xs
xsm
sm
md
lg

“คมสัน” ยกเจตนารมณ์ รธน.โหวตนายกฯ ตาม ม.272 เป็นญัตติห้ามเสนอชื่อซ้ำ ป้องกันเล่นแท็กติกโหวตชื่อเดิมจน ส.ว.หมดวาระ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คมสัน” ชี้ เลือกนายกฯ ตาม ม.272 เป็นญัตติ ห้ามเสนอชื่อคนเดิมซ้ำ ไม่เช่นนั้น จะไม่ตรงเจตนารมณ์ให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ เพราะอาจมีการใช้แท็กติกโหวตชื่อคนเดิมไปเรื่อยๆ รอให้ ส.ว.หมดวาระ หรือให้สภาผู้แทนฯ ครบวาระ 4 ปี จน ม.272 ใช้งานไม่ได้ ขณะที่ข้อบังคับประชุมสภา ก็ระบุชัดเจนว่า การเลือกนายกฯ เป็นญัตติ ถ้าคิดว่าไม่ตรงหลักวิชาการก็ต้องไปแก้ไข

วันนี้ (20 ก.ค.) นายคมสัน โพธิ์คง นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์บทความในเฟซบุ๊ก Komsarn Pokong
เรื่อง “การเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติ” มีเนื้อหาในรายละเอียดดังนี้

ข้อบังคับการประชุม คือ กฎที่มีลักษณะพิเศษ เป็นวิธีดำเนินงานของรัฐสภาที่รัฐธรรมนูญกำหนดฐานะให้มีฐานะเป็นกฎที่มีศักดิ์สูงเป็นกฎที่ขยายรายละเอียดของรัฐธรรมนูญซึ่งในรัฐธรรมนูญเขียนรายละเอียดไม่ได้ด้วยข้อจำกัดในหลายประการ เช่นเดียวกับที่ศาลทั้งหลายต้องมีกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความของศาล ป.ป.ช.มีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฝ่ายปกครองมีกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

ผมอ่านกี่รอบก็เห็นว่าเป็น “ญัตติ” ข้อบังคับสภาผู้แทนราษฎรก็เขียนแบบนี้ เหมือนลอกกัน ถ้าไม่เป็นญัตติก็ไม่ต้องเขียนยกเว้น และน่าจะเขียนแบบนี้ “ข้อ ๓๖ ญัตติที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ให้ผู้รับรองแสดงการรับรองโดยวิธียกมือขึ้นพ้นศีรษะ” เขียนแค่นี้แล้วจบเลย เพราะถ้าไม่เป็นก็ไม่ต้องเขียนไว้เลย ในทางวิชาการของฝรั่งบอกอย่างไรก็ตาม แต่ผู้ร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และสภาผู้แทนราษฎร น่าจะมีความเข้าใจว่าเป็นญัตติ และกำลังบอกว่า เป็นญัตติแบบหนึ่ง ที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้า แต่มีวิธีการเสนอตามข้อ ๑๓๖ ไม่เสนอแบบญัตติทั่วไป คือ เป็นญัตติที่มีลักษณะพิเศษ


ส่วนที่จะมีการเสนอให้ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยการลงมติเมื่อวันที่ ๑๙ นั้น อย่างไรก็ตาม การเขียนและลงมติอย่างที่ปรากฏในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ไม่ทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๗๒ เสียหาย เพราะยังเลือกได้อยู่จนกว่าจะหมดบัญชีทุกพรรค ไม่ได้ทำให้เจตนารมณ์เปลี่ยนแปลง ถ้าเกิดการเลือกคนๆ เดียวด้วยเงื่อนไขเดิมตลอดจะทำกี่ครั้งจึงจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา ๒๗๒ ถ้าโหวตกันได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกไปเรื่อยๆ โดยเสนอคนคนเดียว จน ส.ว.ครบวาระ ยิ่งทำให้การเขียนมาตรา ๒๗๒ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์กับที่เขียนให้ ส.ว.เข้าร่วมการการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี แต่จะเป็นการใช้แท็กติกที่จะทำให้รัฐธรรมนูญใช้งานไม่ได้ และวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งถ้าเช่นนั้น มาตรา ๒๗๒ วรรคสองจะเขียนไว้ทำอะไร ถ้าเสนอคนๆ เดียวที่มีมติไม่เห็นชอบได้ตลอดจะลงมติจนครบวาระสภาผู้แทนราษฎร ๔ ปี ก็ทำได้เช่นนั้นหรือ ถ้าเช่นนั้น ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเขียนมาตรา ๒๗๒ วรรคสองไว้ ดังนั้นผมเห็นว่าการลงมติตามมาตรา ๒๗๒ วรรคหนึ่งต้องมีข้อยุติว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ซึ่งมาตรา ๒๗๒ วรรคหนึ่งไม่เขียนไว้ ก็ต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งเมื่อโหวตวันแรกไม่ได้ก็ต้องเข้าเงื่อนไขตามมาตรา ๒๗๒ วรรคสองแล้ว คือเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ คือจึงต้องมีข้อยุติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาซึ่งเป็นวิธีดำเนินงานของรัฐสภาในแต่ละเรื่องไป

