xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เกี่ยวแล้วหนึ่ง! ภูมิธรรมชี้ท่าทีพิธาขอโหวตอีกรอบ ไม่ใช่มติ 8 พรรคร่วม แก้มาตรา 272 ก็อยู่นอกเอ็มโอยู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้ท่าทีพิธา หัวหน้าก้าวไกล ขอโหวตนายกฯ อีกรอบนั้นไม่เกี่ยวข้อง หนำซ้ำแก้ไขมาตรา 272 อยู่นอกเอ็มโอยู และจะทำให้การเลือกนายกฯ ยืดเยื้อไปเรื่อยๆ ทั้งที่ประเทศชาติรอไม่ได้ ภาคธุรกิจต้องการความชัดเจน แนะจัดลำดับความสำคัญให้ถูก

วันนี้ (16 ก.ค.) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์แก่นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส ถึงกรณีการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกรัฐสภา หลังนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศว่าในวันที่ 19 ก.ค.จะมีการเสนอชื่อตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หากไม่ได้บรรลุตามเป้าหมายพร้อมจะถอยให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลพร้อมกับ 8 พรรคร่วมนั้น ระบุว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่มีแผน และยังงงกับการแถลงของนายพิธา ซึ่งในการแถลงของนายพิธาครั้งนี้ยังมีความคลาดเคลื่อน

ทั้งนี้ จากที่คุยกันเมื่อเย็นวันศุกร์ (14 ก.ค.) ที่ผ่านมา ตัวแทนของสองพรรคได้พบกัน โดยพรรคก้าวไกลมีนายชัยธวัช ตุลาธน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล และนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส่วนพรรคเพื่อไทยมีตน มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง หารือกันว่าจะไปยังไงต่อ ตั้งแต่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต่างฝ่ายต่างมึน ฝ่ายพรรคก้าวไกลกล่าวว่าจะเปิดประเด็นมาตรา 272 เข้าสภาฯ ก่อนเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้นำเข้าไปแล้วแต่ไม่ทัน เพราะพรรคก้าวไกลเสนอให้แก้ไขมาตรา 272 วันที่ 19 ก.ค. และโหวตเลือกนายกฯ วันที่ 21 ก.ค. แต่พรรคตนไม่เห็นด้วย เพราะเรื่องการโหวตเลือกนายกฯ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและต้องคุยกันเพื่อหาทางออกให้จบ เพราะปัญหาของประเทศต้องการมีรัฐบาล

"เราไม่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไขมาตรา 272 เพราะเป็นประเด็นอยู่นอกเหนือเอ็มโอยู ที่เขียนไม่มีประเด็นนี้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ประเด็นที่ออกมาพูด ประเด็นที่สอง มาตรา 272 ยังไม่จัดตั้งรัฐบาล ไม่มีฝ่ายค้านตามกฎหมาย การเสนอแก้ไขมาตรา 272 จะต้องมีเสียงสนับสนุนจากฝ่ายค้าน 20% และ ส.ว. 86 คน หรือ 1 ใน 3 หากเป็นเช่นนี้การแก้ไขมาตรา 272 จะยืดไปเรื่อยๆ ยังไม่ถึงเวลา เพราะฉะนั้นพรรคก้าวไกลต้องอยู่สองสมรภูมิรบตามที่นายพิธาพูด ต้องประสบความสำเร็จจนเห็นว่าไม่มีทางแล้ว ฉะนั้นมีคำถามที่ต้องตอบว่า แค่ไหนถึงหมดหนทางแล้ว ตัวเลขที่ออกมาเพียงพอไหม หรือหาที่ไหนอีก ทั้งสองกรณี"

