“ธาริต” อดีตอธิบดีดีเอสไอ แถลงขอศาลเลื่อนฟังพิพากษาฎีกาคดีกลั่นแกล้ง “อภิสิทธิ์-สุเทพ” อีกรอบ อ้างต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยความผิดในมาตรา 157 และ มาตรา 200 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมกับถอนคำให้การจากรับสารภาพเป็นปฏิเสธ ศาลนัดฟังคำสั่งบ่ายนี้
เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (10 ก.ค.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 10 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง กรณีนายธาริตกับพวกแจ้งข้อหาดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชน ในการสลายม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ลงโทษพวกจำเลยด้วย ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับให้จำคุกจำเลยคนละ 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา จำเลยทั้งสี่ยื่นฎีกา ต่อมาวันที่ 24 มี.ค. 66 นายธาริต ได้ถอนคำให้การเดิมจากที่ให้การปฏิเสธ เป็นรับสารภาพ ไม่ต่อสู้คดี
โดยเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายธาริต ไม่ได้มาศาลเพื่อฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกาตามนัด มีเพียงทนายความมาแสดงใบรับรองแพทย์จาก รพ.พญาไท 2 ว่า นายธาริต มีอาการป่วยบ้านหมุน ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ จึงขอเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อน ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นควรส่งใบรับรองแพทย์ ของนายธาริต ให้ศาลฎีกาพิจารณา
ในวันเดียวกัน ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ใบรับรองแพทย์แต่ละครั้งของนายธาริต จำเลยที่ 1 มีลายเซ็นแพทย์ผู้ตรวจ ไม่เหมือนกัน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า
ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้ศาลอาญาไต่สวนแพทย์หญิง จาก รพ.พญาไท 2 ซึ่งเป็นผู้ออกใบรับรองแพทย์ และการรักษาอาการป่วยของนายธาริต ว่า มีอาการเจ็บป่วยจนไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ตามกำหนดนัดว่า ข้อเท็จจริงถูกต้องหรือไม่ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา แล้วส่งผลการไต่สวนให้ศาลฎีกาพิจารณา และเลื่อนนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 10 ก.ค. นี้ เวลา 09.00 น.
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ขอเลื่อนคดี เนื่องจากต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน ม.157 และมาตรา 200 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากนั้นมีการยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิม จากรับสารภาพเป็นปฏิเสธ ศาลจึงส่งคำร้องทั้งหมดให้ศาลฎีกาวินิจฉัย และขอให้มาฟังคำสั่งในเวลา 14.30 น.
ด้าน นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความนายสุเทพ เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าที่ผ่านมา นายธาริต ได้ยื่นคำร้องต่อศาล 3 ฉบับ คือ ขอคัดค้านองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่ได้พิจารณาในคดีนี้ ฉบับที่ 2 ขอให้ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษา เนื่องจากการยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความประมวลกฎหมายมาตรา 157 และ ม.200 ที่ถูกยื่นฟ้องว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งการขอเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา และฉบับที่ 3 ขอเปลี่ยนคำให้การเดิม จากเดิมที่ให้การรับสารภาพ ขอกลับคำให้การเป็นปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาเหมือนเดิม
ซึ่งศาลอาญาได้รับคำร้องของจำเลยไว้แล้ว และต้องส่งให้ศาลฎีกาพิจารณาคำร้องของจำเลยอีกครั้งว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร และนัดหมายให้มาฟังคำสั่งของศาลฎีกาที่จะส่งมาให้ศาลอาญาอ่านให้จำเลยฟังในเวลา 14.30 น. พร้อมกำชับ ให้จำเลยมาฟังคำพิพากษา ให้ครบทุกคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าวันนี้นายธาริตเดินทางมาศาลอาญาตั้งแต่เวลา 08.50 น.พร้อมทำเอกสารเเจกสื่อมวลชนที่รอทำข่าวอยู่หน้าศาลอาญา ความว่า
คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ศาลอาญาได้นัดอ่านในเช้าวันนี้ จะมีผลสำคัญอย่างใหญ่หลวงมาก ดังที่ข้าพเจ้าได้แถลงข่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 เพราะหากจะพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้วจะมีผลสำคัญมาก 3 ประการ คือ
1. จะเป็นการรับรองยืนยันหรือการันตีว่า นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้สั่งการให้ทหารใช้อาวุธปืนสงครามเอ็ม 16 ไปยิงทำร้ายประชาชนโดยชอบแล้วทุกประการ
2. ผู้ตาย 99 ศพ ผู้บาดเจ็บ 2,000 กว่าคน และญาติผู้ตายจะไม่มีโอกาสได้รับความยุติธรรมและชดใช้ความเสียหายอีกเลย เพราะผลจากคำพิพากษาเช่นนั้นเท่ากับพิพากษาว่าเขาเป็นผู้สมควรตายและ
