xs
xsm
sm
md
lg

มติศาล รธน.ตรึง “พิธา” เดินหน้า-ถอยไม่ได้ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
เมืองไทย 360 องศา

จะว่าเป็นไปตามคาดหมายไว้ล่วงหน้าก็ได้ สำหรับมติศาลรัฐธรรมนูญ ตีตกคำร้องที่มีผู้ร้องให้วินิจฉัยมติรัฐสภาห้ามเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี รอบที่สอง โดยศาลมีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า ผู้ร้องไม่ใช่เป็นบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ เหตุไม่ได้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีของพรรคการเมือง

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน รับคำร้องของรองศาสตราจารย์ พรชัย เทพปัญญา ผู้ร้องเรียนที่ 1 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญส่ง ชเลธร ผู้ร้องเรียนที่ 2 นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ ส.ส.พรรคก้าวไกลและคณะ ซึ่งเป็นประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งและเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล จำนวน 17 คน ผู้ร้องเรียนที่ 3 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีรัฐสภามีมติเรื่องการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี ในรอบที่สอง วันที่ 19 ก.ค. 66 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิ หรือเสรีภาพของบุคคลจากการกระทำละเมิดโดยใช้อำนาจรัฐ แต่บุคคลที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรงสำหรับกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่ง ประกอบ มาตรา 159 วรรค หนึ่ง ให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเฉพาะจากบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอและเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เท่านั้น

ดังนั้น ผู้มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากรัฐสภาต้องเป็นผู้ที่พรรคการเมืองเสนอตาม มาตรา 159 วรรคหนึ่ง อันเป็นสิทธิเฉพาะบุคคลที่รัฐธรรมนูญ 2560 กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ประกอบกับ มีช่องทางในการยื่นคำร้องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะแล้ว ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้

เมื่อมติศาลรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้ มันก็ทำให้กระบวนการในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในที่ประชุมรัฐสภา สามารถเดินหน้าได้อีกครั้ง และล่าสุด นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ก็ได้นัดหมายประชุมวิปทั้งสามฝ่ายเพื่อกำหนดนัดวันประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 22 สิงหาคม นี้

อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาถึงมติศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาดังกล่าว แม้ว่าจะเปิดทางให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล ในฐานะที่ถูกละเมิดสิทธิโดยตรง ตามคำวินิจฉัยของศาลฯสามารถเป็นผู้ยื่นคำร้องให้ตีความได้โดยตรงอีกครั้งก็ตาม แต่ก็นั่นแหละมันก็ดันไป “ปิดล็อกตัวเอง” เอาไว้อีก เหมือนกับก่อนหน้านี้ ที่ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ มาพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับมติหรือญัตติของสภา อ้างว่าเป็นการก้าวก่ายอำนาจของสภา และล่าสุด นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ก็ยืนยันว่า จะไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในเรื่องดังกล่าว และยังย้ำเรื่องการไม่ต้องการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัย โดยอ้างว่าไม่ยอมรับอำนาจภายนอกมาก้าวก่าย

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากสภาพความเป็นจริงทางการเมือง และโฟกัสไปความน่าจะเป็นสำหรับการโหวตได้เป็นนายกรัฐมนตรี และการเป็นแกนนำหรือแม้แต่การได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกลนับจากนี้ ถือว่าเป็นศูนย์ แบบเป็นไปไม่ได้เลย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอนาคตทางการเมืองของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ด้วยแล้ว ถือว่าน่าจะมี “ชะตากรรมอันน่าเศร้า” ด้วยซ้ำไป

อย่างที่รู้กันแล้วว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พลาดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ไปอย่างน่าเสียดาย จนน่าแปลกใจว่าทุกอย่างมันพลิกผันแบบนี้ได้อย่างไร และเชื่อว่า เจ้าตัวก็น่าจะพอรู้แล้วว่า มาจากสาเหตุอะไร และที่ผ่านมา ก็ยังไม่เคยตั้งคำถามเรื่องนี้กับเขาเลย เพราะที่ผ่านมาหลังการเลือกตั้ง เขามีความมั่นใจมากว่าจะต้องได้เป็นนายกฯ มีการเดินสายและใช้คำว่า “ว่าที่นายกฯ” อยู่ตลอดเวลา

และที่น่าแปลกใจยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ นโยบายของพรรคก้าวไกล ที่ใช้ในการหาเสียงมีอยู่นับร้อยนโยบาย แต่ที่ผ่านมา กลายเป็นว่า “บ้าคลั่ง” อยู่กับเรื่องการแก้ไข มาตรา 112 อยู่เรื่องเดียว พร้อมกับตั้งข้อจำกัดมี “เงื่อนไข” ว่าไม่ร่วมกับคนโน้น คนนี้ เช่น “มีเราไม่มีลุง” ซึ่งก็อาจยอมรับได้ เพราะการเมืองแบ่งขั้วเป็นสองฝั่ง แต่กับการที่ยังดึงดันในเรื่อง มาตรา 112 ทั้งที่ฝ่ายส.ว.และบางพรรคการเมืองประกาศต่อสาธารณะแล้วว่า หากพรรคก้าวไกลยอมถอยในเรื่องนี้ พวกเขาก็จะโหวตให้ ถึงตอนนั้นเชื่อว่า นายพิธา ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ตั้งแต่การโหวตครั้งแรก

แม้จะมีการบอกว่า การที่ ส.ว.พูดแบบนั้น หรือที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ จากพรรคภูมิใจไทย บอกว่า จะโหวตให้ แต่พอเอาจริง ก็จะมีข้ออ้างอื่นตามมาอีก ซึ่งหากเป็นแบบนั้นจริง คนที่พูดไม่เป็นคำพูด และประกาศชัดเจนต่อสาธารณะไปแล้วก็ให้มันรู้ไปว่า “บิดพลิ้ว” กลืนน้ำลายตัวเอง

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ที่ทำให้ นายพิธา ชวดเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ไปกล่าวปราศรัยในที่ประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก ในเดือนสิงหาคม ตามที่เขาบอกกับที่ประชุมรัฐสภาก่อนการโหวต มันก็ผิดหวังจนได้

ดังนั้น หากให้สรุปอีกทีสำหรับความสงสัยที่ผ่านมา ก็คือ สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้เป็นนายกฯ ก็มาจาก “ขาใหญ่” ในพรรคก้าวไกลนั่นแหละ เพราะอย่างที่รู้กันก็คือ ไม่อยากให้มา “ชุบมือเปิบ” จากที่เจ้าของพรรคได้ลงทุนมาหรือเปล่า

เมื่อวกมาถึงเรื่องสถานการณ์ปัจจุบัน หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องวินิจฉัยเรื่องการเสนอญัตติซ้ำ และพรรคก้าวไกล ก็ไม่เสนอให้ตีความนั้น ทางหนึ่งก็เป็นเพราะตัวเองได้พูดเป็น “กับดัก” เอาไว้ล่วงหน้าทำนองว่า ไม่ยอมรับอำนาจภายนอกมายุ่งเกี่ยวกับสภา แต่สำหรับ นายพิธา แล้วเหมือนกับว่าเขาถูก “ฝัง” จมดิน เพราะไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้ตีความเอง ในฐานะผู้เสียสิทธิ หรือหากดึงดันเสนอญัตติให้สภาได้โหวตอีกครั้งเป็นผลสำเร็จก็ตาม แต่ผลก็จะหนักกว่าเก่า เพราะเวลานี้ พรรคเพื่อไทยได้ “ฉีกเอ็มโอยู” ไปแล้ว และเตรียมเสนอแคนดิเดตนายกฯของตัวเองคือ นายเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นมาให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตแล้ว ขณะที่ก้าวไกล ก็ตกอยู่ในสภาพ “หัวเดียวกระเทียมลีบ”

ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กำลังเจอวิบากกรรม ที่เฉพาะหน้าก่อน ก็คือ เรื่องถือหุ้นสื่อไอทีวี ที่กำลังรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และเวลานี้ก็ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ซึ่งตามรูปการณ์แล้วบอกได้เลยว่ารอดยาก ดังนั้น ในเวลานี้สำหรับเขาแล้วเหมือนกับว่าถูกตรึงอยู่กับที่ เดินหน้าหรือถอยหลัง ก็ไม่ได้ แต่ขณะเดียวกัน กำลังถูกฝังจมดินลงไปเรื่อยๆ!!


กำลังโหลดความคิดเห็น