“วัส ติงสมิตร” อดีตผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา เห็นแย้ง “บวรศักดิ์” ชี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่สามารถยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยมตีที่ประชุมรัฐสภาห้ามโหวตชื่อนายกฯ ซ้ำ เพราะเป็นการเห็นชอบขององค์กรนิติบัญญัติ ไม่ใช่กรณีที่บุคคลถูกละเมิด และศาล รธน.ก็ไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้เช่นกัน
จากกรณีที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ให้ความเห็นต่อสาธารณะ ว่า การที่สมาชิกรัฐสภาได้ลงมติเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า การเสนอชื่อบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งยากรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาลมาตรา 272 ถือเป็นญัตติ และห้ามเสนอชื่อบุคคลเดิมซ้ำ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 เป็นการลงมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เอาข้อบังคับการประชุมมาทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นง่อย พร้อมทั้งแนะนำให้คนที่คิดว่าสิทธิของตนถูกกระทบไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่ามติรัฐสภาเป็นการกระทำทางนิติบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ ถ้าผู้ตรวจการไม่ส่งศาล ก็ให้ยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้นั้น
ล่าสุด วันนี้ (21 ก.ค.) นายวัส ติงสมิตร นักวิชาการอิสระ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า ปัญหาการขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ปมที่ประชุมรัฐสภามีมติว่าการเสนอชื่อบุคคลให้ที่ประชุมเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเสนอญัตติซ้ำ
1) วันนี้ (ศุกร์ที่ 21 ก.ค. 66) นายพรชัย เทพปัญญา นักวิชาการอิสระ พร้อมด้วย นายบุญส่ง ชเลธร อาจารย์คณะนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่า การที่ที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 66 มีมติว่า การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้สมาชิกรัฐสภาลงมติเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อ 41 เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
2) ผู้เขียนพิจารณาแล้วมีความเห็นดังต่อไปนี้
2.1 ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่สามารถยื่นคำร้องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะเป็นกระบวนการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา อันเป็นองค์กรนิติบัญญัติ พิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กรณีที่บุคคลถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองบุคคลไว้ และการละเมิดนั้นเป็นผลจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อันจะส่งผลให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญพร้อมด้วยความเห็น ตาม พ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 48 วรรคหนึ่งได้
2.2 ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณา เพราะเป็นกระบวนการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา อันเป็นองค์กรนิติบัญญัติ พิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กรณีที่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรงและได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้น ตาม พ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง