xs
xsm
sm
md
lg

โหวต “เศรษฐา” เหงื่อตก แบ่งเค้ก รมต.ส่อระส่ำ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เศรษฐา ทวีสิน - อนุทิน ชาญวีรกูล
เมืองไทย 360 องศา

หากพิจารณาจากคำพูดของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ที่กล่าวว่า ได้กำหนดวันประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 22 สิงหาคม มันก็คงเป็นไปตามนั้น แต่ขณะเดียวกัน จะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือไม่ และเป็นใคร ต้องมาติดตามกันอย่างใกล้ชิด เพราะทุกอย่างสามารถพลิกผันได้ตลอดเวลา รวมไปถึงความวุ่นวายน่าเบื่อหน่าย ในเรื่องการแก่งแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีภายในพรรคร่วมรัฐบาลที่จะต้องเกิดขึ้นตามมาอีก

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แถลงภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีรัฐสภามีมติห้ามเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำ ว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ถือว่าสิ่งที่ทางรัฐสภาประชุมไปแล้ว เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ถูกต้อง ไม่ขัดต่อสิ่งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปให้พิจารณา ว่า ระหว่างข้อบังคับกับรัฐธรรมนูญ มีความขัดแย้งกันหรือไม่ อย่างไร ทำให้สิ่งที่สภาทำไป ดำเนินการต่อไปได้ โดยวันที่ 17 สิงหาคม เวลา 14.00 น. จะให้ฝ่ายกฎหมายสภา และฝ่ายที่เกี่ยวกับประชุมรัฐสภาในการเลือกนายกฯ ได้พิจารณารายละเอียด ระเบียบวาระที่ค้างอยู่ และกระบวนการเลือกนายกฯ จากนั้น จะนัดประชุมวิป 3 ฝ่าย คือ วุฒิสภา กับสภาทั้งสองฝ่าย เพื่อหาข้อสรุป ซึ่งที่ตนกำหนดไว้แล้วน่าจะออกระเบียบวาระได้หลังฝ่ายกฎหมายให้ความเห็นเรียบร้อยแล้ว และจะเชิญสมาชิกรัฐสภา ประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกฯในวันที่ 22 สิงหาคม นี้ ซึ่งได้หารือประธานวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว ล่าสุด มีการนัดหมายการประชุมรัฐสภาตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป

เมื่อถามถึงกรณี นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอญัตติให้ทบทวนมติของที่ประชุมรัฐสภา ที่ให้การเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ รอบสอง เป็นการเสนอญัตติซ้ำ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในวาระการประชุมอยู่แล้ว เมื่อมีคำวินิจฉัยศาลฯ ก็ต้องหารือต่อไป โดยจะดำเนินการตามข้อบังคับ และจะทบทวนอย่างไร ต้องอยู่ในกรอบคำวินิจฉัยศาลฯ

ส่วนที่ว่า การประชุมรัฐสภาวันที่ 22 สิงหาคมนี้ จะเรียบร้อยใช่หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จะดำเนินการให้เรียบร้อยมากที่สุด แต่จะจบวันที่ 22 สิงหาคมนี้ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภา

ขณะเดียวกัน ในฐานะประธานรัฐสภา เห็นควรหรือไม่ว่า แคนดิเดตนายกฯ ต้องเข้ามาชี้แจง แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนไม่สามารถกำหนดได้ แต่รัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ไม่ได้กำหนด ก็ขึ้นอยู่กับสภาว่าจะเห็นสมควรอย่างไร

หากมองกันทีละขั้นตอน จากเรื่องแรกก่อนเริ่มจาก การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ก็ยังไม่ชัวร์ว่า ที่ประชุมรัฐสภาจะให้การรับรอง นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย ได้เสียงไม่น้อยกว่า 375 เสียงหรือไม่ เพราะยังมี ส.ว.บางคน ยังไม่ไว้วางใจในเรื่องภูมิหลัง และคุณสมบัติส่วนตัวว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หลังจากมีเรื่องร้องเรียน และท่าทีบางอย่างก่อนหน้านี้

แต่ถึงอย่างไรหากให้ประเมินกันในเวลานี้ ก็น่าจะผ่านไปได้ หากบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำสามารถตกลงกันได้ในเรื่องโควตารัฐมนตรี ว่า แต่ละพรรค จะได้กระทรวงไหนบ้าง และได้กี่ที่นั่ง ก่อนถึงวันโหวต ถ้าทุกอย่างลงตัว มันก็น่าจะผ่าน

อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นเค้าลางแห่งความวุ่นวาย ซ้ำซ้อน ขึ้นมาแล้ว นั่นคือความขัดแย้ง การแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีกำลังตั้งเค้าขึ้นมาให้เห็นแล้ว สิ่งที่ต้องจับตา ก็คือ เริ่มจากการแบ่งโควตารัฐมนตรีให้กับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่า ทุกพรรคย่อมต้องมุ่งหวังกระทรวงเกรดเอ ซึ่งตามข่าวบอกว่ามีสัดส่วน 8 ต่อ 1 หรือ 9 ต่อ 1 นั่นคือ แปดหรือ เก้าเสียง ต่อหนึ่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ โดยที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมี 71 เสียง บอกว่า ได้เก้าอี้รัฐมนตรี จำนวน 4+4 คือ 4 รัฐมนตรีว่าการ และ 4 รัฐมนตรีช่วยว่าการ อย่างไรก็ดี ยังไม่แน่ชัดว่า จะได้กระทรวงใดบ้าง ซึ่งเชื่อว่า นายอนุทิน ยังต้องการนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต่อไป

ส่วน พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ล่าสุด มีนัดหมายหารือกันในวันที่ 17 สิงหาคม เชื่อว่า พรรคต้องการต่อรอง กระทiวงพลังงาน เพื่อหวังให้บุคคลของพรรค โดยเฉพาะคนของ “นายทุน” พรรค ได้นั่งเก้าอี้ตัวนี้ โดยโควตาที่พรรครวมไทยสร้างชาติได้รับก็คือ 4 เก้าอี้รัฐมนตรี แต่ยังไม่ลงตัวว่า จะได้กระทรวงใด รวมไปถึงมี รัฐมนตรีว่าการ และ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กี่ตำแหน่ง

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ เชื่อว่า “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค คงไม่รับตำแหน่ง แต่ที่ต้องจับตาก็คือ ความต้องการโควตารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วนจะเป็น “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” ประธานที่ปรึกษาพรรค น้องชายของ พล.อ.ประวิตร หรือไม่ ก็ต้องรอดูกันไป

แต่นั่นเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น เพราะนับจากนี้จะเข้าสู่โหมดการต่อรอง แย่งเก้าอี้กันอย่างเข้มข้น และเริ่มมองเห็นกันแล้ว แม้แต่ภายในพรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคแกนนำเอง ล่าสุด ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อหวังได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ อย่างน้อยก็เริ่มเป็นจุดสนใจ ก็คือ กรณีของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองหัวหน้าพรรค ที่แสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่าต้องการนั่ง เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างไรก็ดี เขาปฏิเสธว่า ไม่ได้ฟื้น “กลุ่มวังน้ำยม” ในอดีตกลับมาใหม่เพื่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีแต่อย่างใด

“ผมขอย้ำว่า ไม่มีมูลความจริงแม้แต่น้อย เพราะไม่เคยไปต่อรองตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งการแต่งตั้งรัฐมนตรี ก็เป็นอำนาจของพรรคการเมือง ที่ต้องสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถพร้อมทำงาน โดยจะเห็นได้ว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของพรรค ผมไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ตนทำได้ตอนนี้ คือ ทำงานในนามพรรคให้หนัก ในเรื่องที่ถนัด คือ การเกษตร เพื่อหวังว่า พี่น้องเกษตรกร จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ผมจึงขออย่านำความตั้งใจดีของ ส.ส.ไปเชื่อมโยงทางการเมือง ให้เกิดบรรยากาศที่ไม่ดีขึ้น เพราะเหมือนจะเป็นการด้อยค่าการตั้งใจทำงานของเรา ที่คิดถึงแต่ผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง” นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ปฏิเสธเรื่องการฟื้นกลุ่มวังน้ำยมขึ้นมาเพื่อต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี

หากพิจารณากันตามรูปการณ์แล้ว รัฐบาลชุดใหม่เริ่มตั้งแต่ตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต้องจับตาดูว่า นายเศรษฐา ทวีสิน จะผ่านด่าน ส.ว.ได้หรือไม่ เพราะมีหลายคนยังปฏิเสธ ขณะที่พรรคก้าวไกล ไม่โหวตให้อยู่แล้ว แต่หากผ่านไปได้ก็ต้องมาเจอกับเรื่องชวนปวดหัวในเรื่องการแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีในแต่ละพรรค ไม่เว้นแม้แต่พรรคเพื่อไทยเอง และยิ่งเก้าอี้มีน้อย เพราะต้องแบ่งซอยกันหลายพรรค เชื่อว่า งานนี้วุ่นวายแน่นอน ซึ่งหลังม่านก็เริ่มตั้งเค้ากันแล้ว !!


กำลังโหลดความคิดเห็น