xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาไม่เลื่อน ตัดสินจำคุก "ธาริต" 2 ปีไม่รอลงอาญา แจ้งข้อหากลั่นแกล้ง "อภิสิทธิ์-สุเทพ"คดีสั่งสลายม็อบ นปช.ปี 53 เอาใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก "ธาริต เพ็งดิษฐ์" 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา แจ้งข้อหากลั่นแกล้ง "อภิสิทธิ์-สุเทพ" คดีสั่งสลายม็อบ นปช.ปี 2553 ชี้เจตนากลั่นแกล้งชัดเจน สนองรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ส่วนลูกน้อง 3 คน ยกประโยชน์ความสงสัย กระทำไปตามคำสั่ง

เมื่อเวลา 17.30 น..วันนี้ (10 ก.ค.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 10 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง กรณีนายธาริตกับพวกแจ้งข้อหาดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชน ในการสลายม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ลงโทษพวกจำเลยด้วย ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับให้จำคุกจำเลยคนละ 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา จำเลยทั้งสี่ยื่นฎีกา ต่อมาวันที่ 24 มี.ค. 66 นายธาริต ได้ถอนคำให้การเดิมจากที่ให้การปฏิเสธ เป็นรับสารภาพ ไม่ต่อสู้คดี

โดยเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายธาริต ไม่ได้มาศาลเพื่อฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกาตามนัด มีเพียงทนายความมาแสดงใบรับรองแพทย์จาก รพ.พญาไท 2 ว่า นายธาริต มีอาการป่วยบ้านหมุน ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ จึงขอเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อน ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นควรส่งใบรับรองแพทย์ ของนายธาริต ให้ศาลฎีกาพิจารณา

ในวันเดียวกัน ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ใบรับรองแพทย์แต่ละครั้งของนายธาริต จำเลยที่ 1 มีลายเซ็นแพทย์ผู้ตรวจ ไม่เหมือนกัน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า

ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้ศาลอาญาไต่สวนแพทย์หญิง จาก รพ.พญาไท 2 ซึ่งเป็นผู้ออกใบรับรองแพทย์ และการรักษาอาการป่วยของนายธาริต ว่า มีอาการเจ็บป่วยจนไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ตามกำหนดนัดว่า ข้อเท็จจริงถูกต้องหรือไม่ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา แล้วส่งผลการไต่สวนให้ศาลฎีกาพิจารณาในช่วงเช้า แต่ศาลอาญาให้เลื่อนมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในช่วงบ่ายวันนี้

กระทั่งต่อมาเวลา 17.30 น. ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำร้องที่นายธาริต จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลฎีการวม 5 ฉบับ รวมทั้งคำร้องขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษา แต่ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องทั้งหมด

สำหรับรายงานที่ศาลฎีกาให้ไต่สวนใบรับรองแพทย์ รพ.พญาไท 2 ออกใบรับรองแพทย์และการรักษาอาการป่วยของนายธาริต  จำเลยที่ 1 ว่ามีอาการเจ็บป่วยถึงขนาดไม่สามารถเดินทางมาศาลได้นั้น ปรากฎว่ายังไม่ได้ความแน่ชัดว่าใบรับรองแพทย์ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น เป็นลายเซ็นของแพทย์หญิงอยุทธินี สิงหโกวินท์ รพ.พญาไท 2 จริงหรือไม่ ดังนั้นจึงให้ศาลอาญาดำเนินการไต่สวนอีกครั้ง ให้ได้ความชัดเจนว่าเป็นลายเซ็นของแพทย์หญิงจริงหรือไม่ แล้วส่งให้ศาลฎีกาโดยเร็ว

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ
ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา พิเคราะห์พยานหลักฐานมีข้อที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสี่ กระทำผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ เห็นว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยจำเลยที่1 ทราบอยู่แล้วว่า ตนเองและหน่วยงานไม่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนบุคคลทั้ง 2 ที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ที่มีอำนาจหน้าที่สรุปสำนวนเรื่องให้อัยการสูงสุด เพื่อฟ้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเป็นข้อพิรุธ

และในที่ประชุมเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2555 จำเลยที่1 ได้แสดงความคิดเห็นชี้นำให้พนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนหาหลักฐาน และรวบรัดเชิญโจทก์ทั้งสองมารับทราบข้อกล่าวหา

