xs
xsm
sm
md
lg

พรรคตกต่ำ : ปัญหาที่ผู้นำปชป.คนใหม่ต้องแก้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง


จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
ในการเลือกตั้งทั่วไป ส.ส.เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ และอยู่ในฐานะที่เรียกได้ว่าเป็นสถาบันการเมืองของประเทศไทย ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยที่พรรคนี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ดังต่อไปนี้

1. เป็นพรรคการเมืองที่มีอายุการจัดตั้งยาวนานถึง 77 ปี และมีอุดมการณ์ชัดเจนเป็นรูปธรรมในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการ และการปราบการทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคแรกๆ แต่ต่อมาดูเหมือนจะย่อหย่อนไปบ้างเมื่อเทียบกับยุคแรกๆ

2. เป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่ไม่มีคนคนเดียวหรือกลุ่มเดียวเป็นเจ้าของพรรค แต่ทุกคนที่เข้ามาสังกัดพรรคนี้เป็นเจ้าของ จึงสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ทั้งในส่วนของพรรคและระดับประเทศได้อย่างเสรี ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

แต่ในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้เข้าร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และไม่มีผลงานโดดเด่น ทั้งยังตกเป็นจำเลยสังคมในข้อหาความไม่โปร่งใส เช่น ในกรณีหมูแพง และการจัดซื้อใน อคส. เป็นต้น จึงทำให้ ปชป.ตกต่ำในสายตาประชาชน และนี่เองที่เป็นเหตุให้ ปชป.แพ้การเลือกตั้งใน กทม.และที่น่าเศร้าคือ แพ้ในภาคใต้ของ ปชป.มายาวนาน

แต่อย่างไรก็ตาม จากผลการเลือกตั้งในครั้งที่เพิ่งผ่านมา ทำให้หัวหน้าพรรคแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เข้ามารับผิดชอบในการกอบกู้พรรคต่อไป ซึ่งเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีของพรรคนี้

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่ปรากฏว่ามีเหตุให้ต้องเลื่อนออกไป ส่วนจะมีการประชุมอีกครั้งเมื่อใด ยังไม่มีกำหนด แต่คาดว่าน่าจะมีการประชุมในเร็วๆ นี้ และคงจะได้ผู้นำพรรคคนใหม่ก่อนมีการจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน

ทั้งนี้อนุมานจากการที่ ปชป.จะต้องกำหนดทิศทางการเมืองของพรรคว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นจากพลิกขั้วทางการเมืองในกรณีที่พรรคก้าวไกลไปไม่ถึงฝัน และพรรคเพื่อไทยกลายเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ดังนั้น กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของ ปชป.จะต้องตัดสินใจให้แน่นอนว่า จะเป็นฝ่ายค้านหรือเป็นฝ่ายรัฐบาล ทั้งนี้ เนื่องจากว่าทิศทางทางการเมือง ปชป.ในอนาคตขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในปัจจุบัน โดยยึดหลักที่ว่า 

“ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของอดีต ในขณะเดียวกัน ปัจจุบันคือประวัติศาสตร์ในอนาคต” พูดง่ายๆ ว่า เราเปลี่ยนแปลงอดีตไม่ได้ แต่เราแก้ไขอนาคตได้ โดยการทำให้ถูกต้องในปัจจุบัน

ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ในฐานะที่เป็นแฟนคลับของ ปชป.มาตลอด อยากเห็น ปชป.ยึดมั่นในอุดมการณ์ในการก่อตั้งพรรค และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองให้สอดคล้องกับปัจจุบัน และต่อเนื่องไปถึงอนาคต อย่าเห็นเพียงแค่ประโยชน์ที่พึงมี พึงได้ในปัจจุบัน แต่ส่งผลเสียต่ออนาคต ดังเช่นที่ ปชป.ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเผด็จการสืบทอดอำนาจ ซึ่งเป็นผลเสียต่อการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ดังนั้น ผู้นำ ปชป.คนใหม่จะต้องแก้ปัญหาการแตกแยกภายในพรรค และจะต้องมีวิสัยทัศน์ในทิศทางการเมืองที่เหมาะที่ควรกับ ปชป.ในอนาคตด้วย

ด้วยเหตุนี้ในการเลือกผู้นำจะต้องคำนึงถึงการเมืองในอนาคต ซึ่งมีคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ผู้นำนอกจากเป็นคนเก่ง คนดีแล้วจะต้องเป็นคนที่คนในพรรคเข้าหาและพึ่งพาได้ ทั้งในส่วนของความคิด และเงินทองเท่าที่จำเป็นในระดับที่ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้ให้ และจะต้องไม่สร้างนิสัยเห็นแก่ตัวในด้านผู้รับด้วย

สุดท้ายขอฝากข้อคิดจากวาทกรรมของผู้นำจีนว่า “พรรคการเมืองเป็นปลา ประชาชนเป็นน้ำ” ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่า ถ้าประชาชนไม่เห็นกับนโยบาย และการดำเนินงานของพรรคการเมือง พรรคก็อยู่ไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น