xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” หน้าบาน ที่ประชุม รมว.ยุติธรรมอาเซียน ชมไทยปราบยาเสพติด ชี้ “ทักษิณ” ไม่เข้าข่ายคุมขังที่บ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วิษณุ” ปลื้ม ประชุม รมว.ยุติธรรมอาเซียน ไทยได้รับคำชมปราบยาเสพติด ระบุ “นโยบายเฮาส์อาร์เรสท์” กรมราชทัณฑ์ปฏิบัติอยู่แล้ว ชี้ “ทักษิณ” ไม่เข้าข่าย

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 11 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เมื่อวันที้ 6-7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรียุติธรรมอาเซียน 10 ประเทศ ซึ่งประชุมร่วมกับรัฐมนตรียุติธรรมของประเทศ G7 เป็นครั้งแรก รวมเป็น 17 ประเทศ มีการหารือหลายประเด็น ซึ่งในที่ประชุมแสดงความชื่นชมประเทศไทยอย่างชัดเจนสองเรื่อง ได้แก่ 1. การจัดการปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง โดยต่างประเทศมองว่าประเทศไทยใช้มาตรการต่างๆ อย่างได้ผล สามารถจับได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศออสเตรเลียได้มีหนังสือขอบคุณมายังประเทศไทย ที่สกัดกั้นไม่ให้หลุดไปประเทศเขาได้ 2. มีการกล่าวในที่ประชุมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชีย ที่ประกาศใช้หลักสิทธิมนุษยชนกับเศรษฐกิจและการธุรกิจ ซึ่งอยากขอให้ประเทศอื่นๆ ได้ปฏิบัติตาม เป็นการชื่นชมและแสดงความคิดเห็นว่า ยังมีจุดที่เราควรได้รับการติติงอีกข้อหนึ่ง คือเรามีปัญหาเรื่องนักโทษล้นคุกจำนวนมาก และหากเกิดโควิดมาอีกก็จะเกิดปัญหาแพร่ระบาด จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือดูแลเรื่องนี้ให้ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะแก้ปัญหาล้นคุกได้อย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า เราใช้วิธี เช่น การขออภัยโทษ ปล่อยนักโทษ และให้กฤษฎีกาหาวิธีอื่นในการลงโทษแทนการกักขังเพื่อไม่ให้ล้นคุก

เมื่อถามถึงความคืบหน้าของนโยบายเฮาส์อาร์เรสท์ (House Arrest) หรือการคุมตัวให้อยู่ในบ้านแทนการขังคุก นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้มีอยู่แล้ว และขณะนี้ยังไม่คิดว่าจะมีอะไรเพิ่มเติม ซึ่งมีสำหรับคนที่ต้องโทษจำคุก และอายุเกินเท่าไหร่ หรือเข้ารับโทษแล้วเท่าไหร่ก็ ก็อาจจะใช้เฮาส์อาร์เรสท์นี้ได้ ไม่ได้หมายความว่าปล่อยตัว เพียงแต่ไปอยู่ที่อื่นที่ควบคุมตัวเอาไว้ เพียงแค่ไม่ได้อยู่ในเรือนจำ ซึ่งใช้ได้กับความผิดบางประเภทเท่านั้น

เมื่อถามว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ในข่ายนี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ไม่อยู่ในข่าย” เมื่อถามอีกว่า คดีอะไรบ้างจึงจะอยู่ในข่าย นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นกฎกระทรวงยุติธรรม ที่ออกมาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเมื่อปี 2552 เพื่อให้คนที่อยู่ระหว่างการสอบสวน อยู่ระหว่างกลายเป็นผู้ต้องหา งั้นแสดงว่าไม่ใช่อยู่ในระหว่างเป็นนักโทษซึ่งศาลตัดสินแล้ว และอีกข้อหนึ่งคือคนที่ได้รับโทษจำคุกแล้ว และยังเหลือระยะเวลาอีกไม่มาก อีกข้อหนึ่งคือหญิงมีครรภ์ ที่ถูกศาลสั่งประหารชีวิต หรือแม้แต่นักโทษชายที่ศาลสั่งประหารชีวิตชีวิต แต่อยู่ระหว่างการเจ็บป่วย พวกเหล่านี้เข้าข่ายเฮาส์อาร์เรสท์ได้ ไม่ต้องอยู่ในเรือนจำ อย่างไรก็ตาม คนที่ชี้ว่าจะให้เข้าข่ายเฮาส์อาร์เรสท์ได้คือคณะกรรมการของกรมราชทัณฑ์ ไม่ต้องไปถึงศาลแล้ว เว้นแต่เปิดช่องว่าหากจะแก้กฎกระทรวง นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งทุกวันนี้เราใช้นโยบายเฮ้าส์อาร์เรสท์อยู่แล้ว ซึ่งก็มีหลายคนที่เข้าเงื่อนไข


กำลังโหลดความคิดเห็น