อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ชี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการลงมติของรัฐสภา กรณีการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ เพราะไม่ใช่การละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามหมวด 3 ของ รธน. และไม่ใช่ผลจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณา
วันนี้ (24 ก.ค.) นายวัส ติงสมิตร นักวิชาการอิสระ อดีตประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และอดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก วัส ติงสมิตร โต้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการลงมติของรัฐสภา มีรายละเอียดระบุว่า
ผู้ตรวจการฯ ส่งศาล รธน.ตีความมติรัฐสภา ตีตกโหวต ‘พิธา’ ซ้ำ และขอให้ชะลอโหวตนายกฯ
1) บ่ายวันนี้ (จันทร์ที่ 24 ก.ค. 66) มีรายงานข่าวว่า กรณีรัฐสภาลงมติวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นญัตติอันต้องห้ามมิให้นำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 นั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า
1.1 รัฐสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย รัฐสภาจึงถือเป็นหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ หากการกระทำของรัฐสภาละเมิดสิทธิเสรีภาพ ย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญ และการกระทำของรัฐสภาในการลงมติวินิจฉัยว่าการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็น “ญัตติ” ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 นั้น เป็นการนำข้อบังคับการประชุมไปทำให้กระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามาตรา 159 ประกอบ มาตรา 272 การกระทำของรัฐสภาดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อันเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนโดยตรง โดยผู้ร้องเรียนเป็นสมาชิกรัฐสภาและประชาชนผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ตามหมวด 3 ว่าสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
1.2 นอกจากนี้ ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำของรัฐสภาดังกล่าวยังคงมีอยู่และมิได้รับการวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติ ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนและประชาชนทั่วไป ซึ่งอยู่ภายใต้การใช้อำนาจของรัฐโดยรัฐสภา ผู้ร้องเรียนรวมถึงประชาชนทั่วไปจึงได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้
1.3 ส่วนคำร้องเรียนที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งเป็นคำขอเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย (ตามมาตรา 71 หมายเหตุของผู้เขียน) ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง และเป็นคำขอที่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ จึงได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งก็เป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่อไป
1.4 ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบ มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561
2) ผู้เขียนพิจารณาแล้วเห็นว่า ปัญหานี้ มีข้อพิจารณา 2 ข้อเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลรัฐธรรมนูญ
3) ชั้นผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ใดถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ถ้าผู้นั้นเห็นว่าการละเมิดนั้นเป็นผลจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ต้องยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญพร้อมความเห็น (มาตรา 48 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561)
4) ชั้นศาลรัฐธรรมนูญ
4.1 บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคําวินิจฉัยว่าการกระทํานั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 213)
4.2 ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ร้องขอว่าการกระทํานั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (มาตรา 7(11) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561)
4.3 บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรงและได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้น ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยคดีได้ (มาตรา 46 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561)
5. ผู้ตรวจการแผ่นดินเองได้ยืนยันว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองดังกล่าวคือสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ตามหมวด 3 ว่าสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ซึ่งบัญญัติไว้ตั้งแต่มาตรา 25 ถึงมาตรา 49 แต่การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา อันเป็นองค์กรนิติบัญญัติ พิจารณาให้ความเห็นชอบ เป็นบทบัญญัติตามมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 159 ในหมวด 8 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี ของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่บทบัญญัติตามหมวด 3 และไม่มีปัญหาเกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีกรณีที่บุคคลจะถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองบุคคลไว้ และการละเมิดนั้นเป็นผลจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อันจะส่งผลให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญพร้อมด้วยความเห็น ตามมาตรา 48 และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับเรื่องหรือคำร้องไว้พิจารณาตามมาตรา 46 ของ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 กล่าวโดยสรุป ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณา