xs
xsm
sm
md
lg

ตีความญัตติซ้ำ ยื้อ “พิธา” ถูกถีบตกเรือ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
เมืองไทย 360 องศา

อาจจะเป็นข่าวดีเล็กๆ สำหรับพรรคก้าวไกล รวมไปถึง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคที่จะได้เล่นเกมยื้อออกไปได้อีกระยะหนึ่ง เพราะล่าสุดผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีมีข้อถกเถียงเรื่องการที่มติรัฐสภาที่ห้ามเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สองนั้น ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

จากการแถลงของ พ.ต.ท กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ว่า หลังการประชุมสมาชิกรัฐสภาเพื่อพิจารณาบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 แต่ที่ประชุมรัฐสภามีมติวินิจฉัยว่า การเสนอชื่อบุคคลดังกล่าวถือเป็นญัตติซ้ำ ตามที่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 41 กำหนดห้ามไว้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกรัฐสภาและประชาชนจนถึงวันนี้รวม 17 คำร้องเรียน โดยผู้ร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

ซึ่งที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีการประชุมปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกัน ว่า รัฐสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย ถือเป็นหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ หากการกระทำของรัฐสภาละเมิดสิทธิเสรีภาพ ย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญ และการกระทำของ “รัฐสภา” ในการลงมติวินิจฉัยว่า การเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็น “ญัตติ” ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 นั้น เป็นการนำข้อบังคับการประชุมไปทำให้กระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้กำหนดเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ตามมาตรา 159 ประกอบ มาตรา 272 การกระทำของรัฐสภาดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

“การกระทำของรัฐสภาในการลงมติวินิจฉัยดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนโดยตรง โดยผู้ร้องเรียนเป็นสมาชิกรัฐสภาและประชาชนผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ตามหมวด 3 ว่าสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หากการกระทำของรัฐสภาดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้ และมีผลเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน”

นอกจากนี้ ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำของรัฐสภาดังกล่าวยังคงมีอยู่ และมิได้รับการวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนและประชาชนทั่วไป ซึ่งอยู่ภายใต้การใช้อำนาจของรัฐโดยรัฐสภา ผู้ร้องเรียนรวมถึงประชาชนทั่วไปจึงได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ส่วนที่ผู้ร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งเป็นคำขอเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆ เป็นการชั่วคราวก่อน

การวินิจฉัย ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อป้องกันความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง และเป็นคำขอที่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ จึงได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภา รอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ มีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งก็เป็นดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับข้อเท็จจริง และพฤติการณ์ต่อไปจึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญประกอบ มาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561

แน่นอนว่า นี่อาจเป็นข่าวดีเล็กๆ สำหรับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล แต่ก็คงเป็นเพียงการยื้อเวลาออกไปเท่านั้น และแม้ว่าในที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาว่า มติของรัฐสภาดังกล่าวในเรื่องการโหวตนายกฯในชื่อเดิมคนเดิมซ้ำไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อมีการเสนอชื่อ นายพิธา เข้ามาโหวตเป็นนายกฯอีกครั้ง มันก็ไม่ผ่านเช่นเดิม และเสียงที่ “ไม่เอา” ก็ยิ่งชัดเจนกว่าเดิม ซึ่งหากพิจารณากันถึงความเป็นไปได้หากได้ไฟเขียวจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็คงมีการเสนอชื่อเข้ามาอีกครั้ง แต่หากไม่ผ่านอีก มันก็สมควรต้องตกไปให้แคนดิเดตจากพรรคอื่นเสนอชื่อเข้ามาบ้าง และในที่นี้ก็คือพรรคเพื่อไทย นั่นเอง

ขณะเดียวกัน เมื่อสำรวจท่าทีชัดเจนทั้งจากพรรคการเมืองนอกเหนือจาก “ขั้ว 8 พรรค”แล้ว แทบทุกพรรคล้วนไม่เอาพรรคก้าวไกล นั่นคือ ไม่โหวตสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี และไม่ร่วมด้วยหากมีพรรคก้าวไกลอยู่ในรัฐบาล ความชัดเจนแบบนี้รวมไปถึงฝ่าย ส.ว.ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่อีกด้วย

ดังนั้น นาทีนี้ ถือว่า พรรคก้าวไกลถูกโดดเดี่ยวไปโดยปริยาย และแม้ว่าหากผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาในทางบวก นั่นคือ อาจเป็นโอกาสให้มีการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เข้ามาอีกรอบ ซึ่งผลโหวตก็น่าจะออกมาแบบเดิม นั่นคือ “ไม่ผ่าน” อีกทั้งคะแนนเสียงที่ได้ก็อาจจะลดลงกว่าครั้งก่อน ก็เป็นไปได้มาก เมื่อพิจารณาจากท่าทีที่ยืนกรานของ ส.ว.

หรือแม้แต่กรณีของพรรคเพื่อไทยเอง มันก็มองเห็นได้ชัดเจนว่า การเชิญพรรคการเมืองจากขั้วรัฐบาลเดิมมาหารือ ทั้งพรรคภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนากล้า มาหารือแล้วได้รับคำยืนยันว่า “ไม่เอาก้าวไกล” มันก็เป็นคำตอบอยู่ในตัวอยู่แล้วว่า พรรคเพื่อไทยคิดอย่างไรกับก้าวไกล หรืออีกมุมหนึ่งก็เหมือนกับยืมปากพรรคการเมืองพวกนั้นมาพูดแทนนั่นเอง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องจับตากัน ก็คือ การประชุมพรรคร่วม 8 พรรคที่กำหนดเอาไว้ในวันที่ 25 กรกฎาคม ว่า ยังเป็นไปตามกำหนดเดิมหรือไม่ หลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีเสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกฯซ้ำเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะในคำร้องยังให้ยุติการเสนอชื่อนายกฯเอาไว้ก่อน จนกว่ามีคำวินิจฉัยนั้นก็อาจทำให้ยื้อเวลาออกไปได้อีกระยะหนึ่ง

แต่หากมีการประชุมในวันที่ 25 กรกฎาคม ตามกำหนดการเดิม มันก็อาจได้เห็นท่าทีที่ชัดเจนขึ้นของพรรคเพื่อไทย ที่คงต้องกำหนดเงื่อนไขเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายสำหรับพรรคก้าวไกล และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่า อาจจะให้โหวตอีกครั้ง หากไม่ผ่านก็ต้องถึงเวลา “ทางใครทางมัน” ต้องฉีกเอ็มโอยูเสียที เพราะถือว่าดันมาสุดทาง ความหมายก็คือ ถึงเวลาต้อง “ถีบลงจากเรือ” ไปเป็นฝ่ายค้านตามใจปรารถนา และตามความฝันแลนด์สไลด์ในคราวต่อไป !!


กำลังโหลดความคิดเห็น