นายภูมิธรรมกล่าวว่า เสียงสนับสนุนทั้งสองกรณี อย่างการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เรายืนยันที่ 312 เสียง ได้เสียง ส.ว.อีก 12 เสียง เป็น 324 เสียง ตอนที่คุยกันพรรคก้าวไกลกล่าวว่าเสียงสนับสนุนเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่ว่านายพิธา น.ส.ศิริกัญญา หรือนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พูดทุกสนามทุกเวที บางทีนายวิโรจน์กล่าวว่าได้ 100 เสียงแล้ว พอผลออกมาแค่ 12 เสียงก็มีคำถามว่า แล้วมันผิดพลาดตรงไหน แล้วจะมีโอกาสต่อไปหรือไม่ ฟังการอภิปรายจาก ส.ว. และพรรคร่วมรัฐบาลเดิมทุกคนแล้ว ยังไม่เห็นทีท่าว่าเราจะโน้มน้าวได้อย่างไรว่าจะมา ถ้าจะเปลี่ยนเอา ส.ส. หรือ ส.ว.ให้ได้เพิ่มจะมาจากไหน เพราะฉะนั้นตัวเลขรูปธรรมที่ออกมา ถามต่อว่านายพิธาเลื่อนต่อไปได้อย่างไร เพราะเวลานี้ไม่ใช่วาระปกติ แต่เป็นวาระที่กำลังต้องการมีรัฐบาลที่เร่งด่วนโดยเร็ว ฝ่ายธุรกิจต้องการความชัดเจน รัฐบาลอะไรก็ได้ด้วยซ้ำ ประเทศจะได้มีทางแก้ เพราะตอนนี้อยู่ในช่วงไฮซีซัน ประชาชนก็ทุกข์มา 9 ปีแล้วของลุง (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ก็อยากเปลี่ยนแปลง

เพราะฉะนั้นหากจัดตั้งรัฐบาลไปเรื่อยๆ โหวตไปเรื่อยๆ หรือลากยาวไปถึง พ.ค. 2567 ที่ ส.ว.หมดอำนาจ ประเทศรอถึงขนาดนั้นไม่ได้ พรรคก้าวไกลต้องยืน เพราะเราเอาประชาชนและประเทศเป็นตัวตั้ง จึงเสนอให้พรรคก้าวไกลและนายพิธาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน โดยเอาปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่เป็นตัวตั้ง การเสนอแก้มาตรา 272 ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเสียง ส.ว. 64 เสียงยังหาไม่ได้ แล้ว 86 เสียงมาจากไหน แก้ไม่ได้ พรรคเพื่อไทยเคยเสนอปิดสวิตช์ ส.ว.ผ่านรัฐสภามาแล้ว 2 ครั้ง ก็ไม่ผ่าน เรารู้ว่ากลไกแบบนี้เป็นไปไม่ได้ การเสนอของพรรคก้าวไกลไม่เห็นผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นได้ ก็มีคำถามว่าการเสนอขึ้นไปอีกมีเป้าประสงค์อย่างไร ที่เห็นก็เรื่องการเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่าต่อสู้ให้ถึงที่สุด คิดว่าประชาชนเข้าใจอยู่แล้ว จะบอกว่า ส.ว.เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาประชาธิปไตยของประเทศ ก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่เห็นต่างกัน ยังไงเขาก็ไม่โหวต

