xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนไทม์ไลน์ 9 ครั้ง ธาริตไม่มาศาลคดีอภิสิทธิ์-สุเทพ ก่อนเจอคุก 2 ปี เข้าเรือนจำรอบสอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่ใช่ครั้งแรกที่ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอเข้าเรือนจำ กรณีชี้นำแจ้งข้อหาอภิสิทธิ์-สุเทพสลายม็อบ นปช.มิชอบ พบที่ผ่านมาไม่มาศาล 9 ครั้ง แต่ละครั้งขอเลื่อนคดีสารพัดข้ออ้าง ทั้งป่วยโควิด ชักเกร็ง และสารพัดโรค จนศาลเอะใจใบรับรองแพทย์ แต่ล่าสุดพยายามดึงเรื่องขอเปลี่ยนผู้พิพากษาแต่ตีตก ย้อนรอยเคยเข้าเรือนจำเมื่อปี 61 ไปหมิ่นประมาทสุเทพกรณีก่อสร้างโรงพักทดแทน ก่อนติดคุกดึงเกมสารพัด

รายงาน

ในที่สุดเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และกลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา กรณีร่วมกับพวกรวม 4 คน แจ้งข้อหาดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ขณะนั้น กล่าวหาว่าสั่งสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ปี 2553 ซึ่งสื่อมวลชนบางสำนักใช้คำว่าสั่งฆ่าประชาชน

โดยศาลเห็นว่านายธาริตทราบอยู่แล้วว่าตนเองและดีเอสไอไม่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนบุคคลทั้ง 2 ที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ที่มีอำนาจหน้าที่สรุปสำนวนเรื่องให้อัยการสูงสุด เพื่อฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นข้อพิรุธ อีกทั้งนายธาริตได้แสดงความคิดเห็นชี้นำให้พนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนหาหลักฐาน และรวบรัดเชิญโจทก์นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพมารับทราบข้อกล่าวหา

อีกทั้งในขณะนั้นเป็นช่วงรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นน้องสาวของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ขั้วตรงข้ามทางการเมืองกัน ฟังได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งให้โจทก์ทั้งสองได้รับโทษทางอาญา เพื่อสนองความต้องการของรัฐบาลใหม่ หลังจากนั้นนายธาริตได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอีก 1 ปี ส่วนจำเลยที่เหลืออีก 3 คน พยานหลักฐานยังไม่แน่ชัด แต่ที่ทำสำนวนมาจากการรับคดีและการชี้นำของนายธาริต จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่เหลือ หลังการอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เดินมาควบคุมตัวนายธาริต เพื่อนำตัวไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

คดีนี้ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ มอบอำนาจให้นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริตและพวก รวม 4 คน เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2556 ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณาในสารบบคดีหมายเลขดำ อ.310/2556 ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2561 โดยเห็นว่าพยานที่โจทก์ที่นำสืบมานั้นไม่เห็นว่าจำเลยจงใจกลั่นแกล้งในการแจ้งข้อกล่าวหา

แต่เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2563 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำคุกจำเลยและพวกคนละ 3 ปี เนื่องจากพฤติการณ์ฟังได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อเอาใจรัฐบาล มีผลในการต่ออายุตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา จำเลยทั้งสี่ยื่นฎีกา


กระทั่งวันที่ 16 ธ.ค. 2564 ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา แต่พบว่านายธาริตไม่มาศาล 9 ครั้งในรอบ 2 ปี

ครั้งที่ 1 วันที่ 16 ธ.ค. 2564 นายธาริตไม่มาศาล นายประกันของนายธาริตอ้างว่า นายธาริตย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ไม่สามารถนำตัวมาส่งศาลได้

ครั้งที่ 2 วันที่ 10 ก.พ. 2565 นายธาริตไม่มาศาล อ้างว่าป่วย เกิดอาการชักเกร็ง แขนขาข้างซ้ายอ่อนแรง รักษาตัวที่โรงพยาบาลพญาไท 2

ครั้งที่ 3 วันที่ 21 เม.ย. 2565 นายธาริตไม่มาศาล อ้างว่าป่วยด้วยโรคโควิด-19 ขอพักรักษาตัว 3 เดือน

ครั้งที่ 4 วันที่ 22 มิ.ย. 2565 นายธาริตไม่มาศาล โดยศาลได้รับแจ้งว่าไม่สามารถส่งหมายแจ้งวันนัดให้นายธาริตได้ เนื่องจากมีการย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่

ครั้งที่ 5 วันที่ 7 ก.ย. 2565 นายธาริตไม่มาศาล อ้างว่าป่วยด้วยโรคโควิด-19 รอบใหม่ รักษาตัวที่โรงพยาบาลพญาไท 2

