เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เมื่อวันอังคาร (4 ก.ค.) บอกกับบรรดานายกเทศมนตรี ว่ารัฐบาลของเขาจะพิจารณาควบคุมการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ทั่วประเทศ "ยามที่สิ่งต่างๆ หลุดจากการควบคุม" ความคิดเห็นของเขามีขึ้นหลังเกิดจลาจลต่อเนื่องนานหลายวัน ท่ามกลางการประท้วงแสดงความขุ่นเคืองต่อกรณีตำรวจยิงวัยรุ่นเชื้อสายแอฟริกาเหนือรายหนึ่งเสียชีวิตในย่านชานกรุงปารีส เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
"เราจำเป็นต้องคิดเกี่ยวกับการใช้เครือข่ายเหล่านี้ (สังคมออนไลน์) ของบรรดาเยาวชน" มาครง กล่าวกับกลุ่มนายกเทศมนตรีราว 250 คน จากเทศบาลต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรงเมื่อเร็วๆ นี้ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน อ้างอิงวิดีโอการประชุมที่เผยแพร่ผ่านทาง BFM TV สถานีโทรทัศน์ฝรั่งเศส "เมื่อสิ่งต่างๆ หลุดจากการควบคุมของเรา เราอาจจำเป็นต้องวางระเบียบควบคุมมันหรือตัดมันออก"
มาครงกล่าวต่อว่าเขาเชื่อว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องมีการถกเถียงกันอย่างจริงจังและทำให้มันมีความชัดเจน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาครงระบุว่า บรรดาบริษัทสื่อสังคมออนไลน์มี "บทบาทอย่างมาก" ในเหตุความไม่สงบทั่วประเทศ ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสรายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีในวันศุกร์ (30 มิ.ย.) ว่าข้อมูลส่วนบุคคลของตำรวจที่ก่อเหตุยิงวัยรุ่นวัย 17 ปี รั่วไหลบนสื่อสังคมออนไลน์
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ยังได้เรียกร้องเครือข่ายสังคมออนไลน์ทั้งหลายให้แสดงถึง "สำนึกความรับผิดชอบ" ต้องกลั่นกรองเนื้อหาบนแฟลตฟอร์มของพวกเขา และลบโพสต์ต่างๆ ที่อาจปลุกปั่นความรุนแรง
คณะรัฐมนตรีได้พบปะกับตัวแทนของ TikTok และ Snapchat ในวันศุกร์ (30 มิ.ย.) โดยรัฐมนตรียุติธรรมเสนอหลังจากนั้นให้กำหนดมาตรการทางกฎหมายลงโทษบรรดาผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ที่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดกฎหมายทั้งหลาย
อย่างไรก็ตาม พวกฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ชี้ว่าการระงับสื่อสังคมออนไลน์ใดๆ จะเป็นตัวแทนของการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก "ตัดสื่อสังคมออนไลน์? อย่างเช่นจีน อิหร่าน เกาหลีเหนือ นะหรือ?" โอลิเวอร์ มาร์เลซ์ จากพรรค Les Republicains กล่าว
ในวันพุธ (5 ก.ค.) เจ้าหน้าที่รายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม จากสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล ได้กลับลำคำกล่าวของมาครง โดยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าว Politico อ้างว่า "ท่านประธานาธิบดีเพียงพูดถึงความเป็นไปได้ในทางเทคนิค ไม่ได้บอกว่ามันกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ยังไม่มีอะไรที่ควรถูกตัดความเป็นไปได้ในทางหลักการ"
รัฐบาลของมาครง เผชิญเหตุจลาจลและปล้นสะดมอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่เกิดเหตุวัยรุ่นรายนี้เสียชีวิตระหว่างถูกตำรวจจราจรเรียกตรวจค้นรถเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน มันโหมกระพือความตึงเครียดเกี่ยวกับการเหยียดผิวและพฤติกรรมใช้ความรุนแรงโหดร้ายป่าเถื่อนเกินกว่าเหตุของตำรวจทั่วประเทศ
จากตัวเลขจนถึงวันอังคาร (4 ก.ค.) มีผู้ประท้วงถูกจับกุมไปแล้วราว 4,000 คน นับตั้งแต่วันศุกร์ (30 มิ.ย.) เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เวลานี้ดูเหมือนว่าสถานการณ์ความรุนแรงได้เบาลงแล้ว
(ที่มา : เดอะการ์เดียน/อาร์ทีนิวส์)