เมืองไทย 360 องศา
หากมองความเคลื่อนไหวการเมืองในฟากรัฐบาลใหม่ ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ไม่ว่าจะเป็นแบบ เฟสแรก 9 พรรค ที่มีพรรคภูมิใจไทยอยู่ในนั้น หรือในเฟสที่สอง มีพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ เติมเข้ามา เพื่อให้เสียงสนับสนุนรวมกันกว่าสามร้อยเสียง เพื่อให้เกิดเสถียรภาพมั่นคงของรัฐบาล และแม้ว่ายังไม่มีกำหนดวัน เวลา โหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่ออกมาจาก นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เนื่องจากต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดนัดชี้ขาดว่า จะรับวินิจฉัยคำร้องในเรื่องการเสนอญัตติซ้ำ ว่า ขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 หรือไม่ ในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ก่อน
อย่างไรก็ดี คาดว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ น่าจะมีขึ้นภายในสัปดาห์หน้า โดยล่าสุด พรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำ ก็ยังยืนยันเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตของพรรค ให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตรับรอง
แต่สิ่งที่ต้องพิจารณากันในเวลานี้ ก็คือ จะมีการแบ่ง “โควตารัฐมนตรี” ก่อน หรือหลังการโหวตนายกรัฐมนตรี เพราะตามข่าวบอกว่า กำลังต่อรองกันหนักหน่วงระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคหลักๆ หรือแม้แต่พรรคที่มีเสียง 8-10 เสียงก็ตาม เพราะทุกพรรคต่างก็อยากได้กระทรวงในระดับเกรดเอ หรือ บี กันทั้งนั้น
แน่นอนว่า สำหรับพรรคเพื่อไทยย่อมต้องการให้มีการโหวตนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้นไปก่อน ขณะที่บรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องการให้มีการ “แบ่งเค้ก” กันก่อน ไม่อยากให้มีการโหวตแบบ “ตีเช็คเปล่า” ไปล่วงหน้า ซึ่งเท่าที่ตรวจเช็กอาการ ก็พอมองออกว่า พรรคร่วมฯ ต่างก็ประสานเสียงตรงกันว่า “ต้องแบ่งก่อน” เพื่อให้เกิดความชัดเจน และที่สำคัญ มันหมายถึงอำนาจต่อรองที่ยังเหนือกว่า เพราะหากผ่านไปแล้ว ทุกอย่างมันก็ย่อมผันแปรไปในทางตรงกันข้ามได้อยู่แล้ว
ก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า ต้อง “โหวตก่อนแบ่งเค้ก” โดยเขาตอบคำถามเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรี ว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ขอตั้งนายกรัฐมนตรีให้ได้ก่อน ส่วนกรณีที่มีการมองว่า ต้องคุยกันเรื่องตำแหน่งให้ชัดเจนก่อนที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรีนั้น ตนเข้าใจว่าเป็นอย่างไร แต่การจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ เป็นสถานการณ์พิเศษ ซึ่งเมื่อเราตั้งนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว เรื่องต่างๆ จะมีการพูดคุยกันด้วยดี สำหรับกรณีที่พรรคเก่า จำเป็นต้องคุมกระทรวงเดิม หรือไม่นั้น เป็นเพียงแค่แนวคิด ส่วนการปฏิบัติ ขอยังไม่แสดงความคิดเห็น
ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมเจรจาจัดตั้งรัฐบาล กล่าวว่า คิดว่า ประเด็นกระทรวงต่างๆ จะเสร็จสิ้นใกล้เคียงกับการโหวตนายกฯ ขอดูเวลาที่เหมาะสม ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะแบ่งก่อนโหวต หรือหลังโหวต
