 กลุ่ม หากมีเอกชนเข้าร่วมเสนอราคา 5 ราย (จาก 19 รายที่เชิญชวนในปีนี้) เท่ากับในปี 66 ก็แทบจะการันตีว่าแต่ละโรงพิมพ์จะได้งาน 1 รายการจาก 30 กลุ่ม

โดยมีหมายเหตุว่า จะต้องยื่นข้อเสนอไม่ตรงกับโรงพิมพ์อื่นที่เข้าร่วมเสนอราคา ก็จะได้งานไปโรงพิมพ์ละ 30 รายการแทบจะทันที หากไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ

โดย สกสค. “อ้างว่า” การกำหนด TOR ลักษณะนี้เพื่อกระจายการพิมพ์แบบเรียนให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1/2567 ในวันที่ 16 พ.ค.67 นี้

แต่ก็ไม่พ้นถูกมองว่าเป็นการ “แบ่งเค้ก” ให้แก่โรงพิมพ์ที่ล้วนแล้วแต่เป็น “คู่ค้าเก่า” ของ สกสค. และอาจเข้าลักษณะ “ฮั้ว” อีกด้วย หาก “บังเอิญ” ว่าแต่ละโรงพิมพ์ราคาแต่ละกลุ่มแบบไม่ชนกันเลย

ไม่เพียงเท่านั้น บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ซึ่งได้ร่วมยื่นข้อเสนอจ้างพิมพ์แบบเรียนปี 2567 และเคยได้รับงานพิมพ์แบบเรียนของ สกสค. เมื่อปี 2566 มาแล้ว ก็ยังได้ยื่นร้องเรียนถึง รมว.ศึกษาการ เพิ่มเติมถึงผลทดสอบความละเอียดการพิมพ์ของหนังสือแบบเรียนปี 2566 ด้วยว่า มีแบบเรียนจำนวนมากที่ “ตกสเปก” ที่กำหนดใน TOR ทั้งเรื่องกระดาษ และความละเอียดของหมึกพิมพ์

ทว่า กรรมการตรวจรับหนังสือแบบเรียนปี 2566 กลับตรวจรับงานทั้งหมด และปรากฎว่า “เจ้าของผลงานตกสเปก” เมื่อปีก่อน ก็ยังสามารถเข้าร่วมเสนอราคาจัดพิมพ์แบบเรียนปี 2567 ได้อีกด้วย

กลับกัน บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ที่ถือเป็น “หน้าใหม่” ในฐานะคู่ค้ากับ สกสค. เพราะเพิ่งเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ชิงเค้กพิมพ์แบบเรียนของ สกสค. เมื่อปี 2565 และได้งานครั้งแรกเมื่อปี 2566 กลับรู้สึกว่า ตัวเองถูกกีดกันมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมาที่พยายามเข้ามายื่นซองประมูล

โดยปี 2565 บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ถูกตีตกคุณสมบัติในฐานะมีผลงานการพิมพ์แบบเรียนให้กับคู่แข่งของ สกสค. ทั้งที่ใน TOR เดียวกันกลับกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ยื่นเสนอราคาต้องมีผลงานรับจ้างพิมพ์หนังสือหรืองานรับจ้างพิมพ์ประเภทเดียวกันกับงานที่จะรับจ้างกับองค์การค้าของ สกสค.หรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน

กระทั่งก่อนการประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนประกาศประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 เพราะมองการกำหนดเงื่อนไขใน TOR หลายข้อ มีลักษณะกีดกันไม่ให้บริษัทฯเข้าร่วมการประมูล และจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพของบริษัทฯ ตามที่รัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 40 และยังเข้าข่ายขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ด้วย

ก่อนที่ ศาลฯ จะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับเฉพาะบางส่วนที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นเสนอราคา เนื่องจากเป็นการกำหนดคุณสมบัติที่เกินไปกว่าหลักความโปร่งใส และอาจมีผลกระทบต่อการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน แต่ยังให้ สกสค. สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปได้

ซึ่งผลการยื่นเสนอราคาครั้งนั้น ปรากฎว่า บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ยื่นเสนอราคาประมูลต่ำสุด 93 จาก 150 รายการ แต่ สกสค. ได้ประกาศให้เป็นผู้ชนะประมูล 12 รายการเท่านั้น โดยรายการที่เสนอราคาต่ำสุด แต่ไม่ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ชนะนั้น สกสค.ให้เหตุผลว่า ไม่เป็นผู้ได้คะแนนรวมสูงสุด (Price Performance)

บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ จึงได้ยื่นอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างฯ เฉพาะผลการประมูลจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 รวม 84 รายการ ต่อคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ของ สกสค. แต่คณะกรรมการฯ ก็มีมติไม่รับพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของบริษัทฯ

ทำให้ บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมและแก้ไขคำฟ้อง ในคดีที่เคยยื่นไว้กับศาลปกครองกลาง ซึ่งคดีก็ยังคงอยู่ในชั้นศาลฯมาจนถึงตอนนี้

ตามรูปการณ์โครงการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 ที่ บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ยื่นเรื่องร้อง “ค้ำ” ไว้แล้ว ก็อาจต้องไปถึงมือศาลฯอีกครั้งอย่างแน่นอน

ก็น่าจับตาไม่น้อยว่า สกสค.จะเดินหน้าอย่างไรต่อไป เพราะเชื่อว่า ขณะนี้ทราบผลการเสนอราคาของทั้ง 151 รายการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะตามแนวปฏิบัติจะมีการเปิดซองในวันเดียวกับที่เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเมื่อวันที่ 29 ก.พ.67 ที่ผ่านมา

รวมทั้งการตัดสินใจของ “ครูอุ้ม” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ในฐานะ รมว.ศึกษาธิการ ที่จะต้องลงนามอนุมัติผลการจัดซื้อจัดจ้าง หากมีความไม่ชอบมาพากลตามที่เอกชนร้องเรียนไว้แล้วจริง ก็เท่ากับเป็น “ใบเสร็จ” มัดว่าปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตขึ้นหรือไม่ด้วย

จนทำท่าว่า ทีโออาร์พันล้าน เค้กก้อนโตของ สกสค.อาจต้องสะดุด เพื่ออะไรๆ ให้มันเข้าที่เข้าทางเสียก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น