3. นายธาริต กับพวกพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รักษากฎหมายจะกลายเป็นผู้ผิดต้องรับโทษจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องใช้สิทธิตามกฎหมายในการแสวงหาความยุติธรรมให้กับ 99 ศพ และตัวข้าพเจ้าเองกับพนักงานสอบสวนที่ถูกฟ้องอย่างถึงที่สุด
บัดนี้ข้าพเจ้าได้รับทราบข้อมูลมาเป็นที่น่าเชื่อว่า ในการทำคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งยังไม่ได้อ่านคำพิพากษาและยังมีข้อโต้แย้งจากจำเลยคือข้าพเจ้าและญาติผู้ตายอยู่นั้น
มีผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนหนึ่งรวมถึงอดีตประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นองค์คณะและหรือเกี่ยวข้องเกี่ยวพันในการทำคำพิพากษามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม กปปส. ซึ่งมี นายสุเทพ โจทก์ที่ 2 ในคดีนี้เป็นหัวหน้าหรือประธานกลุ่ม กปปส. โดยเป็นฝักใฝ่และเป็นฝ่ายเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ นายสุเทพ ฯ กับพวก กปปส. ก็ได้ยื่นฟ้องข้าพเจ้าต่อศาลอาญาคดีทุจริตกลางเป็นอีกคดีหนึ่งว่าที่ข้าพเจ้าดำเนินคดีกับนายสุเทพ ฯ และกลุ่ม กปปส. จนศาลอาญาลงโทษจำคุกไปมากว่า 10 คนนั้น เป็นเพราะถูกข้าพเจ้ากลั่นแกล้ง จึงน่าเชื่อว่าการทำคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้จะไม่เป็นไปโดยถูกต้องและไม่เป็นธรรม
ฉะนั้น เมื่อเวลา 08.30 น. ของวันนี้ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาโต้แย้งคำคัดค้านองค์คณะและผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นอดีตประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกจำนวนหนึ่งที่ได้ร่วมกันทำคำพิพากษาโดยขอให้ศาลอาญาส่งคำร้องนี้ไปยังศาลฎีกา เพื่อให้มีกระบวนการโดยรวมถึงประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน นำเอาการพิจารณาทำคำพิพากษาคดีนี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา และไม่ว่าผลของคำพิพากษาศาลฎีกาที่จะได้พิพากษาโดยที่ประชุมใหญ่จะออกมาเป็นอย่างใด ข้าพเจ้าพร้อมจะยอมรับว่าได้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ตาย 99 ศพ และบาดเจ็บ 2,000 คน รวมถึง นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และข้าพเจ้าอย่างแท้จริง
และจากการที่ข้าพเจ้าได้ยื่นคำร้องคัดค้านผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ได้ทำคพิพากษาดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นคำร้องอีก 1 ฉบับ ขอให้บรรดาคำร้องที่สำคัญที่ได้มีการยื่นไว้ในคดีนี้คือคำร้องของญาติผู้ตายขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 และคำร้องที่ข้าพเจ้าขอให้ศาลฎีกาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า มาตรา 157 และมาตรา 200 แห่ง ป.อาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับลงโทษในคดีนี้ไม่ได้นั้น ข้าพเจ้าร้องคัดค้านและโต้แย้งว่ากลุ่มผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้นจะพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าวทุกฉบับไม่ได้ โดยข้าพเจ้าร้องขอให้ผู้ที่จะมีอำนาจหน้าที่พิจารณาและสั่งคำร้องทุกฉบับคือที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเช่นกัน
การยื่นคำร้องคัดค้านโต้แย้งองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตประธานศาลฎีกา และผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวมานี้เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 3818/2533 วางบรรทัดฐานรับรองและคุ้มครองสิทธิให้กระทำได้ และไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล
ข้าพเจ้าเชื่อมั่นในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมขององค์กรศาลยุติธรรมในภาพรวมและเชื่อว่าศาลอาญาจะได้ส่งคำร้องขอทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวที่ข้าพเจ้าได้ยื่นในเช้านี้ไปยังศาลฎีกาและทางศาลฎีกาจะได้มีกระบวนการพิจารณาคำร้องขอของข้าพเจ้าอย่างเป็นธรรม โดยท่านประธานศาลฎีกาท่านปัจจุบันจะได้เห็นชอบให้ การทำคำพิพากษาและการพิจารณาสั่งคำร้องทุกเรื่องได้เข้าสู่การพิจารณาและจัดทำโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต่อไป
นายธาริต กล่าวว่า ส่วนที่ นายราเมศ รัตนเชวง และ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ออกมาดิสเครดิตตนว่าดำเนินคดีกับ นปช.ว่าผิด แล้วจะดำเนินคดีกับ นายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ ได้อย่างไรนั้น เรื่องนี้ได้ชี้แจงแล้วว่า คดีนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน กรณีของ นปช.ที่เข้าไปในเรดโซนมีความผิดก็ถูกดำเนินคดี ส่วนคนที่ใช้อำนาจ ศอฉ. สั่งให้เอาอาวุธไปยิงประชาชนในเรดโซนก็ต้องถูกดำเนินคดีเช่นกัน