ก่อนหน้านี้เราพูดไม่ได้เพราะเรายังไม่ทราบว่าเป็นยังไง แต่พอตัวเลขออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน พรรคไหนคิดยังไง เห็นได้ชัดเจน เพราะฉะนั้นตรงนี้เราต้องยอมถอยนั่งดูของจริงที่เกิดขึ้น แล้วดูว่าเพื่อให้ประเทศมีรัฐบาลโดยเร็ว ไม่ใช่การไปแถลงว่าเราจะสู้กับประชาชนถึงที่สุด แต่ต้องแถลงว่ามันจะออกมาอย่างไรในความเป็นจริงนี้ แล้วสิ่งที่เราคุยกับพรรคก้าวไกล ตัวแทนก็เห็นว่ารับฟังความเห็นเรา แล้วเขาก็บอกว่าเขายังอยากจะสู้ต่อ ตนก็บอกว่าความแตกต่างชัดเจน เคารพความคิดเห็นของตัวเองและของอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าอย่างนั้นจะเอาสองส่วนนี้ไปคุยกับพรรคตัวเอง ถ้าเกิดว่าทั้งสองพรรคคุยกันแล้วมีข้อสรุปที่ชัดเจน ก็ต่อสายคุยกันได้เลย ซึ่งวันที่ 18 ก.ค.ที่รัฐสภาจะมีการหารือกับ 8 พรรค เพื่อดูว่าเราได้รวบรวมปัญหา ติดค้างอยู่ที่ประเด็นนี้ในสายตาของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้มองสถานการณ์จริงของรัฐสภาและประเมินอย่างไร จะรับฟังตรงนี้แล้วหารือกันระหว่างสองพรรคอีกครั้ง

"การแถลงของนายพิธา เป็นการแถลงของพรรคก้าวไกลได้ แต่ไม่ผูกมัดพรรคอื่นๆ และไม่เป็นไปตามเอ็มโอยูที่เราคุยด้วย เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเป็นการแถลงของนายพิธาส่วนตัวที่ประสบความไม่สำเร็จในการเสนอตัวในรัฐสภาแล้วแสดงความเห็นออกมา แต่ไม่ใช่ข้อผูกมัดของ 8 พรรคการเมืองที่จะคุยกัน ผมคิดว่ามันอาจจะออกมาอย่างนั้นก็ได้ หรือไม่ได้ แต่ว่ามันต้องคุยกัน แล้วขณะนี้ความเห็นยังแตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ข้อสรุปของ 8 พรรค วันอังคาร (18 ก.ค.) ผมยังไม่แน่ใจเลยว่าจะปรากฏ แต่ว่าต้องได้ เพราะจะเข้าประชุมวันที่ 19 ก.ค. ตรงนี้คิดว่าที่ผมยังมึนก็ยังมึนตรงนี้ มันมายังไง"

นายภูมิธรรมยังกล่าวอีกว่า ที่นายพิธาแถลงยังไม่มีข้อตกลง ยังเป็นเรื่องที่จะต้องไปหารือต่อ ด้วยความเห็นสองพรรคก็แตกต่างกันมาก ยังไม่เห็นด้วยกับการที่จะใช้การแก้ไขมาตรา 272 ในวาระเวลาแบบนี้ เวลานี้ต้องไปคิดว่าทำอย่างไรถึงจะตั้งรัฐบาลได้ อีกอย่าง การเสนอให้แก้ไขมาตรา 272 เข้าสภาฯ มันไม่จบภายในช่วงเวลาเดียวขนาดนี้ มันไม่ใช่เวลาสั้นๆ อย่างน้อยต้องยืดต่อไปอีกเป็นเดือน สองเดือน อย่างน้อย 30-60 วัน กว่าจะจบ ตรงนั้นยังยืดเวลาที่จะไม่มีรัฐบาลไปอีก ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะประเทศต้องมีรัฐบาล เพราะฉะนั้นอนาคตในมือนายพิธาไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่อนาคตของประเทศชาติอยู่ในมือนายพิธาและพรรคก้าวไกล ต้องคิดไตร่ตรองตรงนี้ให้ดี