อีกทั้งในขณะนั้นเป็นช่วงรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นน้องสาวของนายทักษิณ ชินวัตรซึ่งอยู่ขั้วตรงข้ามทางการเมืองกับโจทก์ทั้งสอง ฟังได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งให้โจทก์ทั้งสองได้รับโทษทางอาญา เพื่อสนองความต้องต้องการของรัฐบาลใหม่

หลังจากนั้นนายธาริตได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอีก 1 ปี

พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัย ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลอุธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องจริง

มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2-4 กระทำผิดตามฟ้องด้วยหรือไม่ เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่1 และ 2 ยังไม่แน่ชัดและไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2-4 ได้รับประโยชน์อย่างไรจากการแจ้งข้อกล่าวหาต่อโจทก์ทั้งสอง แต่ที่ทำสำนวนมาจากการรับคดีและการชี้นำของจำเลยที่1 ซึ่งจำเลยที่2-4 อาจทำคดีโดยสุจริต ยังมีข้อสงสัยในข้อกล่าวหาในคำฟ้อง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2-4

การลงโทษตามที่ศาลอุธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ให้จำคุกจำเลยที่1 ตามคำพิพากษาศาลอุธรณ์ จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 2-4 พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างฟังคำพิพากษานายธาริต มีสีหน้าเรียบเฉย แต่ค่อนข้างเคร่งเครีด

ต่อมาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้มาควบคุมตัวนายธาริต เพื่อนำตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตามคำพิพากษาศาลฎีกา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมา นายธาริตได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอคัดค้านองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่ได้พิจารณาในคดีนี้ ขอให้ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาเนื่องจากได้มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความประมวลกฎหมายมาตรา 157 และ ม.200 ที่ถูกยื่นฟ้องว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งการขอเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา และ ขอเปลี่ยนคำให้การจากที่ให้การรับสารภาพ ขอกลับคำให้การเป็นปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาเหมือนเดิม

ด้านนายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ว่า การตัดสินของศาลในวันนี้ ถือว่าเป็นการสิ้นสุดการรอคอยร่วม 2 ปี โดยส่วนตัวไม่ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ถือว่าเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม แม้ว่าที่ผ่านมาศาลฎีกาจะนัดมาคำพิพากษาตั้งแต่ปี 2563 แต่ก็พบว่านายธาริต มีความพยายามประวิงเวลามาโดยตลอด จนกระทั่งมาถึงวันนี้ยังยื่นคำร้องอีกหลายฉบับทำให้การอ่านคำพิพากษาล่าช้าออกไป จากที่จะต้องอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จตั้งแต่ช่วงเช้า ซึ่งจะเห็นว่าคำร้องทุกคำร้องศาลฎีกาได้ยกทั้งหมด แต่ศาลก็ต้องอ่านคำชี้แจงถึงการพิจารณาคำร้องเพื่อให้นายธาริตและทนายความได้เข้าใจ

ส่วนประเด็นที่ผลคำพิพากษาออกมาในลักษณะแบบนี้ เพราะศาลเห็นว่านายธาริตมีความพยายามที่จะชี้นำพนักงานสอบสวน เนื่องจากตรวจสอบพบว่าการทำสำนวนในครั้งแรก ชี้นำพนักงานสอบสวนว่ากลุ่มผู้ชุมนุมใช้อาวุธ แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลกลับเปลี่ยนสำนวนไปดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ที่อยู่ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. ว่ามีคำสั่งให้ทหารใช้อาวุธและความรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลเห็นว่ามีเจตนากลั่นแกล้ง ซึ่งศาลเห็นว่านี่คือพฤติกรรมการกลั่นแกล้ง ส่วนจำเลยที่ 2-4 ศาลยกฟ้อง เนื่องจากมองว่า อาจจะมีส่วนร่วมกระทำความผิด เนื่องจากถูกผู้บังคับบัญชาชี้นำ จึงยกประโยชน์ให้กับจำเลยทั้ง 3 คน

นายสวัสดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยออกมาตอบโต้ตั้งแต่กระบวนการในขั้นแรก ที่ศาลขั้นต้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับมาให้ลงโทษจำเลยทั้งหมดจำคุก 2 ปี จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาสั่งให้ลงโทษนายธาริตคนเดียวจำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา ซึ่งตนเองก็เคารพกระบวนการยุติธรรม เพราะหากไม่คารพกระบวนการยุติธรรมก็จะทำให้บ้านเมืองเสียหาย ซึ่งการดำเนินคดีดังกล่าวมาครบทุกศาลแล้ว ถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น