xs
xsm
sm
md
lg

“ขั้วใหม่” พท.ฟัดก้าวไกล ด้อมมึนทำใจไม่ได้ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ประสานมือเป็นรูปหัวใจ
เมืองไทย 360 องศา


ในที่สุดการเมืองก็กำลังเข้าสู่ “โหมดความเป็นจริงใหม่” ในแบบที่หลายคนคาดไม่ถึงว่าจะออกมาแบบนี้ นั่นคือ “ขั้วใหม่” ที่มีพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ ขณะที่อีกขั้วหนึ่งก็มีพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำ โดยที่ระบอบ “สอง ป.” หรือว่า “สาม ป.” กำลังถูกกระแสเบียดให้ต้องค่อยลดบทบาทลง จนหายไปในที่สุด


ขณะเดียวกัน ด้วยสภาพการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แบบ “หักมุม” แบบนี้ บางครั้งทำให้บรรดา “ด้อม” หรือ “ติ่ง” หรือว่าแฟนคลับ จะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ ยังปรับตัวไม่ทัน หรือที่เรียกว่า “ทำใจไม่ได้” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแม้แต่บรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยบางคนที่เป็น “นักคอมเมนต์หน้าจอ” ยังต้อง “ตีอกชกหัว” ที่สมการการเมืองพลิกออกมาแบบนี้ เพราะสิ่งที่ตัวเองเคยฝันหวานเอาไว้ มันไม่ได้เป็นไปอย่างที่เขาอยากให้เป็น

แน่นอนว่า เวลานี้หลายคนกำลังรอว่าจะมีการกำหนดการจากประธานรัฐสภา คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่า จะนัดประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งใหม่ ในวันที่เท่าไหร่ รวมไปถึงการจับตามองว่า นอกเหนือจากพรรคพลังประชารัฐแล้ว จะมีพรรครวมไทยสร้างชาติ เข้ามาร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำหรือไม่ รวมไปถึงกำลังจับตามองกันว่า หน้าตาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จะเป็นอย่างไร พรรคไหนจะได้โควตากระทรวงใดบ้าง

อย่างไรก็ดี หากวกกลับมาที่ “ขั้วใหม่” ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำนั้น เชื่อว่า หลายคนยังคาดไม่ถึง ยัง “โลกสวย” อยู่กับวาทกรรมที่ว่า “รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย” เพื่อไทยต้องจับมือเหนียวแน่นกับพรรคก้าวไกลต่อไป เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ปิดสวิตช์ 3ป. อะไรประมาณนั้น ซึ่งในตอนแรก พรรคเพื่อไทยก็ “เล่นตามน้ำ” อุตส่าห์ไปลงนามเอ็มโอยู ผนึกกำลังกับพรรคก้าวไกล มีการทำสัญลักษณ์เป็นรูปหัวใจระหว่าง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมกับแกนนำทั้ง 8 พรรค ในช่วงแรกๆ

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็ “ถือมีด” ซ่อนอยู่ข้างหลังกันคนละเล่ม เพราะอย่างที่เห็นก็คือ หลังจากทราบผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม เป็นต้นมาแล้ว วันที่พรรคเพื่อไทยรู้ว่า “พ่ายแพ้” การเลือกตั้งให้กับพรรคก้าวไกล กลายมาเป็นพรรคอันดับสอง และเป็นการพ่ายแพ้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2544 เป็นต้นมา รวมไปถึง นี่คือ การพ่ายแพ้ครั้งแรกของ “พี่โทนี่” นายทักษิณ ชินวัตร ที่แพ้แม้กระทั่งที่ จ.เชียงใหม่ บ้านเกิดของตัวเอง และภาคเหนืออีกหลายจังหวัด

ความเป็นคู่แข่ง หรือ “ฝ่ายตรงข้าม” ในทางการเมืองก็เริ่มขึ้นอย่างจริงจังนับจากวันนั้น นั่นคือ พรรคเพื่อไทยอยู่คนละข้างกับพรรคก้าวไกล หรือ “คนละขั้ว” กันนั่นเอง ไม่ใช่ “สาม ป.” เพราะไม่ว่าบรรดา “ลุง” จะยอมถอยหรือไม่ ทุกอย่างมันก็ต้องบีบให้ต้องถอยอยู่แล้ว เรียกว่า หมดเวลาแล้วก็ได้

ก่อนหน้านี้ หลังทราบผลการเลือกตั้ง ว่า พรรคก้าวไกลมี ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 151 ที่นั่ง ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้ 141 ที่นั่ง ทำให้ก้าวไกล ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคอันดับสอง ก็ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลแข่งเหมือนกับในต่างประเทศ หรือการเมืองไทยในอดีตที่ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 ที่ตอนนั้นเพื่อไทยได้เป็นอันดับหนึ่ง แต่ต้องพ่ายแพ้กับพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากมีกติกา ส.ว.หรือมี “พรรค ส.ว.” 250 คอยหนุนช่วยก็ว่ากันไป และในตอนนั้นก็มีการเน้นย้ำในวาทกรรมเรื่อง “สืบทอดอำนาจ” และ “ฝ่ายประชาธิปไตย” อย่างเข้มข้น จนมีการแบ่งขั้วการเมืองกันอย่างชัดเจน นั่นคือ พรรคเพื่อไทย ไปจับมือกับก้าวไกล กันอย่างเข้มข้น ในตอนแรก แต่ในระยะหลังในช่วงสภาใกล้ครบวาระ ด้วยบทบาทในสภาทำให้พรรคก้าวไกล เริ่มมีบทบาทเด่นขึ้นมาเรื่อยๆ จนบางครั้งแทบจะกลบพรรคเพื่อไทยจนมิดเลยทีเดียว