ทั้งนี้ ยอมรับว่ามาตรา 272 ไม่ได้อยู่ในนโยบายที่ประกาศ ไม่ได้อยู่ในเอ็มโอยู พรรคเพื่อไทยและอีกหลายพรรคเสนอว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องแก้เป็นระบบ ไม่ได้แก้รายมาตรา และการแก้ในระบบจะเร็วมากถ้ามีรัฐบาล มติ ครม.นัดแรกสามารถออกมติให้ไปทำประชามติโดยให้เลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นมติแรกได้เลย และเป็นไปตามข้อกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ไว้ ซึ่งมีผลผูกพันกับทุกองค์กร การแก้ทั้งระบบที่มี ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญ วางเป้าได้เลยจะเสร็จโดยเร็ว ไม่เกิน 1-2 ปี สามารถทำได้เพราะทุกอย่างอยู่ในมือเราหมดแล้ว ยังไงภารกิจแรกต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ เป็นการแก้เชิงโครงสร้างทางการเมือง เพื่อให้ทุกอย่างคลี่คลายลง ปัญหาที่เราเจอก็หมดหายไปด้วย รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประชาชนมีส่วนร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น ตรงนี้เป็นภารกิจสำคัญ

"การหยิบมาตรา 272 ซึ่งอยู่นอกเอ็มโอยู ไม่ใช่การแก้ไขทั้งระบบอย่างที่เราหาเสียงไว้ มันก็อาจจะทำให้ถูกแปรเจตนาไปได้ว่า กำลังจะยืดเวลาตรงนี้ออกไป ซึ่งอย่างน้อย 60 วันหรือมากกว่านั้น ประเทศมันรอไม่ได้ วันนี้พรรคก้าวไกลกับนายพิธาอาจจะต้องยอมเสียสละ คิดให้กว้างขวางขึ้น แล้วดูว่าประเทศชาติจะมีทางออกอย่างไร เศรษฐกิจที่กำลังล้มเหลวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีอยู่ปัจจุบัน มันรอให้เราไม่มีรัฐบาลที่ชัดเจน แล้วให้คุณลุง (พล.อ.ประยุทธ์) อยู่ไปเรื่อยๆ จนถึง พ.ค. ปีหน้าก็ยังไม่ไหว เพราะฉะนั้นอันนี้ไม่ได้ ข้อเสนอแบบนี้แล้วสรุปแบบนี้ มันไม่ใช่ข้อสรุปของพรรคร่วม และผมว่าพรรคเพื่อไทยยืนที่จะให้พิจารณาในประเด็นใหม่ จัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง เอาวาระของประชาชนกับวาระของประเทศมาพิจารณาเป็นเรื่องหลัก ไม่ใช่เอาเรื่องของนายพิธากับพรรคก้าวไกลเป็นวาระหลัก คิดว่าต้องเคลียร์กันให้ชัดเจนว่า เข้าใจตรงกันหรือไม่อย่างไร แต่ถ้าเข้าใจตรงกันแล้วจะเดินหน้าไป เราก็ไม่มีปัญหาอะไร"

นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า ถ้าสมมติว่าครั้งที่สองยื่นให้ไม่มีใครแข่ง พรรคเพื่อไทยรักษาสัญญาโหวตให้ แต่ถ้าคะแนนออกมาไม่ต่างไปจากเดิม ก็ต้องหยุดได้แล้ว อันนี้ถึงที่สุดแล้ว สุดความสามารถที่เราเห็นแล้ว ตนเอาผลเป็นเรื่องหลัก เพราะมีเวลา 9 วัน ทำออกมาแล้วไม่ได้มีผลแตกต่าง ตนกล่าวในที่ประชุมว่า ถ้าผลออกมา 350 เสียงขึ้นไป หรือ 370 เสียง ตนยินดี ถือว่ายังมีโอกาส ยังพูดคุยกันได้อยู่ ถ้าครั้งที่แล้ว 350 งวดนี้เอาเลย งวดนี้ 370 ครั้งที่สามก็ยังได้ แต่ว่าถ้าออกมาแบบนี้ ตนยังไม่เห็นหนทาง ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ได้คิดว่าเป็นพรรคที่สอง อยากได้ตำแหน่งมาจัดตั้งรัฐบาล เราหนุนนายพิธาเต็มที่ แต่ผลที่ออกมากับการแสดงกิจกรรมที่เห็นในรัฐสภา มันชัดเจนว่ามันไปยาก ต้องยอมรับความจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น