เชียงราย - NGO ชี้เด็กต่างด้าวโผล่เข้าเรียนโรงเรียนฯ อ่างทอง 100 กว่าคนแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง ระบุยังมีเด็กไม่มีสัญชาติไทยตาม ร.ร.ต่างๆ อีกกว่า 80,000 คน จ่อทะลักเข้ามาเพิ่มอีกหลายพัน เผย “บิ๊กโจ๊ก” นำถกแทนส่งกลับแก้ปัญหาถูกทาง สกัดวงจรอาชญากรรมย้อนกลับไทย
กรณีเด็กนักเรียนต่างด้าวที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ที่จำเป็นต้องออกจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เพราะไม่มีหลักฐานการอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 126 คน ได้ถูกส่งกลับภูมิลำเนาในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ผ่านทางจุดผ่านแดนถาวร อ.แม่สาย จ.เชียงราย-จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมาแล้วจำนวน 59 ราย
และยังคงหลืออยู่ในประเทศไทยอีก 67 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้กระจายให้ไปพักอยู่ตามบ้านพักเด็กทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 5 แห่ง เพื่อรอการประสานกับพ่อแม่ผู้ปกครองในฝั่งเมียนมาให้มารับกลับ
ล่าสุด พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศพดส.ตร.) ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ฯลฯ
โดยที่ประชุมลงความเห็นว่ากลุ่มเด็กที่ประสานผู้ปกครองมารับกลับเมียนมาไม่ได้ ก็มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายหาผู้ดูแลเด็ก รวมถึงการจัดหาสถานที่ให้การศึกษาหรือโรงเรียนแก่เด็กๆ ทั้งที่กลับภูมิลำเนาไปแล้วและอยากกลับมาเรียนและที่ยังไม่ได้กลับอีกด้วย
ล่าสุดตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยแจ้งว่ามีกองทุนที่จะสนับสนุนองค์กรที่จะให้การช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ด้วย ซึ่งรอง ผบ.ตร.ได้แจ้งให้หน่วยงานต่างๆ ได้ประสานงานเพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในวันศุกร์ที่ 14 ก.ค.นี้
ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือครูแดง นักพัฒนาสังคม กล่าวว่า เป็นภาพที่ดีมากที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวง พม. กระทรวงศึกษาฯ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาครัฐและองค์กรเอกชน เข้ามาช่วยเด็กๆ ในครั้งนี้ ทำให้เด็กได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิทางการศึกษาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ โดยมีการประสานกับทางการเมียนมากรณีเด็กที่กลับไปแล้วสามารถทำเรื่องกลับมาศึกษาในประเทศไทยได้ ส่วนกลุ่มที่ยังไม่กลับก็มีความพยายามติดต่อกับผู้ปกครองเพื่อให้เข้าเรียนในโรงเรียนที่เหมาะสมตามแนวชายแดน
อย่างไรก็ตาม เด็กจำนวน 126 คนนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยหรือยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะยังคงมีเด็กกลุ่ม G (เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่เรียนในไทย) อยู่อีกกว่า 80,000 คน ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ควรจัดการศึกษาให้เด็กที่อยู่ภาวะเหตุการณ์ไม่สงบ (Emergency Education) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการคุ้มครองสิทธิเด็กอย่างสร้างสรรค์และก้าวข้ามข้อจำกัดทางกฎหมาย เช่น กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดมาก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และอนุสัญญาในการคุ้มครองเด็กต่อไป
น.ส.นุชนารถ บุญคง ผู้จัดการมูลนิธิบ้านครูน้ำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย หนึ่งในสถานที่ที่ดูแลเด็กกลุ่มนี้จำนวน 18 คน กล่าวว่ามูลนิธิฯ ให้การช่วยเหลือรับเด็กตามชายขอบที่เร่ร่อน ถูกล่วงละเมิด มีความเสี่ยง ฯลฯ เข้ามาดูแลตั้งแต่ปี 2544 ทำให้ทราบว่าในอดีตปัญหานี้มีน้อย แต่หลังมีเหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมาเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้โรงเรียนเฉพาะใน จ.ท่าขี้เหล็ก อย่างน้อย 5 แห่งถูกปิด เด็กนักเรียนกว่า 3,000 คน ไม่มีที่เรียนจึงทะลักเข้ามายังฝั่งไทย
“ลำพังมูลนิธิฯ ก็มีเด็กอยู่ในความดูแลถึง 80 คน และมีอยู่ 30 คนเป็นกลุ่มยอมเสี่ยงข้ามแดนไปมา ทำให้มูลนิธิฯ ได้ตั้งสถานที่แวะหรือ Drop in เพื่อรองรับ มีการสอนหนังสือ ส่งไปเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ซึ่งช่วงหลังมักไม่ค่อยรับเพราะปัญหาเรื่องข้อกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง การร่วมกับวัดเพื่อศึกษาธรรมะและได้มีข้าวกิน ฯลฯ
เพราะไม่เช่นนั้นเด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะถูกชักนำให้ไปทำงานด้านอาชญากรรมในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกำลังมีธุรกิจด้านความบันเทิงและอื่นๆ เติบโตขึ้น หรือเข้าไปร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ค้ายาเสพติด ทำงานในสถานบันเทิงที่ล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ เนื่องจากสภาพของสังคมในประเทศเพื่อนบ้านแตกต่างจากประเทศไทย และจากนั้นปัญหาก็จะวนกลับมาส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอีก ดังนั้นการไม่ส่งตัวเด็กกลับไปทันทีและร่วมกันหาวิธีแก้ปัญหาก่อนจึงเป็นเรื่องที่ดีมาก