โดยหลักของการร่างกฎหมาย มันจะมีหลักการในการร่าง คือ บทบัญญัติหรือข้อกฎหมายต่างๆ มักจะมีลักษณะสำคัญอยู่ ๒ ประการ คือ บทบัญญัติที่เป็นหลักการทั่วไป กับบทบัญญัติที่เป็นหลักการเฉพาะเรื่อง

- หลักการทั่วไปคือ ข้อกำหนดที่ใช้กับเรื่องทุกเรื่องในเรื่องที่ข้อกำหนดในหลักการเฉพาะไม่ได้เขียนไว้เป็นบทที่ใช้ในการดำเนินงานในมาตรฐานเดียวกันของข้อกำหนดเฉพาะในเรื่องต่างๆ และใช้ในการอุดช่องว่างในการใช้การตีความการดำเนินงานของรัฐสภาในเรื่องที่ข้อกำหนดเฉพาะไม่เขียนไว้

- หลักการเฉพาะ คือ ข้อกำหนดที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงที่มีการเขียนวิธีการเอาไว้เป็นการเฉพาะเพื่อเรื่องนั้นโดยตรง

ในประมวลกฎหมายอาญา ก็มีหลักการในลักษณะดังกล่าวเช่นเดีวกันบทหลักการทั่วไปไว้ใน ภาค ๑ บทบัญญัติทั่วไป และกำหนดลักษณะความผิดในภาค ๒ ความผิด ๑๔ ลักษณะ ภาค ๓ ลหุโทษ (ความผิดแบบหนึ่งที่ไม่ต้องการบทเกี่ยวกับเจตนาหรือประมาทในภาค ๑ มาใช้บังคับ ซึ่งผู้ศึกษากฎหมายทั้งหลายนั้น อาจารย์ท่านสอนว่าต้องนำภาค ๑ บททั่วไปมาใช้กับภาค ๒ ความผิดทุกครั้ง หรือใช้ภาค ๓ ลหุโทษ บางเรื่อง (ตามที่กำหนดไว้)

ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ก็มีหลักการลักษณะดังกล่าวเอาไว้เช่นกันแบ่งออกเป็นเนื้อหาออกเป็นหมวดหมู่รวมทั้งสิ้น ๑๓ หมวด คือ

- หมวด ๑ หน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภา รองประธานรัฐสภา และหน้าที่ของเลขาธิการรัฐสภาและรองเลขาธิการรัฐสภา
- หมวด ๒ การประชุมรัฐสภา
- หมวด ๓ กรรมาธิการ
- หมวด ๔ การเสนอและการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
- หมวด ๕ การเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
- หมวด ๖ การให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๔๗ ของรัฐธรรมนูญ
- หมวด ๗ การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาตามมาตรา ๑๗๘ ของรัฐธรรมนูญ
- หมวด ๘ การเสนอและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
- หมวด ๙ การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี
- หมวด ๑๐ การแถลงนโยบาย
- หมวด ๑๑ การเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา ๑๕๕
- หมวด ๑๒ การรักษาระเบียบเรียบร้อย
- หมวด ๑๓ บทสุดท้าย

โดยจะเห็นได้ว่า ข้อกำหนดที่มีลักษณะทั่วไปเป็นหลักและนำไปใช้กับทุกหมวด คือ หมวด ๒ การประชุมสภา ซึ่งรวมถึงการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีตามหมวด ๙ ด้วย ในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม มีการนำวิธีการประชุมในหมวด ๒ ส่วนที่ ๑ วิธีการประชุม ข้อ ๑๓-ข้อ ๑๘ และส่วนที่ ๓ การอภิปราย ข้อ ๔๒-ข้อ ๕๓ และส่วนที่ ๓ ข้อ ๕๔-ข้อ ๖๒ มาใช้ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าในการประชุมมีการอภิปราย หรือการประท้วง หรือการหาปรึกษาหารือ โดยเอาวิธีการในหมวด ๒ วิธีการประชุม มาใช้ตลอดเวลา และในการประชุมก็มีการเสนอญัตติตลอดเวลาซึ่งเป็นการใช้หมวด๒ ส่วนที่ ๒ การเสนอญัตติ มาใช้ด้วย จึงต้องตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงบอกกันว่า นำข้อ ๔๑ ที่บอกว่า ญัตติใดซึ่งตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติซึ่งยังไม่มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่า เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปไม่นำมาใช้กับเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีในเมื่อการประชุมที่ผ่านมาใช้หมวด ๒ การประชุมสภา มาใช้เกือบทั้งหมด เว้นแต่เรื่องที่กำหนดไว้โดยเฉพาะในหมวด ๙ เช่นการเสนอชื่อตามข้อ ๑๓๖ ซึ่งใช้จำนวนสมาชิกในการรับรองและวิธีการลงมติมาใช้เป็นการเฉพาะซึ่งเป็นเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๗๒ แต่ในช่วงการประชุมใช้หมวด ๒ การประชุมสภา มาทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการเสนอญัตติทั้งหลายด้วย