ครั้งที่ 6 วันที่ 9 ธ.ค. 2565 นายธาริตไม่มาศาล อ้างว่าป่วยเป็นโรคนิ่วในไต ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ด้วยการผ่าตัด

ครั้งที่ 7 วันที่ 2 ก.พ. 2566 นายธาริตไม่มาศาล อ้างว่าป่วยด้วยโรคนิ่วในไต รักษาที่โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ แต่ครั้งนั้นศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าแพทย์ไม่ได้ลงความเห็นว่าจำเลยที่ 1 มีอาการเจ็บป่วยถึงขนาดที่ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุเจ็บป่วยมาแล้วหลายครั้งเป็นเวลากว่า 1 ปี น่าเชื่อว่าการที่จำเลยที่ 1 ไม่มาศาล เป็นการประวิงคดีให้ล่าช้า ตามพฤติการณ์จึงมีเหตุให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 หลบหนี จึงให้ออกหมายจับ

ครั้งที่ 8 วันที่ 24 มี.ค. 2566 นายธาริตไม่มาศาล แต่ทนายของนายธาริตได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 4 ที่ใช้บังคับคดี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทนายยังแจ้งว่า นายธาริตยังขอถอนคำให้การเดิม และขอให้การใหม่ เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ขอให้ศาลฎีกาพิจารณาลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ ขณะที่ทนายโจทก์แถลงค้าน ด้านศาลอาญาได้ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาพิจารณา โดยให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาอีกครั้ง

ครั้งที่ 9 วันที่ 16 มิ.ย. 2566 นายธาริตไม่มาศาล ทนายความและนายประกันของนายธาริตได้ยื่นคำร้อง 2 ฉบับต่อศาล ฉบับเเรกยื่นขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาออกไป โดยอ้างว่ามีอาการป่วยบ้านหมุนพร้อมใบรับรองเเพทย์ ส่วนคำร้องอีกฉบับ เป็นคำร้องเพิ่มเติมที่เคยให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปก่อนเเล้ว

แต่ศาลเห็นว่านายธาริตใช้อาการเจ็บป่วยเป็นคำร้องขอเลื่อนฟังคำพิพากษามาแล้วหลายครั้ง และหลายครั้งใช้ใบรับรองแพทย์จาก พญ.อยุทธินี สิงหโกวินท์ โรงพยาบาลพญาไท 2 แต่พบว่าลงลายมือชื่อแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน จึงให้ไต่สวนใบรับรองแพทย์และอาการป่วยว่าเจ็บป่วยจริง เเละไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ตามกำหนดนัดเป็นข้อเท็จจริงถูกต้องหรือไม่

ก่อนจะมาถึงครั้งที่ 10 นายธาริตเดินเกมด้วยการแถลงข่าวที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. นำญาติผู้เสียชีวิตคดีสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.มาด้วย โดยขอศาลฎีกาคืนความยุติธรรมให้ผู้ตาย 99 ศพ อ้างว่าเปิดเผยข้อมูลคดีดังกล่าวที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน พร้อมส่งคำร้องผ่านศาลอาญา ให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการฟ้องดำเนินคดีของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากเป็นข้อหาที่เหวี่ยงแหกระทบสิทธิเจ้าหน้าที่ของรัฐ

นายธาริตยังอ้างว่า มีความจำเป็นต้องเลื่อนฟังคำสั่งคดีของศาลฎีกาหลายครั้ง เพราะ 1. ส่งหมายศาลไม่ถึงภูมิลำเนาของจำเลย 2. มีอาการเจ็บป่วยเป็นโควิด-19 ถึง 2 ครั้ง ป่วยเป็นเส้นเลือดอุดตันและต้องผ่าตัดไตถึง 2 ข้าง 3. ญาติของผู้เสียชีวิตยื่นเรื่องขอเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ต้องรอให้ศาลฎีกาพิจารณา และ 4. กำลังยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าข้อกฎหมายที่ฟ้องนั้นมีความขัดแย้งหรือไม่ อยู่ระหว่างรอศาลฎีกามีคำสั่ง ยืนยันว่าเป็นไปโดยชอบของกฎหมายไม่มีเจตนาหลบเลี่ยง

ครั้งที่ 10 วันที่ 10 ก.ค. 2566 นายธาริตปรากฏตัวเป็นครั้งแรก พร้อมแจกเอกสารให้สื่อมวลชน อ้างว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาจะมีผลต่อคดีสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. จะไม่ได้รับความยุติธรรมและชดใช้ความเสียหาย ตนกับพวกพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รักษากฎหมายจะกลายเป็นผู้ผิด และอ้างว่ามีข้าราชการกลุ่มหนึ่งเกี่ยวข้องเกี่ยวพันในการทำคำพิพากษามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม กปปส. ซึ่งมีนายสุเทพเป็นแกนนำ จึงขอเปลี่ยนองค์คณะพิจารณาคดี และขอเปลี่ยนคำให้การจากรับสารภาพ เป็นปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาเหมือนเดิม แต่ปรากฏว่าศาลฎีกาได้ยกคำร้องทั้งหมด

นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ เปิดเผยว่า เป็นการสิ้นสุดการรอคอยร่วม 2 ปี ถือว่าเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม แม้ว่าที่ผ่านมาศาลจะนัดมาฟังคำพิพากษา แต่นายธาริตพยายามประวิงเวลาตลอด แม้กระทั่งยังยื่นคำร้องอีกหลายฉบับทำให้การอ่านคำพิพากษาล่าช้าออกไป จากที่แล้วเสร็จตั้งแต่ช่วงเช้า จะเห็นว่าคำร้องทุกคำร้องศาลได้ยกทั้งหมด แต่ศาลก็ต้องอ่านคำชี้แจงถึงการพิจารณาคำร้องเพื่อให้นายธาริตและทนายความได้เข้าใจ ที่ผ่านมาไม่เคยออกมาตอบโต้ตั้งแต่กระบวนการในขั้นแรก เคารพกระบวนการยุติธรรม การดำเนินคดีดังกล่าวมาครบทุกศาลแล้ว ถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว

นับเป็นครั้งที่สองที่นายธาริตต้องเข้าเรือนจำ หลังจากเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2561 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา กรณีที่นายสุเทพยื่นฟ้องฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2556 เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ 396 แห่ง ทำให้นายสุเทพได้รับความเสียหาย

คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง แต่นายสุเทพได้ขอฎีกา ศาลได้นัดอ่านฎีกาครั้งแรกในวันที่ 24 ต.ค. 2561 แต่นายธาริตไม่มาศาล อ้างว่าป่วยติดเชื้อในลำไส้ และมอบหมายทนายความยื่นคำร้องขอให้ส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปเป็นวันที่ 14 ธ.ค. 2561

กระทั่งวันที่ 7 ธ.ค. 2561 นายธาริตยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอถอนคำให้การเดิมและเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ พร้อมขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปก่อน 60 วัน อ้างว่าขอขมาต่อนายสุเทพแล้ว แต่ถ้าไม่อนุญาตก็ขอความกรุณาต่อศาลฎีกาลงโทษสถานเบาโดยรอการลงอาญา และส่งทนายความยื่นคำร้องพร้อมวางเงิน 1 แสนบาท เพื่อเยียวยาบรรเทาผลร้ายต่อโจทก์ แต่ภายหลังนายสุเทพยื่นคำร้องระบุว่า ที่นายธาริตประนีประนอมพร้อมขอขมาลาโทษไม่เป็นความจริง จึงขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาตามที่นัดไว้ตามเดิม

ศาลพิพาษาโดยสรุปว่า นายธาริตในฐานะพนักงานสืบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐานแล้วให้ศาลวินิจฉัย ไม่ใช่แถลงข่าวในสำนวนเพื่อชี้นำสังคม อีกทั้งกรณีการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ 396 แห่ง มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานส่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ควรให้สัมภาษณ์ถึงโจทก์ให้ถูกมองได้ว่าเป็นผู้มีส่วนกระทำผิด อันเป็นการหมิ่นประมาทให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ที่ศาลล่างพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยพิพากษากลับ ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี ส่วนที่ยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมและยื่นคำให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ไม่อาจทำได้ในชั้นฎีกา และที่อ้างว่ามีการไกล่เกลี่ยประนีประนอมสำเร็จ เป็นเหตุให้สิทธิดำเนินคดีอาญาระงับไป ศาลเห็นว่าอยู่ในขั้นตอนการเจรจา ต้องคำนึงถึงคู่ความ แต่นายสุเทพก์ไม่ประสงค์ไกล่เกลี่ย จึงไม่อาจระงับสิทธิดำเนินคดีอาญาได้ ให้ยกคำร้อง แล้ววางเงิน 1 แสนบาทคืน

นอกจากนี้ คดีความในช่วงที่ผ่านมา นายธาริตถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.สั่งอายัดทรัพย์กว่า 90 ล้านบาท เมื่อปี 2558 หลังพบว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ มีทรัพย์สินรวมกว่า 346 ล้านบาท แต่มีการถ่ายเททรัพย์สินบางส่วนไปยังบุคคลอื่น กระทั่งสำนักนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้นายธาริตออกจากราชการเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2560 หลังถูกคำสั่ง คสช. ย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และยังมีคดีย้าย พ.อ.ปิยะวัฒน์ กิ่งเกตุ โดยมิชอบ ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 2 ปี แต่ลดโทษเป็นให้รอลงอาญา 2 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น