บช.น.ซุ่มถกแผน รปภ. “วีไอพี” คาดเตรียมรับ “ทักษิณ” กลับไทย ระบุ มาเครื่องบิน ยังไม่แน่ลงดอนเมือง หรือสุวรรณภูมิ พร้อมวาง 6 เส้นทางหลัก-รอง จากสนามบิน-บช.ปส.-ศาลฎีกา ก่อนส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เผยราชทัณฑ์เตรียมอายัดตัวรับโทษจำคุก 10 ปี จาก 3 คดี ที่ยังไม่หมดอายุความ
วันนี้ (12 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับสำเนาเอกสารฉบับหนึ่ง ระบุว่า เป็นกำหนดการประชุมเตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ในวันพุธที่ 12 ก.ค. 66 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมปารุสกวัน 1 อาคาร บช.น. (กองบัญชาการตำรวจนครบาล)
โดยในเอกสารดังกล่าวได้ระบุระเบียบวาระการประชุมที่ 2 เป็นการรับทราบสถานการณ์การข่าวและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์และภัยคุกคาม (บช.ส.1) (กองบัญชาการตำรวจสันติบาล) รวมไปถึงขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมาย กรณีมีผู้ต้องหาตามหมายจำคุกเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยเครื่องบินโดยสาร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง หรือสุวรรณภูมิ
ในระเบียบวาระการประชุมที่ 3 เป็นเรื่องพิจารณา ประกอบด้วย 3.1 การพิจารณากำหนดเส้นทางการเดินทาง (บก.จร.) (กองบังคับการตำรวจจราจร) รวม 6 เส้นทาง ได้แก่ 3.1.1 เส้นทาง (หลัก และรอง) จากสนามบินสุวรรณภูมิ มายังศาลฎีกา (สนามหลวง), 3.1.2 เส้นทาง (หลัก และรอง) ในการเดินทางจากสนามบินดอนเมือง มายังศาลฎีกา (สนามหลวง), 3.1.3 เส้นทาง (หลัก และรอง) ในการเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ มายัง บช.ปส. (กองบัญชาการตํารวจปราบปรามยาเสพติด) (สถานที่ควบคุมพิเศษ), 3.1.4 เส้นทาง (หลัก และรอง) ในการเดินทางจากสนามบินดอนเมือง มายัง บช.ปส. (สถานที่ควบคุมพิเศษ), 3.1.5 เส้นทาง (หลัก และรอง) จาก บช.ปส. มายังศาลฎีกา (สนามหลวง) และ 3.1.6 เส้นทาง (หลัก และรอง) จากศาลฎีกา (สนามหลวง) มายังเรือนจำพิเศษ กทม.
ในหัวข้อ 3.2 เป็นการพิจารณาแนวทางการวางกำลังรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกการจราจร (พื้นที่ที่เกี่ยวข้อง) แบ่งเป็น 3.2.1 เส้นทางการเดินทาง ตามข้อ 3.1.1-3.1.6 และ 3.2.2 การบริหารจัดการพื้นที่ และการวางกำลังรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจร ในแต่ละสถานที่ (สนามบินสุวรรณภูมิ, สนามบินดอนเมือง, บช.ปส. และ ศาลฎีกา)
ส่วนหัวข้อ 3.3 เป็นการพิจารณาแนวทางการจัดรูปแบบขบวนรถในการรักษาความปลอตภัย (บก.จร. และ บก.สปพ. (กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ หรือ 191))
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามผู้เกี่ยวข้องในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ บช.น.พบว่า ไม่มีผู้ใดยอมรับ หรือปฏิเสธเกี่ยวกับการประชุมดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การประชุมเตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญของ บช.น.ที่ระบุในระเบียบวาระที่ 2 ถึงขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมาย กรณีมีผู้ต้องหาตามหมายจำคุกเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยเครื่องบินโดยสาร สอดคล้องกับคำประกาศของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า จะกลับประเทศไทยภายในเดือน ก.ค. 66
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเอกสารมีการระบุถึง บช.ปส.เป็นสถานที่ควบคุมพิเศษ ซึ่งตรงกับกระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้กำหนดใช้ บช.ปส.ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับสโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดีรังสิต ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยใช้ควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมจากเหตุชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง เป็นสถานที่ควบคุมตัว นายทักษิณ เป็นการชั่วคราวในระหว่างเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก่อนนำตัวไปคุมขังที่ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตามโทษในคดีที่ศาลตัดสินเป็นที่สุดแล้ว
สำหรับ นายทักษิณ ได้ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้วจำนวน 4 คดี โทษจำคุกรวม 12 ปี แต่จำนวนนี้มี 1 คดีที่ขาดอายุความไปแล้ว ส่งผลให้เหลือโทษจำคุกรวม 10 ปี ประกอบด้วย 1. คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 2 ปี (คดีขาดอายุความแล้ว) 2. คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว หรือ “คดีหวยบนดิน” ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา 3. คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) อนุมัติปล่อยเงินกู้ 4 พันล้านบาทให้แก่รัฐบาลเมียนมา ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา และ 4. คดีให้นอมินีถือหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า หาก นายทักษิณ เดินทางกลับประเทศไทย จะกลับมาในฐานะ “นักโทษชายทักษิณ” โดยจะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปรอรับเพื่ออายัดตัวตั้งแต่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งตามปกติจะถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำทันที แต่เป็นที่สังเกตว่า ทางตำรวจมีการวางเส้นทางไปยังศาลฎีกา และ บช.ปส.ก่อนที่จะนำตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งคาดว่าจะมีขั้นตอนในส่วนของกระบวนการยุติธรรมก่อนนำตัวไปคุมขัง ทั้งนี้ เคยมีกระแสข่าวว่า นายทักษิณ อาจได้อานิสงส์จากระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2566 ที่มีเนื้อหาบางส่วนว่าด้วยกักกันตัวในสถานที่อื่น นอกจากเรือนจำ ซึ่งเพิ่งมีการประกาศใช้ แต่ผู้เกี่ยวข้องได้ออกมายืนยันแล้วว่า นายทักษิณ ไม่เข้าเกณฑ์กักกันดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายทักษิณ พร้อมด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ น้องสาว ได้เดินทางมาที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อตรวจสุขภาพตามที่แพทย์นัดหมาย โดยครอบครัวของ 2 บุตรสาว ทั้ง น.ส.พินทองทา คุณากรวงศ์ หรือ เอม และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊งค์ ได้พาหลานๆ ของนายทักษิณ เดินทางไปพบด้วย ซึ่งเป็นที่จับตามองเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นช่วงก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค. 66