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยก็เริ่มรู้ตัวแล้วว่าภัยคุกคามต่ออนาคตทางการเมืองของพวกเขาแท้จริงแล้ว ก็คือ พรรคก้าวไกล นั่นเอง แต่ด้วย “กับดัก” ที่ตัวเองมีส่วนในการก่อขึ้นมาทำให้ตัวเอง “ไม่กล้า” ขยับออกห่างพรรคก้าวไกล ก็ด้วยคำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” หรือคำว่า “สืบทอดอำนาจ” นั่นแหละ

ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยสำคัญนอกเหนือจากนั้น ก็คือ หากเชื่อว่า นายทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของพรรคแล้วละก็ มันก็ย่อมเชื่อมโยงไปถึงเรื่องความคิดในเรื่อง “กลับบ้าน” อีกด้วย ทุกอย่างมันก็เหมือนการ “เก็บกด” เอาไว้ ไม่กล้าแสดงออกมาให้เห็น

ขณะในฝั่งพรรคก้าวไกลนั้น หลังจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ถูกตัดสิทธิการเมือง 10 ปี และยุบพรรคอนาคตใหม่ จนต้องหาตัวแทน และก็ “ส้มหล่น” มาถึง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค ก็สามารถสร้างกระแส “ด้อมส้ม” ได้ดีเกินคาด

จะด้วยบุคลิกดี หน้าตาดี ภูมิหลังทางการศึกษาดี อยู่ในวัยหนุ่มทุกอย่างดูภายนอกเผินๆ มันก็โอเคถูกจริตกับคนรุ่นใหม่ ประกอบกับกระแส “เบื่อลุง” ที่อยู่มานานกว่า 9 ปี ทุกอย่างมันก็เข้าทาง และทำท่าว่า นายพิธา กำลัง “ฟีเวอร์” และด้วยกระแสแรงแบบนี้ ตามธรรมชาติมันก็น่าจะ “แบเบอร์” ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในตอนแรกเจ้าตัวก็คงเชื่อเช่นนั้นเหมือนกัน ถึงได้เดินสาย และใช้คำเรียกตัวเองว่า “ว่าที่นายกฯ” ตลอดเวลา

ประกอบกับ การ “มัดเพื่อไทย” ด้วยเอ็มโอยู “ฝ่ายประชาธิปไตย” มันก็กลายเป็นพรรคเพื่อไทย ต้องเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับก้าวไกล รวมทั้งหมด 8 พรรค มี 312 เสียง เรียกอย่างเท่ว่า “รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย” ทำให้ฝ่ายบรรดา “ด้อม” หรือ ติ่งทั้งหลายส่งเสียงกรี๊ดกันสนั่น ไม่เว้นแม้กระทั่งบรรดาอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัย ที่ส่งเสียงเชียร์ทั้งในโซเชียลฯ และไปออกรายงานวิเคราะห์ข่าว ทำนองว่า ก้าวไกลต้องจับมือกับเพื่อไทย เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ปิดสวิตช์ สาม ป. อะไรประมาณนี้

อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวที่ว่านั้นมัน “ผิดธรรมชาติ” ทั้งสองพรรค นั่นคือ ทั้งก้าวไกล และเพื่อไทย โดยเฉพาะเพื่อไทย ที่เวลานี้มองก้าวไกลเป็น “คู่แข่ง” ไม่มีทางที่ไปเป็น “นั่งร้าน” ให้กับก้าวไกล เป็นอันขาด อีกทั้งในเมื่อ “โทนี่” นายทักษิณ ชินวัตร อยากกลับบ้าน มันก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น มีทางเดียวก็ต้องเป็น “แกนนำ” รัฐบาลเท่านั้น เพียงแต่ว่าอาจต้องกระมิดกระเมี้ยน ค่อยๆ เผยออกมาทีละนิด อย่างน้อยก็คงเกรงใจบรรดา “ด้อม-ติ่ง” ทั้งหลายที่ยังปรับตัวไม่ทัน ยังคิดว่าทั้งสองพรรคต้องผนึกกำลังกันจัดตั้งรัฐบาลกันให้ได้ แต่นั่นมันเป็นแค่มโนในความฝันเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นไปไม่ได้

เพราะทั้งสองพรรค คือ เพื่อไทย กับก้าวไกล นับจากนี้ไปจะกลายเป็น “คู่แข่ง” อย่างชัดเจนแล้ว โดยเพื่อไทยจะกลายเป็น “ขั้วใหม่” ส่วนจะเรียกแบบไหนว่า เป็น “อนุรักษ์ใหม่” หรืออะไรก็แล้วแต่ ขณะที่อีกขั้วหนึ่งมี “ก้าวไกลเป็นแกน” และจะสู้กันทั้งในสภา และในสนามเลือกตั้ง ที่จะมาถึง ดังนั้น นาทีนี้ไม่ต้องถามว่ารัฐบาลผสมเพื่อไทยจะมีพรรคสองลุง คือ พลังประชารัฐ และ รวมไทยสร้างชาติ ร่วมหรือไม่ เพราะทุกอย่างมันชัดเจนแล้ว ขณะเดียวกัน มันก็น่าเห็นใจบรรดา “ด้อมๆ” ทั้งหลาย ที่ยังยืนงง และทำใจไม่ได้ ให้รีบตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกเดินไปทางไหน แดง หรือส้ม เพราะอีกไม่นานจะลุยในสนามการเมืองกันแล้ว !!


กำลังโหลดความคิดเห็น