2 นักวิชาการอิสระ ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาล รธน.วินิจฉัย มติรัฐสภาห้ามเสนอชื่อ “พิธา” ซ้ำขัด รธน. พร้อมจี้ชงสั่งระงับการเลือกนายกฯ ด้าน เลขาฯ เผย จะเร่งเสนอพิจารณาโดยเร็ว ปัดตอบวินิจฉัยทันก่อนนัดโหวต 27 ก.ค.หรือไม่
วันนี้ (21 ก.ค.) นายพรชัย เทพปัญญา นักวิชาการอิสระ พร้อม นายบุญส่ง ชเลธร อาจารย์คณะนวัตกรรมสังคมมหาวิทยาลัยรังสิต ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การที่ที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 19 ก.ค.มีมติว่าการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาโหวตลงมามติเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเสนอญัตติซ้ำขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อที่ 41 นั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายพรชัย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวตนถือว่าเป็นผู้ที่ถูกกระทบสิทธิโดยตรง เพราะเป็นผู้ที่ไปเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.และเลือก ส.ส.ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตของพรรคก้าวไกล ซึ่งตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยผู้ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดจะสามารถเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลได้
แต่เมื่อมีการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค แล้ว นายพิธา ไม่ได้รับเลือก และเมื่อนัดลงมติใหม่ในวันที่ 19 ก.ค.กลับถูกขัดขวางโดยอ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 โดยอ้างว่า เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ซึ่งตนมองว่ารัฐธรรมนูญกำหนดการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการเฉพาะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 ตราบใดที่กระบวนการเลือกเลือกนายกฯยังไม่เสร็จสิ้น ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีย่อมสามารถถูกเสนอชื่อได้เรื่อยๆ มติดังกล่าวจึงเท่ากับรัฐธรรมนูญถูกละเมิดโดยข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 หรือไม่ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาแล้วขอให้มีคำสั่งให้ที่ประชุมรัฐสภายุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
ทั้งนี้ นายพรชัย ยังเห็นว่า ในหลักการแล้วมติของที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 19 ก.ค. ยังจะมีผลกระทบถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของทุกพรรคนับจากนี้ เพราะแคนดิเนตนายกได้รับการเสนอชื่อจะได้รับการโหวตเพียงครั้งเดียว หากไม่ผ่าน พรรคการเมืองนั้นก็จะไม่สามารถเสนอชื่อให้สมาชิกรัฐสภาโหวตได้อีก
ด้าน นายบุญส่ง กล่าวว่า การยื่นเรื่องครั้งนี้ไม่ได้ เราไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เห็นว่าบ้านเมืองต้องมีกฎกติกาที่ชัดเจน ซึ่งมติที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 19 ก.ค.ยังมีข้อถกเถียงจากหลายฝ่าย หากไม่ทำให้เกิดความชัดเจนในอนาคตก็จะมีการตีความที่แตกต่างกันไปทำให้เกิดความเสียหายกับบ้านเมืองได้ จึงอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยโดยเร็ว
ด้าน พ.ต.ท.กีรป กล่าวว่า เรื่องนี้จากการหารือเบื้องต้นในส่วนของข้อเท็จจริงคือการลงมติของสมาชิกรัฐสภาในวันที่ 19 ก.ค มีข้อมูลครบถ้วนอยู่แล้ว เหลือก็เพียงในส่วนของข้อกฎหมายที่จะต้องพิจารณาโดยเฉพาะตามมาตรา 46 ประกอบมาตรา 48 ของ พ.ร ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องนี้เป็นการกระทำ เป็นการลงมติของสมาชิกรัฐสภาซึ่งต้องพิจารณาว่าเป็นการกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และประเด็นที่สำคัญของการจัดส่งให้ศาลรัฐธรรมนูวินิจฉัยก็คือความเป็นผู้เสียหายซึ่งตามกฎหมายของศาลกำหนดว่า บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรงและได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อันเมื่อมาจากการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพนั้นย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้โดยผ่านกลไกของผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันแต่ถ้าเลยกรอบเวลาดังกล่าวผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ์ก็สามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ อย่างไรก็ตาม ทราบดีว่าเรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน และประธานรัฐสภามีการนัดหมายเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีแล้วทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะพยายามพิจารณาให้เร็วที่สุด
เมื่อถามย้ำว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีคำวินิจฉัยเรื่องนี้ก่อนวันที่ 27 ก.ค.ที่ประธานรัฐสภานัดหมายโหวตนายกรัฐมนตรีรอบ 3 เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดินระบุเพียงว่า เจ้าหน้าที่จะเร่งสรุปเรื่อง และนำเสนอที่ชมพู่ตรวจการพิจารณาโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม หลังนายพรชัยได้ฟังการตอบสื่อของเลขาผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว นายพรชัย ระบุว่า การละเมิดสิทธิของตนหมายความว่า กระบวนกาเลือกนายกฯ ยังไม่สิ้นสุด แต่สมาชิกกับนำข้อบังคับการประชุมรัฐสถาข้อที่ 41 มาละเมิดสิทธิตนและผู้ที่ลงคะแนนเลือกตั้งทั้งประเทศ ซึ่งถ้าที่สุดแล้วผู้ตรวจการแผ่นดินไม่รับคำร้องนี้ไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตนก็คงไม่ไปต่อ เพราะถือว่าได้ทำหน้าที่ของตนเองเสร็จแล้ว คงจะปล่อยให้พรรคการเมืองอื่นดำเนินการกันไป