อย่างไรก็ดี เชื่อว่า พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคต่างประสานเสียงเดียวกันว่า ต้องแบ่งก่อนโหวต และล่าสุด ก็มีความชัดเจนจากคำพูดของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ยอมรับว่า พรรคภูมิใจไทย ได้โควตากระทรวงมาจำนวน 4+4 ความหมายก็คือ เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ 4 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วยว่าการ อีก 4 ตำแหน่ง
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เดินทางมาเป็นประธานการประชุม ส.ส.พรรคภูมิใจไทย โดยก่อนการประชุม นายอนุทิน ได้แวะทักทายสื่อมวลชน พร้อมหยิบขนมไข่ของสื่อมวลชนขึ้นมารับประทาน ทำให้สื่อแซวว่า “กินขนมไข่ จะไปกระทรวงพาณิชย์หรือ หรือถ้าติดคอ ต้องไปกระทรวงสาธารณสุข หรือไม่” โดย นายอนุทิน ได้ตอบกลับมาอย่างอารมณ์ดีว่า “ไปกระทรวงวัฒนธรรม จะได้รำเข้าไป” พร้อมทำท่ารำประกอบ
จากนั้น นายอนุทิน ได้สอบถามสถานการณ์การเมืองกับสื่อมวลชน สื่อมวลชนจึงย้อนถามกลับไปว่า นายอนุทิน ได้ระบุวันที่จะนัดพูดคุยกับพรรคเพื่อไทย ในการแบ่งโควตารัฐมนตรี หรือยัง นายอนุทิน จึงตอบกลับมาว่า “ยังไม่ได้นัดเลย” เมื่อถามว่า พรรคภูมิใจไทยได้โควตารัฐมนตรีจำนวนเท่าไหร่ นายอนุทิน กล่าวว่า “โควตาน่าจะได้ 4+4” อย่างไรก็ดี เมื่อถามว่า พรรคภูมิใจไทย อยากได้กระทรวงใดบ้าง นายอนุทิน ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม
เมื่อถามว่า พรรคภูมิใจไทย เตรียมบุคคลที่จะรับตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 แล้วหรือยัง หากเกิดกรณี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานสภา คนที่ 1 ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้พรรคก้าวไกล ได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน นายอนุทิน กล่าวว่า หมออ๋องยังไม่ได้ลาออกเลย ต้องดูก่อน เพราะมีเขียนอยู่ในข้อบังคับ
เมื่อถามว่า จะมีการดำเนินคดีกลุ่มผู้ชุมนุมที่มาประท้วงบริเวณหน้าที่ทำการพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่พบว่ามีความเสียหายอะไร มีแค่กาวดักหนูติดอยู่ที่ป้ายชื่อพรรค
จากคำพูดดังกล่าวของ นายอนุทิน ก็พอทราบแล้วว่า มีการแบ่งโควตากระทรวงกันเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นกระทรวงใดบ้าง แต่เชื่อว่ามีการตกลงกันแล้ว อย่างน้อยก็ลงตัวแล้วว่า แต่ละพรรคจะได้กี่เก้าอี้ และได้นั่งเก้าอี้กระทรวงใดบ้าง
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวดังกล่าว มันย่อมสะท้อนให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทย ได้ยอม “อ่อนข้อ” ลงไป ให้กับพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เพื่อแลกกับการสนับสนุนให้พรรคได้เป็นแกนนำและสนับสนุนคนของพรรคซึ่งในที่นี้ ก็น่าจะเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน ให้ได้รับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะหากยังดึงดันเสียงแข็งว่า ต้องโหวตก่อนแล้วค่อยมาแบ่งโควตารัฐมนตรี มันก็ย่อมมีความเสี่ยง ที่ “เกมจะพลิกผัน” ได้อีกรอบ ไม่คุ้มแน่นอน
อีกด้านหนึ่งหากพิจารณากันแบบตรงไปตรงมาก็ถือว่า “วิน-วิน” กันทั้งสองฝ่าย หากแลกกับเป้าหมายหลัก นั่นคือพรรคเพื่อไทย ยังรักษาเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และพรรคแกนนำรัฐบาลเอาไว้ได้ ส่วนพรรคร่วม ก็มีความชัดเจนว่าจะได้กี่เก้าอี้ และตำแหน่งอะไรบ้าง อย่างน้อยก็ชัดเจนในระดับหนึ่ง ก่อนที่จะไปฟัดกันต่อในแต่ละพรรค ถึงตอนนั้นก็จะได้เห็น “ฝุ่นตลบอบอวล” กันอีกรอบ เสี่ยงต่อพรรคแตกตามมาก็เป็นได้
แต่นาทีนี้ ว่ากันทีละสเต็ป ทีละขั้นตอนเสียก่อน !!