เพราะเหตุใดจึงบอกว่าอ่านทีไรก็เห็นเป็น “ญัตติ” ถ้ามาพิจารณาตามข้อ ๓๖ ก็จะเห็นว่า การรับรองการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามข้อ ๑๓๖ นั้นคือการกำหนดว่า การรับรองรายชื่อที่เสนอไม่ใช้วิธีการยกมือพ้นศีรษะที่เป็นการเสนอญัตติทั่วไปที่ต้องการเสียงรับรองจำนวน ๑๐ คนตามข้อ ๒๙ แต่ให้ใช้จำนวนสมาชิกตามข้อ ๑๓๖ ซึ่งเขียนเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญเอาไว้ ซึ่งต้องได้รับเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๑ใน ๕ คือ ๕๐ เสียง ส่วนวิธีการประชุม การอภิปราย และการลงมติ ในหมวด ๒ การประชุมสภามาตลอด ข้อ ๓๖ หากแปลความแล้ว ก็อาจแปลได้ว่า การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องทำเป็น “ญัตติ” ใช้วิธีการยกมือพ้นศีรษะแต่ใช้จำนวนสมาชิกตามที่กำหนดในข้อ ๑๓๖ ซึ่งเราก็จะเห็นว่าการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อวันที่ ๑๓ และวันที่ ๑๙ นั้น นายชลน่าน ศรีแก้ว และนายสุทิน คลังแสง ก็เสนอชื่อและขอผู้รับรองมีการยกมือพ้นศีรษะ แต่ต้องมีจำนวนตามข้อ ๑๓๖ ซึ่งหมายความว่าใช้ข้อ ๑๓๖ ประกอบกับข้อ ๓๖ ด้วย


ดังนั้น หากเราอ่านข้อ ๓๖ และข้อ ๑๓๖ ก็จะเข้าใจได้ว่า มันคือ “ญัตติ” (ไม่ใช่แป้ง) เพียงแต่มีจำนวนสมาชิกผู้รับรองตามจำนวนในข้อ ๑๓๖ และรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๒ ถ้าจะกล่าวไปและตีความตามเจตนารมณ์ของข้อบังคับและผู้ร่างข้อบังคับรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร ก็คือ ผู้ร่างข้อบังคับการประชุมเข้าใจว่าเป็น “ญัตติ” แต่น่าจะเข้าใจไม่ตรงกับที่มีนักวิชาการเห็นว่าในทางวิชาการที่เห็นว่า “การเสนอชื่อ” ไม่ใช่ “ญัตติ” ตามหลักวิชาการในประเทศตะวันตก

รัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมกำหนดไว้อย่างเมื่อบังคับใช้แล้ว ก็มีฐานะเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้การดำเนินงานของรัฐสภา มีกำหนดไว้แล้วถึงแม้ไม่ตรงหลักวิชาการที่มีผู้เข้าใจกัน ก็ต้องไปเสนอให้แก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้องตามหลักวิชา การไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และการลงมติการตีความข้อบังคับข้อ ๑๕๑ ว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะ “ญัตติ” ไม่สามารถไปล้มล้างรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๒ ได้ คงต้องพิจารณาและแสดงเจตนารมณ์และหลักการตามข้อ ๓๖ ข้อ ๔๑ ข้อ ๖๑ และข้อ ๑๓๖ ว่าใช้อย่างไร รัฐสภาตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ผิดหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗๒ อย่างไร และมาตรา ๒๗๒ วรรคสองจะใช้เมื่อใด การที่ผู้ถูกเสนอชื่อไม่ผ่านความเห็นชอบในรอบแรกต้องลงคะแนนอีกกี่ครั้งจึงจะพอ และเมื่อบุคคลนั้นไม่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งรัฐบาลได้ ธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองที่ผ่านมาก็ต้องให้พรรคอื่นมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลบ้างถ้าเขารวมเสียงได้ครบจำนวนตามรัฐธรรมนูญ จะตีความผูกขาผู้นั้นไปเรื่อยๆ เช่นนั้นหรือ และผู้ได้รับการเสนอชื่อคนอื่นจะได้รับการพิจารณาเมื่อไหร่ และลงคะแนนให้ผู้นั้นอีกกี่ครั้งที่จะเข้าเงื่อนไขที่ว่า ไม่สามารถคัดเลือกได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ

(ผมไม่เห็นด้วยกับหลักการตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ หลายเรื่อง และออกเสียงในการลงประชามติว่าไม่รับ แต่ต้องเคารพว่ากฎหมายถ้าใช้บังคับแล้วยังไม่ยกเลิกก็เป็นกฎหมายอยู่ ถึงแม้จะไม่ตรงกับหลักวิชาการก็ตาม)


กำลังโหลดความคิดเห็น